รองนายกฯ สั่งสอบที่พักกลางทะเลภูเก็ต
2019.04.19
กรุงเทพฯ

เจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดภูเก็ต กล่าวในวันศุกร์นี้ว่า คาดว่าจะส่งสำนวนในข้อกล่าวหาสองสามีภรรยาเจ้าของโครงการบ้านพักกลางน้ำ (Seastead) ใกล้จังหวัดภูเก็ต เพื่อให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องในข้อหาละเมิดอธิปไตย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119 ได้ในวันเสาร์นี้ ซึ่งในวันนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
ทั้งนี้ กองทัพเรือระบุว่า นายแชด แอนดรูว์ เอลวาร์โทวสกี้ (Chad Andrew Elwartowski) ชาวอเมริกัน และ น.ส.สุปราณี เทพเดช สองสามี-ภรรยา ได้ดำเนินการก่อสร้างที่พักอาศัยลอยน้ำ ตามแนวคิดการตั้งถิ่นฐานในทะเลนอกน่านน้ำทะเลอาณาเขต ในนามของ Ocean Builders ในทะเลห่างจากเกาะราชาใหญ่ ออกไป 22.20 กม. เป็นพื้นที่เขตทะเลต่อเนื่องและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ระยะไม่เกิน 200 ไมล์ทะเล (370.4 กม.) ของไทย โดยมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า สิ่งปลูกสร้างนี้ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ของบริษัท ภูเก็ต พรีเมียร์ โบ้ทยาร์ด จำกัด (Phuket Premier Boatyard Co., Ltd.) ตั้งอยู่ที่บ้านหยิด หมู่ 7 ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ก่อนนำลงสู่ทะเล
“ปัจจุบัน คดีอยู่ในระหว่างรวบรวมข้อมูลหลักฐาน เพื่อที่จะส่งฟ้องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้ร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดมาตรา 119 แค่ข้อเดียว น่าจะส่งได้ประมาณพรุ่งนี้” พ.ต.อ.นิกร สมสุข ผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรวิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ และระบุว่า ขณะที่ยังไม่พบตัวคู่สามีภรรยาดังกล่าว
ด้านนายวันฉัตร ชุณหถนอม อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า จะต้องตีความว่าสิ่งปลูกสร้างกลางทะเลอยู่ในราชอาณาจักรไทยหรือไม่ ซึ่งจุดดังกล่าว อยู่นอกราชอาณาจักรไทย เพราะห่างจากแผ่นดินเกิน 12 ไมล์ทะเล แต่พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นนี้มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งตามมาตรา 7 ของประมวลกฎหมายอาญา ระบุว่า ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษในราชอาณาจักร
"ในการดำเนินคดีในความผิดเบ็ดเตล็ดนั้น ก็จะซ้อนอยู่ในความผิดหลัก คือ ในมาตรา 119 สาระสำคัญมีเพียงแค่นี้ครับ ว่า ม.119 ปัจจุบันนั้น เมื่อมีประเด็นว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นในเขตต่อเนื่อง ซึ่งเขตต่อเนื่อง ใน ป.อาญา ม.119 นั้น อยู่นอกราชอาณาจักรไทย ถือเป็นอำนาจของอัยการสูงสุด ซึ่งท่านเป็นพนักงานสอบสวน รับผิดชอบในกรณีความผิดนอกราชอาณาจักร” นายวันฉัตร กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
ทั้งนี้ ผู้ละเมิด มาตรา 119 จะรับโทษหนัก ดังนี้ “ผู้ใดกระทำการใด ๆ เพื่อให้ราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต”
เคลื่อนย้ายบ้านลอยน้ำ
ในวันศุกร์นี้เช่นกัน นายสุวิทย์ จันทร์เพ็ญศรี ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ ฝ่ายกรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ได้แถลงในจดหมายข่าวว่า ในวันเสาร์ที่ 20 เมษายนนี้ กองทัพเรือภาคที่ 3 จะดำเนินการเคลื่อนย้ายบ้านลอยน้ำ กลับเข้าฝั่ง เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม บริษัท โอเชี่ยนบิวเดอร์ส (Ocean Builders) ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นผู้ผลิต ที่พักกลางน้ำดังกล่าว ออกแถลงการณ์ทางเวบไซต์ ในวันศุกร์นี้ว่า ข้อกล่าวหาที่ว่าการสร้างสิ่งปลูกสร้างอยู่ในน่านน้ำไทยนั้น ไม่เป็นความจริง ซึ่งทางบริษัทระบุว่า พิกัดของสิ่งปลูกสร้างอยู่เกินระยะ 12 ไมล์ทะเล และสิ่งปลูกสร้างนี้อยู่ในเขตที่เรียกว่า เขตต่อเนื่อง ซึ่งมีพิกัดอยู่ที่ 12-24 ไมล์ทะเล อยู่นอกน่านน้ำไทย
