ชาวสวนยางหาอาชีพเสริมในหน้าร้อนที่ยางผลัดใบ

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.03.17
ปัตตานี
TH-rubber-folo-1000 นางสูไฮนี เจะเลาะ ชาวสวนยางในจังหวัดยะลา กำลังตากหมากสุกให้แห้งก่อนนำมาแกะขาย ในราคา 30-40 บาท ต่อกิโลกรัม วันที่ 17 มีนาคม 2559
นาซือเราะ/เบนาร์นิวส์

ราคายางพาราได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบสิบเปอร์เซ็นต์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ชาวสวนยางในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่สามารถฉวยโอกาสสร้างรายได้ ได้อย่างเต็มที่ เพราะถึงเวลายางผลัดใบในหน้าร้อน ทำให้เกษตรกรบางส่วนหยุดกรีดยาง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อต้นยางในระยะยาว แล้วหันไปประกอบอาชีพเสริมแทนชั่วคราว ในขณะที่บางรายต้องฝืนกรีดยางต่อไป เนื่องจากรายได้หดหายเพราะราคายางตกต่ำมาอย่างยาวนาน

ทั้งนี้ ราคายางในพื้นที่ได้ขยับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในวันพฤหัสบดี (17 มีนาคม 2559) นี้ ราคาตลาดกลางหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ยางแผ่นดิบคุณภาพที่ 1 มีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 39.87 บาท เพิ่มขึ้นจาก 36.46 บาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กิโลกรัมละ 3.41 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.35 ยางแผ่นดิบคุณภาพที่ 2 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 39.37 บาท เพิ่มขึ้นจาก 35.99 บาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กิโลกรัมละ 3.41 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.48 ยางแผ่นดิบคุณภาพที่ 3 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 38.87 บาท เพิ่มขึ้นจาก 35.46 บาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กิโลกรัมละ 3.41 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.68

ส่วนยางก้อนคละ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 18.02 บาท เพิ่มขึ้นจาก 17.26 บาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กิโลกรัมละ 0.76 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.40 เศษยางคละ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 16.08 บาท เพิ่มขึ้นจาก 14.89 บาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กิโลกรัมละ 1.19 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.99 และน้ำยางสด ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 36.34 บาท เพิ่มขึ้นจาก 34.59 บาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กิโลกรัมละ 1.75 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.06

ในช่วงต้นเดือนการยางแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศเตือนให้ชาวสวนงดกรีดยางเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูผลัดใบเก่า-แตกใบอ่อนของต้นยางด้วย โดยถ้าหากชาวสวนฝืนกรีดยางในช่วงนี้ จะส่งผลกระทบต่อต้นยางในระยะยาว

นายอับดุลตอลิฟ อับดุลซอมะ ชาวสวนยางจังหวัดยะลา กล่าวว่า ตอนนี้ ตนหยุดกรีดยางและถือโอกาสพักยางด้วย จึงหันมาหารายได้จากการแกะหมากขาย โดยทำทั้งการปีนต้นเก็บหมากมาแกะเอง และรับซื้อจากสวนของเพื่อน ซึ่งรายได้จากส่วนนี้ ก็ช่วยให้ครอบครัวมีเงินสำหรับผ่อนค่างวดรถ ส่งลูกไปโรงเรียน ซื้ออาหาร และเหลือเก็บบางส่วน เอาไว้สำหรับซื้อปุ๋ยใส่ต้นยางในอนาคต

"ก่อนหน้านี้ ผมไปรับซื้อแตงโมงจากในเมืองยะลา มาขายแถวตลาดตามชุมชน ตอนนี้มาทำหมากแห้งขาย ก็สามารถมีงานทำเรื่อยๆไปก่อน จนราคายางดีกว่านี้ หรือยางใบแข็งค่อยกลับไปเปิดยางกรีด" นายอับดุลตอลิฟกล่าว

ด้านนายอิสมะแอ เปาะจีจา ชาวสวนยางนราธิวาส กล่าวว่า แม้ช่วงนี้ จะเป็นฤดูผลัดใบเก่า-ผลิใบอ่อน ซึ่งควรจะงดกรีดยาง แต่สวนของเขายังคงกรีดยางตามปกติ เนื่องจากปีนี้มีรายได้น้อยมากถึงขนาดไม่มีเงินซื้อปุ๋ย การกรีดยางจึงเป็นวิธีแก้ปัญหารายได้ที่ดีกว่าการอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรและนั่งบ่นเรื่องราคายางตกต่ำ อย่างไรก็ดี เขาได้พยายามทำสวนผลไม้ควบคู่ไปด้วย เพื่อทดแทนราคายางที่ตกต่ำ

