ชาวสวนสามจังหวัดแดนใต้ที่ไร้เอกสารสิทธิ ได้ขึ้นทะเบียนกว่าพันคนแล้ว
2016.08.17
ปัตตานี
ในวันพุธ (17 สิงหาคม 2559) นี้ ชาวสวนยางไร้เอกสารสิทธิจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลงทะเบียนให้ข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แล้ว 1,185 ราย ยังเหลือเวลาอีก 2 เดือนครึ่งในการลงทะเบียน เพื่อกำหนดนโยบายพัฒนานโยบายเกี่ยวกับยางพารา
จนถึงปัจจุบัน มีชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลงทะเบียนให้ข้อมูลแล้ว 1,185 ราย แบ่งเป็น จังหวัดยะลา 597 ราย รวมพื้นที่ 11,564 ไร่ โดยมีผู้ปลูกยางทั้งหมด 34,260 ราย จังหวัดปัตตานี มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 184 ราย รวมเนื้อที่ 17,934 ไร่ และ จังหวัดนราธิวาส มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 404 ราย รวมเนื้อที่ 5943 ไร่ โดยมีผู้ปลูกยางทั้งหมด 12,117 ราย
นายทรงวุฒิ ดำรงกูล ประธานชาวสวนยางจังหวัดชายแดนภาคใต้เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีเนื้อที่สวนยางทั้งหมด 20-22 ล้านไร่ การขึ้นทะเบียนครั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการจัดการพื้นที่ปลูกยางให้เหมาะสมและถูกต้อง แต่ปัจจุบันยังพบว่า ผู้ที่มาลงทะเบียนยังมีจำนวนน้อยอยู่
“เฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 4 หมื่นกว่าไร่ จังหวัดยะลามีการปลูกยางมากที่สุด 2 หมื่นไร่ จังหวัดนราธิวาส 1 หมื่นกว่าไร่ และจังหวัดปัตตานี 1 หมืนไร่ ในจำนวนนี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพื้นที่การปลูกยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นไร่ แต่ตอนนี้การลงทะเบียน ดูเหมือนว่าประชาชนจะให้ความสนใจน้อย เพราะการประชาสัมพันธ์ของรัฐยังไม่ทั่วถึง” นายทรงวุฒิกล่าว
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า การจัดเก็บข้อมูลเกษตรกรที่ปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธินั้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการกำหนดนโยบายด้านยางพารา ซึ่งทาง กยท. เร่งทำประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกษตรกรเร่งมาแจ้งข้อมูลที่ กยท.สาขาใกล้บ้าน โดยเปิดรับลงทะเบียนในวันและเวลาราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-30 กันยายน 2559 โดยล่าสุด ทั่วประเทศมีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 10,629 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2559)
นายสาย อิ่นคำ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ดยาง) กล่าวว่า คาดว่า จะมีเกษตรกรที่ปลูกยางในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิไม่ต่ำกว่า 5 ล้านไร่ รัฐจะต้องประชาสัมพันธ์ว่า จะไม่มีการจับกุมหรือเข้าโค่นต้นยางซ้ำรอยในอดีต
“ในที่ประชุมบอร์ดยาง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้อนุมัติระเบียบหลักเกณฑ์วิธีการจ่ายเงินกองทุนพัฒนายางพารา เพื่อการสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ตามมาตรา 49 (3) จำนวนไม่เกิน 35% หรือจำนวน 1,422.14 ล้านบาท ให้กับผู้ที่มีบัตรเขียวหรือที่มีเอกสารสิทธิ” นายสาย กล่าว
เรื่มวิจัยการปลูกกาแฟเป็นอาชีพเสริม
ด้านผู้รับซื้อยางในพื้นที่ จ.ยะลา กล่าวให้ข้อมูลถึงราคายางในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม และทำให้ชาวสวนยางพาราสามารถพึ่งพาตนเองได้
“ราคาตลาดกลางยางพาราวันนี้ ของ จังหวัดยะลา ราคายางแผ่นดิบท้องถิ่น 45-51 บาท เศษยาง 35-38 บาท ราคาท้องถิ่น 40-45 บาท เศษยาง 18-20 บาท ราคายางจะไม่สูงมากกว่านี้ และ ขออย่าให้ลดลงมากไปกว่านี้ เพราะชาวบ้านต้องใช้ยาง 6 กิโล ถึงจะ(ซื้อ)ได้ปลา 1 กิโลกรัม” นางสาวรอกีเยาะ อาบู กล่าวแก่ เบนาร์นิวส์
ส่วน นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า อาจมีการนำกาแฟมาให้ชาวเกษตรกรปลูกเป็นอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้จากการปลูกยางพารา
“จังหวัดปัตตานี มีพื้นที่ไม่มากเท่ากับ ยะลากับนราธิวาส เพื่อช่วยเหลืออย่างยั่งยืน จึงต้องมีการปลูกพืชอื่นทดแทนยาง และคิดว่าการนำกาแฟมาปลูกทดแทนยางพาราจะทำให้ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น ขณะนี้ทางวิจัยจังหวัดปัตตานี อยู่ระหว่างสำรวจในเรื่องของอากาศ และดินที่จะสามารถปลูกพืชนี้ได้ดีหรือไม่” นายสุริยะกล่าว
“เบื้องต้นพบว่า ที่นี่มีฝนตกชุกกว่าพื้นที่อื่น กาแฟมีความต้องการน้ำพอสมควร เหมาะสำหรับปลูกได้ในพื้นที่นี้ แต่เพื่อความยั่งยืน และแก้ปัญหาที่เป็นระบบ จึงต้องมีการวิจัยอย่างเป็นทางการ” นายสุริยะเพิ่มเติม