“ที่พักกลางทะเลที่ถูกตั้งคำถามนั้น ไม่ได้อยู่ในน่านน้ำไทย และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการบุกรุกน่านไทย เพราะฉะนั้น ตามตรรกะ จึงเป็นไปไม่ได้ที่โครงการดังกล่าวจะเป็นภัยต่ออธิปไตยของไทย หรือเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายที่บังคับใช้ในประเทศไทย” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ
“บริษัทมีจุดยืนอย่างเป็นทางการว่า จะไม่ฝักใฝ่การเมืองและไม่มีความตั้งใจที่จะตั้ง “รัฐอิสระ” หรือ “อนุประเทศ”
ในวันนี้ เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทางสถานทูต รับทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นและทราบว่านายแชด ได้เตรียมทนายความเพื่อไว้สู้คดีแล้ว
ประวิตรสั่งตรวจสอบเข้ม
ในตอนเช้า พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงสั่งการให้กองทัพเรือ ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง ตรวจสอบการรุกน่านน้ำของ บริษัท โอเชี่ยนบิวเดอร์ส ที่ก่อสร้างที่พักอาศัยถาวรกลางทะเลใกล้กับจังหวัดภูเก็ต เพื่อป้องกันการกีดขวางทางเดินเรือ และผลกระทบต่อความมั่นคงระยะยาว
“พล.อ.ประวิตร กำชับขอให้ร่วมกันตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการตามหลักสากลเพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมายในการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหรือการติดตั้งสิ่งก่อสร้าง อันอาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิของไทย ที่เป็นรัฐชายฝั่งในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ และผลกระทบอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” พล.ท.คงชีพ ระบุ
“มีการติดตั้งเสาเหล็กกลางทะเลแล้ว และมีแผนก่อสร้างที่พักกว่า 20 หลัง ตามแนวทางของ Seasteading ที่มีเป้าหมายการตั้งถิ่นฐานแบบถาวรกลางทะเลนอกเขตอธิปไตยของรัฐต่างๆ และปกครองตนเองเป็นแบบรัฐอิสระในอนาคต โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายระหว่างประเทศ” พล.ท.คงชีพ กล่าว
กองทัพเรือได้ดำเนินการตรวจสอบพบว่า สิ่งปลูกสร้างนั้นตั้งอยู่ที่พิกัดละติจูด 7 องศา 29.37 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 98 องศา 34.81 ลิปดาตะวันออก หรือบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะราชาใหญ่ ระยะห่างประมาณ 14 ไมล์ทะเล ใกล้จังหวัดภูเก็ต
เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2562 กองทัพเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบ และพบสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว และเครื่องอำนวยความสะดวก แต่ไม่พบ น.ส.ปราณี และนายแชด จึงได้นำข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ส่งให้นายทหารรัฐธรรมนูญ เข้าแจ้งความต่อสถานีตำรวจภูธรวิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119
“ข้อกฎหมายที่สุปราณี และผมถูกกล่าวหานั้น มีผลบังคับใช้แค่ในประเทศไทย และน่านน้ำไทย” นายแชด ซึ่งโปรโมทโครงการบ้านกลางทะเลผ่านทางยูทูบ เขียนข้อความโต้แย้งผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว
“คอนเซปต์ของบ้านกลางทะเล คือ การมีการบริหารที่ดีกว่า ธุรกิจของคุณจะเติบโต เพราะจริงๆ แล้ว คุณอยู่ในระบบที่สมาร์ท ตรงกันข้ามกับระบบการเดินทางที่ติดขัดที่รัฐบาลต่างๆ จัดการ เขาผูกขาดระบบบนผืนดิน แต่เขาไม่ได้ผูกขาดแผ่นน้ำ” นายแชด กล่าวในภาพยนต์โฆษณาทางยูทูบ