"ทุเรียนกำลังออกดอก ผลไม้ในสวน คือความหวังสำคัญของครอบครัวตอนนี้ ยางถูกช่างมัน ขอแค่ผลไม้สามารถได้ระบายออกบ้าง อย่าเน่าเสียเหมือนหลายๆ ปีที่ผ่านมา รัฐก็ต้องช่วยชาวบ้านไปพร้อมๆด้วย ทุกอย่างถึงจะดีจะอยู่กันได้" นายอิสมะแอกล่าว

นางไมมูเน๊าะ แหละล่า ชาวสวนยางจังหวัดปัตตานีกล่าวว่า ตอนนี้เป็นช่วงที่ยางพลิใบ ซึ่งชาวสวนจะพักกรีดยางและรอจนกว่าใบยางแก่จึงจะเริ่มกรีดอีกครั้ง แต่สำหรับสวนของเธอนั้นไม่ได้หยุดกรีด เนื่องจากมีความจำเป็นต้องหารายได้สำหรับครอบครัว

“ปีนี้น้อยคนที่จะพักยาง เพราะถ้าพักยางหมายถึงข้าวในหม้อก็ต้องหายไปด้วย” นางไมมูเน๊าะกล่าว และเธอยังกล่าวว่า ได้วางแผนในการทำอาชีพเสริมเพื่อทดแทนราคายางที่ตกต่ำไปไว้แล้ว

“ตอนนี้ลูกใกล้จะปิดเทอม คิดว่าจะให้พวกเขาแกะหมากขาย เพราะหมากแพงกว่ายาง ยาง 15-17 บาท แต่หมากราคา 30-40 บาท ถ้ารับจ้างแกะจากพ่อค้าคนกลางจะได้ กิโล 8-9 บาท เราแค่เอาหมากมาผ่าสองซีก ตากแห้งสองวันแล้วแคะเปลือกออก ก็จะได้เงินก็พอเอามาเป็นค่ากับข้าวแล้ว ถ้าเหลือก็จะเอาไว้ซื้อชุดเรียนใหม่ของพวกเขาช่วงเปิดเทอม ถ้าไม่ทำแบบนี้ ลูกๆ คงไม่มีเสื้อผ้าใหม่ใส่เหมือนทุกปีแน่" นางไมมูเน๊าะกล่าวเพิ่มเติม

ประกาศเตือนให้ชาวสวน"งด"กรีดยาง

เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2559 การยางแห่งประเทศไทย ได้ออกข่าวเตือนให้ชาวสวนยางหยุดกรีดยางชั่วคราว โดยนายเชาว์ ทรงอาวุธ ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามวงจรธรรมชาติ ยางจะผลัดใบในช่วงฤดูร้อน โดยใบยางจะมีสีเหลือง และร่วงหล่นจากต้น เป็นสัญญาณเตือนให้เจ้าของสวนยางควรหยุดกรีดยาง เนื่องจากเป็นช่วงที่ยางผลัดใบ ต้นยางจะไม่มีใบสีเขียวเพื่อการสังเคราะห์แสง ทำให้ต้นยางต้องเคลื่อนย้ายอาหารที่เป็นแป้งและน้ำตาลจากใบแก่ไปเก็บไว้ที่ บริเวณลำต้น และ เมื่อยางจะแตกใบอ่อน ต้นยางก็จะดึงสารอาหารที่สะสมในลำต้นไว้มาใช้ ซึ่งถ้าเกษตรกรยังฝืนกรีดยาง ก็จะเป็นเหมือนการแย่งอาหารสำรองของต้นยาง ส่งผลให้ยางเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้ต้นยางไม่สมบูรณ์ ส่งผลกระทบต่ออายุการกรีดในอนาคต โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการกลับมากรีดยางคือ ปลายฝน-ต้นหนาว หรือในเดือนธันวาคม

“การฝืนกรีดยางในช่วงผลัดใบหรือแตกใบอ่อน ส่งผลให้ต้นยางไม่สมบูรณ์และทรมานต้นยาง อาจทำให้ต้นยางเกิดอาการเปลือกแห้ง หรือกรีดแล้วไม่มีน้ำยาง ในระยะเวลา 2-3 ปี ข้างหน้า เกษตรกรชาวสวนยางควรหยุดกรีดยางในช่วงนี้ เพื่อเป็นการพักต้นยางพารา ให้สามารถสะสมอาหารไปหล่อเลี้ยงใบอ่อนเพื่อสร้างความเจริญเติบโต และใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยาง ซึ่งชาวสวนยางสามารถเริ่มกรีดได้อีกครั้ง ในช่วงที่ใบยางที่แตกใหม่เจริญเต็มที่และเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม” นายเชาว์ กล่าว

ในสภาวการณ์ปกติ ชาวสวนยางส่วนใหญ่ จะกลับมากรีดยางใหม่อีกครั้ง เมื่อมีฝนตกในเดือนพฤษภาคม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง