ชาวสวนยางภาคใต้ประชุมเตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.01.05
TH-rubber-620 ลูกจ้างเก็บยางก้นถ้วยหรือขี้ยาง ขึ้นรถเพื่อนำไปจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดยะลา วันที่ 22 ธันวาคม 2558
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคาร (5 ม.ค. 2559) นี้ ที่สถาบันเกษตรกรจังหวัดประจำภาคใต้ แกนนำชาวสวนยาง 17 จังหวัดภาคใต้ ร่วมประชุมวางแผนหาแนวทางการเคลื่อนไหวและข้อเตรียมข้อเสนอถึงรัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ โดยจะมีการนัดร่วมประชุมพร้อมกันในวันที่ 12 มกราคม 2559 อีกครั้ง ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหว

นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่ง กล่าวในวันนี้ว่า จะมีข้อเรียกร้องส่งไปยังรัฐบาล 6 ข้อ 1. เร่งหามาตรการหยุดการไหลของราคาไม่ให้ตกต่ำ 2. เรียกผู้ผลิตในกลุ่มอาเซียนมาหารือ เพราะเกษตรกรทุกประเทศขณะนี้เดือดร้อนหนัก 3. เร่งจ่ายเงินชดเชยไร่ละ 1,500 บาท ให้ทั่วถึง 4. ส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรให้แปรรูปยางให้มีมาตรฐาน เพราะหลายกลุ่มทำได้แต่ติดขัดที่การรับรองจากภาครัฐ 5. ให้เรียกประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2558 เนื่องจากตั้งแต่แต่งตั้งยังไม่มีการประชุม และ 6. ขอให้นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 ในการนำยางในสต็อก 300,000 ตัน มาทำถนน โดยส่งยางพาราทั้งหมดให้ อบจ. หรือท้องถิ่นทั่วประเทศนำไปผลิต เพราะหากรอให้ทางกรมทางหลวง นำยางไปผสม 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่มีการดำเนินการ เนื่องจากมีเรื่องของผลประโยชน์ของยางมะตอยกับเอกชน ทำให้ไม่มีการนำยางไปผลิตอย่างจริงจัง จึงไม่เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร และยางยังตกต่ำ ข้อเรียกร้องทั้งหมด ขอให้ทำอย่างเร่งด่วน

ราคาเคยดี

ราคายางไทยเคยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยราคา 174.44 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2554 แต่หลังจากนั้น มีแนวโน้มราคาลดลงต่อเนื่อง จนเพียงลงเหลือ 53.63 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนสิงหาคม 2557 ซึ่งเป็นราคาขายที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต อยู่ที่ประมาณ 64.90 บาทต่อกิโลกรัม

เว็บไซต์การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้อ้างอิงราคายางพารา จากสำนักงานตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระบุราคาน้ำยางสดในตลาดท้องถิ่นที่กิโลกรัมละ 29 บาท ยางแผ่นดิบที่กิโลกรัมละ 34 บาท ส่วนราคาประมูลยางแผ่นดิบที่กิโลกรัมละ 35.49 บาท  ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่กิโลกรัมละ 36.59 บาท  กร๊าฟตัวเลขเกี่ยวกับราคายางพารามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดกลางราคายางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี ราคายางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 36 บาท ราคาน้ำยางสด หน้าโรงงาน 27.35 บาท ซึ่งสอดคล้องกับราคายางพาราในจังหวัดนครศรีธรรมราชด้วยเช่นกัน

สำหรับสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ราคายางพาราตกต่ำนั้น มาจาก หนึ่ง การขยายพื้นที่ปลูกยางพาราจาก 14 จังหวัดภาคใต้เป็นเกือบทั่วประเทศ ทำให้มียางพาราออกสู่ตลาดจากเดิม 1,500,000 ตันต่อปี เป็นประมาณ 4,000,000 ตัน ในปี 2556  สอง ราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้มีการใช้ยางสังเคราะห์แทนยางธรรมชาติ และสาม ประเทศจีนที่เคยต้องการยางพาราปีละสี่ล้านตัน ชะลอการนำเข้าเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทั้งนี้ ยางพาราของไทยส่งออกถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ มีการใช้ในประเทศในสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนัก

ด้านนายกอเซ็ง แวกาเซ็ง ชาวสวนยางในจังหวัดยะลา กล่าวว่า “ไม่รู้จะพูดยังไงแล้ว ได้แต่ปล่อยให้มันเป็นไปตามปัญหา ลูกขาดเรียนก็เจอแล้ว กินข้าวต้มก็เจอแล้ว ปัญหาภายในครอบครัว มีมากกว่าคำว่า ไม่มีเงิน พอไม่มีเงิน ปัญหาอื่นก็เพิ่มเข้ามา บางคนเมียหนีกลับบ้าน เพราะสามีไม่มีเงินเลี้ยงดู”

นายกอเซ็ง กล่าวว่า ครอบครัวตนมีสวนยาง 5 ไร่ ประมาณ 350 ต้น ออกกรีดยางตอนเช้า 2 ชั่วโมง แล้วพักทำขี้ยางหรือเศษยาง ได้ 12 บาทต่อกิโลกรัม เฉลี่ยจะมีรายได้วันละ 400 กว่าบาท ซึ่งต้องส่งเสียลูกๆ เรียนหนังสือรวม 5 คน จากปัญหาเรื่องรายได้ ลูกคนโตสองคน อายุ 20 ปี และ 17 ปี ต้องไปหางานทำในประเทศมาเลเซีย

“ลูกเรียน 3 คน รายได้ 400 กว่าบาท อย่าให้พูดเลยว่าพอไหม วันไหนที่ไม่มีเงินจริงๆ ก็ไปตัดไม้ยางขาย จะได้เงินมาพันกว่าบาท ปีที่แล้วตัดต้นยางขาย 7 ครั้งๆ ละ 5 ต้น ปัญหาพันกัน จนไม่รู้จะแก้ยังไง เพราะหันไปทางไหนก็ต้องมีค่าใช้จ่าย จะพยายามหางานก็ไม่มีเลย” นายกอเซ็ง กล่าว

นายรอยะ ซีละ ชาวสวนยางในจังหวัดปัตตานี กล่าวประชดว่า “ขายต้นยางกินเป็นเรื่องปกติแล้ว ทำมาจนหมดสวน จนไม่มีกรีดแล้ว จะให้เก็บทำไม ยางไม่มีราคา ตัดต้นยางเอาเงินมากิน รัฐบาลคงชอบ ชีวิตแต่ละวัน ก็ปลูกมัน ปลูกข้าวโพดกินก็พอแล้ว อย่างที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนที่นี่เป็น คิดอะไรมาก”

“จริงๆ ช่วงต้นเดือนมกราคม ถือว่า เป็นช่วงสิ้นฝนของภาคใต้ จะได้ผลผลิตยางพาราดีมากกว่าช่วงอื่น ทุกปีช่วงเดือนนี้ ถือว่าเป็นช่วงนาทีทองของชาวสวนยาง แต่ปีนี้จะใกล้ถึงกลางเดือนแล้ว ทุกคนยังเดือดร้อน เพราะราคายางถูก” นายรอยะ กล่าว

“ยังเป็นหนี้เพราะราคายางตกต่ำ ผ่านไปจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม จะเข้าช่วงหน้าร้อน จะแล้งหนัก ชาวสวนยางต้องเจอปัญหาน้ำยางไม่ออกอีก และคิดว่าราคายาง จะมีแนวโน้มลดลงอีก” นายรอยะ กล่าวทิ้งท้าย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง