ศาลสั่งยึดที่ดินโรงเรียนอิสลามบูรพา เชื่อโรงเรียนให้การสนับสนุนการก่อการร้าย

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.07.22
นราธิวาส
TH-insurgency-1000 เจ้าหน้าที่ตำรวจออกจากบ้านของผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ หลังจากมีการปะทะกันระหว่างผู้ก่อการร้ายและทหาร ในอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2559
เอเอฟพี

ในวันพฤหัสบดี (21 กรกฎาคม 2559) นี้ ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ยึดที่ดินของโรงเรียนอิสลามบูรพา หรือโรงเรียนปอเนาะสะปอม จังหวัดนราธิวาส เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน หลังพบหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่ามูลนิธิอัดดีรอซาด อัลอิสลามียะห์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทำการเคลื่อนไหวสนับสนุนการก่อการร้าย ด้านเจ้าของที่ดินยืนยัน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการก่อการร้าย

การตัดสินครั้งนี้ ศาลแพ่งได้อ่านคำสั่งตัดสินคดีหมายเลขดำที่ ฟ.59/2555 ซึ่งมีพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 3 เป็นผู้ฟ้องร้องมูลนิธิอัดดีรอซาด อัลอิสลามียะห์ ซึ่งดำเนินการโดย นางซูใบดะห์ ดอเลาะ และนายมูฮัมมัด ฮูเซ็งมะซอ

“คำสั่งศาลให้ยึดที่ดิน 2 แปลง พร้อมทรัพย์สิน คือ ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 27227 และ 27228 อันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอิสลามบูรพาให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ให้ยกฟ้องในส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 27207 ของนายมูฮัมมัดฮูเซ็ง มะซอ เพราะถือว่าเป็นที่ดินส่วนบุคคล ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง” นายพงศ์จรัส รวยร่ำ ทนายของโรงเรียนอิสลามบูรพา กล่าวถึงคำพิพากษาของศาลแพ่ง

นายพงศ์จรัส กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า ในการฟังคำพิพากษาศาลวันนี้ มีนายสุรพร พร้อมมูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นางซูใบดะห์ ดอเลาะ เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้ารับฟังศาลอ่านคำตัดสินคดีด้วย

“ศาลอ้างหลักฐานจากการซักถาม นายมะนาเซ ยา และพวกของศูนย์ซักถามฯ เราสามารถอุทธรณ์คดีนับจากวันตัดสิน 30 วัน เบื้องต้นยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ เนื่องจากต้องหารือกับหลายฝ่าย” นายพงศ์จรัสกล่าว

นายพงศ์จรัส กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่เดิมที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของบิดาของนายมูฮัมมัดฮูเซ็ง มะซอ ต่อมาบิดาของนายมูฮัมมัดฮูเซ็งได้แบ่งที่ดินออกเป็น 4 โดยแปลง 2 แรก เป็นที่ตั้งของโรงเรียน แปลงที่ 3 มอบให้กับนายมูฮัมมัดฮูเซ็ง มะซอ และแปลงที่ 4 เป็นที่ตั้งของมัสยิด สำหรับความผิดทางอาญาของคดีนี้ ศาลอาญาเคยตัดสินยกฟ้องจำเลยมาแล้ว ในเดือนพฤศจิกายน 2555 โดยระบุว่าผู้บริหารของโรงเรียนอิสลามบูรพา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย สืบเนื่องจากการที่มีการจับกุมนายมะนาเซ ยา และพวก ที่ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุรุนแรง โดยถูกจับได้ภายในบ้านร้างซึ่งอยู่ใกล้บริเวณโรงเรียนอิสลามบูรพา

นางสุไบดะห์ ดอเลาะห์ ผู้ถือใบอนุญาตและผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามบูรพา กล่าวต่อสื่อมวลชนหลังทราบผลการตัดสินของศาลแพ่งว่า รู้สึกเสียใจแต่ยืนยันที่จะเดินหน้าหาวิถีทางให้โรงเรียนกลับมาดำเนินการได้ตามปกติในอนาคต

