ชาวสวนยางหวังรัฐบาลเร่งนโยบายแก้ไขราคายางในระยะยาว
2016.04.19
ยะลา

ในวันอังคาร (19 เมษายน 2559) นี้ นายทรงวุฒิ ดำรงกุล ประธานกรรมการวิสาหกิจชุมชนพัฒนาและแปรรูปน้ำยางตาชี อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และคณะกรรมการเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทยเปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลควรเร่งดำเนินนโยบายการแปรรูปยางพารา เพื่อใช้งานในประเทศ เพื่อรักษาราคายางพาราให้อยู่ในระดับที่เกษตรกรไม่เดือดร้อน
“ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นปัญหาเร่งด่วนจะรอถึง 2 ปีไม่ได้ นโยบายของรัฐบาลที่ให้ 10 กระทรวง นำยางมาแปรรูปเป็นแนวคิดที่ดี แต่ยังไม่มีการบรรจุเรื่องการแปรรูปยางในแผนงานของปี 59 หรือ 60 ซึ่งอาจต้องรอถึงปี 61 เพราะรัฐบาลไม่ได้มีการใช้แผนเร่งด่วนแก้ปัญหา” นายทรงวุฒิเพิ่มเติม
“ตอนนี้ของไม่มีก็ต้องแพงขึ้น พอมีของมาก ราคาก็ต้องลดลง ถ้าเราผลิตน้ำยางและแปรรูปเอง เราก็จะอยู่ได้ แต่ตอนนี้ เรามีการส่งออกยาง 80 เปอร์เซ็นต์ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ถ้าเราสามารถแปรรูปได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เราก็สบายแล้ว” นายทรงวุฒิกล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี 2558 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้ดำเนินนโยบายการนำยางพารามาแปรรูปเพื่อการใช้งานในประเทศ การสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชทางเลือกพร้อมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการชดเชยรายได้ไร่ละหนึ่งพันห้าร้อยบาท แต่ไม่เกินสิบห้าไร่ ทำให้ราคายางพาราเริ่มสูงขึ้นจากเดิมที่มีราคาประมาณกิโลกรัมละ 35 บาท เป็นกิโลกรัมละ 45 บาท
ในปัจจุบัน น้ำยางมีราคากิโลกรัมละ 56-57 บาท ยางแผ่นมีราคากิโลกรัมละ 58 บาท และเศษยางหนึ่งกิโลกรัม มีราคา 20-22 บาท อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ปริมาณน้ำยางจะกลับมามากเหมือนปกติ และราคาน้ำยางก็จะปรับตัวลดลงอีกครั้ง
นายทรงวุฒิกล่าวว่า ปัจจุบัน ยางขาดตลาดเพราะ 2 สาเหตุ คือ 1. ชาวสวนพักการกรีดยางช่วงยางผลัดใบ และ 2. สภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ทำให้ผลผลิตน้อยลง
ด้านนางมารีเยาะ มะนาหิง ชาวสวนยางจังหวัดยะลา เชื่อว่าราคายางจะขึ้นหรือลง ขึ้นอยู่กับการบริหารงานของรัฐบาล ในปัจจุบัน ชาวสวนเองก็พยายามช่วยเหลือตัวเองอย่างมากในการดิ้นรนหารายได้เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นอยู่
“ราคายางจะดีกว่านี้หรือไม่ ตอนนี้ไม่คิดอะไรมาก ถ้าขึ้นก็ถือว่าบุญเรามากขึ้น ถ้าอยู่แบบนี้ก็ต้องจำใจรับสภาพ หรือถ้าราคาจะลงต่ำกว่านี้อีก ก็ถือว่าชาวสวนยางบ้านเราโชคร้ายอย่างมากที่มีผู้นำได้แค่นี้ เพราะแม้จะมีผลผลิตยางมากเพียงใด ถ้าระบบบริหารแย่ ทุกอย่างก็พังอย่างที่เห็น” นางมารีเยาะกล่าว
มารีเยาะ เป็นชาวสวนยางคนหนึ่งที่ไม่ได้พักหน้ายางในช่วงหน้าแล้ง แม้ว่าจะมีผลต่อต้นยางในระยะยาว เพราะว่าขาดแคลนเงินออมจากเหตุราคายางตกต่ำมานาน
“ไม่ได้หยุดกรีดยางแม้จะเป็นช่วงผลัดใบ เพราะถ้าหยุดกรีดชาวสวนก็จะไม่มีข้าวกินด้วย วันไหนกรีดยางได้เยอะ มากกว่า 100 บาท ชีวิตก็ดีไปหนึ่งวัน มีไข่และมาม่าเป็นกับข้าว” มารีเยาะกล่าว
นายสุรชัย บุญมณีเจริญ ชาวสวนยางจังหวัดปัตตานี แสดงความคิดเห็นว่า การแก้ปัญหาราคายางตกต่ำที่ดีที่สุดคือ ชาวสวนต้องเป็นทั้งผู้ปลูกและผู้แปรรูป หรือประเทศไทยต้องเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้แปรรูป เนื่องจากการแปรรูปในประเทศ จะเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าการเป็นเพียงผู้ส่งออก แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องช่วยดำเนินนโยบายแก้ปัญหาไปพร้อมกัน