รัฐกำหนดยางพาราเป็นสินค้าควบคุม หวังแก้ราคายางตกต่ำ
2018.01.17
ปัตตานี

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในวันพุธ (17 มกราคม 2560) นี้ว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุม โดยหวังให้เกิดการตรวจสอบที่ดีสะดวกต่อการควบคุมราคาได้ ด้านชาวสวนยางชื่นชมที่รัฐพยายามหามาตรการแก้ไขปัญหา และเตรียมลดพื้นที่ปลูกยางพาราด้วยเช่นกัน
การเปิดเผยครั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่รัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 กำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมาย ทำให้ปัจจุบัน มีสินค้าควบคุม 53 รายการ แบ่งเป็น 48 สินค้า และ 5 บริการ โดยสินค้ายางพาราในกรณีนี้ครอบคลุม น้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง น้ำยางข้น ยางแผ่น ยางแท่ง และยางเครพ
“โดยปกติแล้วหากสินค้าใดเป็นสินค้าควบคุม จะทำให้กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบหรือติดตามดูข้อเท็จจริงต่างๆ ได้ เช่น ตรวจสอบราคาทุน ราคาซื้อ ราคาขาย ทั้งกำหนดให้มีมาตรการที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ หรือบรรดาเกษตรกรทั้งหลาย การกำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุม รัฐบาลเตรียมการไว้สำหรับแก้ไขปัญหาราคายางพาราในอนาคต หากเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นกับผู้ผลิต เกษตรกรชาวสวนยาง ผู้บริโภค หรือผู้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายยางพารา” พล.ท.สรรเสริญกล่าว
พล.ท.สรรเสริญระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการใช้ยางพาราในส่วนราชการต่างๆ มากขึ้น และสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ได้แปรรูปยางพาราไปใช้ในกิจการอื่นๆ รัฐบาลจึงต้องเตรียมมาตรการไว้ป้องกันหรือแก้ไขปัญหาในวันข้างหน้า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทุกฝ่าย
“ปัจจุบันการซื้อขายยางพารายังคงเป็นไปตามปกติ โดยกระทรวงพาณิชย์ในฐานะกรรมการกลางฯ ยังไม่มีการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับยางพาราแต่อย่างใด คณะกรรมการกลางฯ มีหน้าที่ต้องพิจารณาทบทวนรายการสินค้าควบคุมทุกๆ 1 ปี เพื่อดูว่าสินค้าแต่ละรายการยังสมควรเป็นสินค้าควบคุมอีกต่อไปหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่จำเป็น ก็จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาถอดสินค้านั้นออกจากรายการสินค้าควบคุมได้” พล.ท.สรรเสริญกล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายทรงวุฒิ ดำรงกูล ประธานเครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า การนำยางพาราเข้าเป็นสินค้าควบคุมเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้เกิดการตรวจสอบจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด แต่สิ่งที่ยังกังวลคือกระบวนการตรวจสอบจะทำได้มากน้อยเพียงใด
“โครงการควบคุมยางถือว่าดีจะได้ตรวจสอบสต็อคยางพาราได้ ผอ.การยางจังหวัดก็สามารถควบคุมได้ ถือว่าดีในระดับหนึ่ง มีเท่าไหร่ส่งออกเท่าไหร่ สามารถรู้ได้หมด ก็สามารถควบคุมได้ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ตัวกฎหมายมันดี แต่ก็ไม่รู้ว่าผู้ปฏิบัติจะนำไปใช้ได้ขนาดไหน มันก็พูดลำบากอีก” นายทรงวุฒิกล่าว
ด้านนายซำรี ลีเปง ชาวสวนยางจากจังหวัดยะลา ระบุว่า ประชาชนคาดหวังกับการช่วยเหลือของรัฐบาล ไม่ว่าโครงการอะไรที่สามารถช่วยชาวสวนยางได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี หากผลประโยชน์ตกสู่ชาวสวนไม่ใช่พ่อค้าคนกลาง
“โครงการให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุมที่นำมาใช้ คิดว่าน่าจะควบคุมพ่อค้าคนกลางได้พอสมควร สามารถตรวจสอบ เรื่องราคาการผลิตสต๊อคยาง ตรวจสอบได้ดีกว่าก่อนหน้านี้ คิดว่าชาวบ้านหลายคนมีความหวังกับโครงการนี้ และจะสามารถ แก้ปัญหาราคายางให้ดีกว่านี้” นายซำรีกล่าว
ขณะเดียวกัน นายปรีชา สุขเกษม เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรกรจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า สมาพันธ์ฯ กำลังประสานกับเครือข่ายในจังหวัดสงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เพื่อทำแผนลดพื้นที่ปลูกยางพาราแล้วเสนอ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาปรับใช้ และปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน
ซึ่งแผนการดังกล่าว จะให้ชาวสวนโค่นยางพาราที่อายุครบ หรือรับสมัครผู้ร่วมโครงการโค่นต้นยางพาราโดยสมัครใจ โดยอาจปลูกมะพร้าว ปาล์ม หรือไม้ผลอื่นๆ ภายใต้การส่งเสริมของกระทรวงเกษตรฯ ทดแทน โดยประเมินว่า หากลดพื้นที่ปลูกยางพาราทั่วประเทศได้ 2 ล้านไร่ เชื่อว่า ยางพาราจะมีราคาขยับไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท
ปัจจุบัน ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 44.50 บาท ต่อหนึ่งกิโลกรัม ในขณะที่ภาครัฐประเมิณราคาต้นทุนไว้ที่ห้าสิบกว่าบาทต่อกิโลกรัม
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ มีส่วนในรายงานฉบับบนี้