“รู้สึกเสียใจกับคำตัดสิน โดยจะขอสู้เพื่อเด็ก ผู้ปกครอง และสังคม เราคงไม่ยอม ตอนนี้โรงเรียนกำลังจะพัฒนาเรามีแผนหลายอย่าง ได้รับทุนมาเพื่อจะสร้างอาคารเพิ่ม ได้เข้าเป็นโรงเรียนในโครงการพระราชดำริด้วย” นางสุไบดะห์กล่าว

ด้านนายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสกล่าวว่า โรงเรียนจะยังเปิดสอนเป็นปกติ โดยฝ่ายความมั่นคงและจังหวัดจะได้ปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกสำหรับเรื่องนี้ต่อไป

“ตอนนี้ ยังไม่เห็นคำตัดสินแต่ก็ทราบเรื่องนี้อยู่ จึงได้มอบหมายให้รองผู้ว่าฯ ไปรับฟังคำตัดสิน ประเด็นนี้ละเอียดอ่อน ขอทำความเข้าใจและอีกอย่างยังมีกระบวนการอุทธรณ์ได้อีก ซึ่ง ศอ.บต.และกอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้าอยู่ระหว่างหารือ ตอนนี้โรงเรียนยังสอนปกติ” นายสิทธิชัยกล่าว

ต่อผลการพิพากษาเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงในพื้นที่กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า หลังจากนี้อาจมีการเคลื่อนไหวของขบวนการเพื่อตอบโต้ผลการตัดสินของศาลแพ่ง

"คาดว่าเหตุการณ์น่าจะแรงขึ้นอีกหลังจากนี้ เพราะเชื่อว่าจะต้องมีการตอบโต้จากขบวนการ แต่ก็มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่จะรับมือได้ เพราะมีการเตรียมแผนรับมืออย่างเต็มที่แล้ว" เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงระบุ

โรงเรียนอิสลามบูรพา หรือชื่อที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า โรงเรียนปอเนาะสะปอม ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ หมู่ 5 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส เคยถูกสั่งปิดครั้งแรกในปี 2550 หลังจากที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสามารถจับกุมนายมะนาเซ ยา ผู้เชี่ยวชาญด้านระเบิด ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบพร้อมพวก 6 คนในบ้านร้างใกล้เขตโรงเรียน โดยจากการตรวจค้นเจ้าหน้าที่ยังพบของกลางเป็นวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง และอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมาก

การจับกุมและพบของกลางครั้งนั้น จึงทำให้เจ้าหน้าที่เชื่อว่าโรงเรียนอิสลามบูรพาเป็นศูนย์กลางผลิตระเบิดแสวงเครื่องเพื่อส่งกระจายไปก่อเหตุในหลายพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น ลงนามในคำสั่งถอนใบอนุญาตมูลนิธิอัดดีรอซาต อัลอิสลามียะห์ และปิดการเรียนการสอนของโรงเรียนอิสลามบูรพา

ต่อมาในยุคที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้มีการให้โรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอนได้อีกครั้ง จนกระทั่งมีคำพิพากษาของศาลในวันศุกร์นี้ให้ยึดที่ดินของโรงเรียนเป็นของรัฐ

เมื่อปลายปี 2558 ศาลแพ่งในจังหวัดปัตตานี ได้สั่งยึดโรงเรียนญิฮาดวิทยาเป็นของรัฐ เพราะถูกใช้เป็นสถานที่ฝึกกบฏแบ่งแยกดินแดน ซึ่งทางทายาทเจ้าของโรงเรียนไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ในคอนต้นปี 2559 ในเวลาต่อมาทางรัฐบาลและชุมชน ได้มีแนวทางปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์เรียนรู้ให้สามารถใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้องได้ แต่การยึดโรงเรียนได้ทำให้มีการเร่งก่อเหตุรุนแรงอยู่ช่วงหนึ่ง ตามคำกล่าวของรองแม่ทัพภาคที่สี่

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง