กองทัพภาคที่ 4 พร้อมทดแทนกำลังทหารหลักจากภาคอื่นที่ถอนตัวกลับ
2017.01.02
ภาคใต้

ปัจจุบัน กองทัพบกได้ถอนกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 1 ถึง 3 ออกจากพื้นที่ภาคใต้กลับต้นสังกัดทั้งหมดแล้ว ทาง กอ.รมน. ภาค 4 จึงได้เน้นการฝึกกองกำลังทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และภาคประชาชนในพื้นที่ให้มีความพร้อมในการดูแลความปลอดภัย
ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นได้เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ และประกาศนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการให้ กองทัพภาคที่ 4 เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้เพียงผู้เดียว
เป็นเวลาถึง 10 ปีมาแล้วที่ กองทัพภาคอื่นๆ ได้ส่งกำลังทหารมาช่วยดูแลพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นโยบายถอนกำลังทหารกลับในปี 2559 จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นที่หลายฝ่ายจับตามอง และตั้งคำถามว่าจะมีผลกระทบ หรือความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นหลังจากคำสั่งดังกล่าวเป็นผลหรือไม่ ซึ่งหลังจากคำสั่งมีผลบังคับใช้ไม่นาน ทั้งหน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ต่างเห็นตรงกันว่าสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ ได้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นกว่าในอดีต
พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่า หลังการถอนกำลังทหารจากภาคอื่น กองทัพมุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความสงบในพื้นที่ด้วยตัวเอง
“ประชาชนถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ภายใต้การดูแลประชาชนโดยประชาชนเอง และมีหน่วยงานภาครัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นพี่เลี้ยง และสนับสนุนให้เกิดความพร้อมยิ่งขึ้น โดยการฝึกทบทวนกำลังประจำถิ่น และกำลังประชาชนนี้ จะได้พัฒนาการฝึกให้สอดคล้องในการรับมือ และยับยั้งสถานการณ์ที่พัฒนารูปแบบในการก่อเหตุที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน” พล.ท.ปิยวัฒน์กล่าว
พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนของหน่วยราชการได้บูรณาการ 3 ภาคส่วน คือ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ร่วมกับภาคประชาชน โดยแบ่งกำลังในการดูแลความปลอดภัย ขณะที่ประชาชนรับผิดชอบดูแลบ้าน ดูแลครอบครัว โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะผู้ปกครองท้องที่ เป็นผู้รับผิดชอบดูแลประชาชนร่วมกับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน
หลังการถอนกำลัง เจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 4 ตำรวจ กองกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดน อาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (อรบ.) ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ได้จัดการฝึกทบทวนการใช้อาวุธ ยุทธวิธี พัฒนาทักษะ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน การดูแลประชาชน ถนน และสถานที่ราชการ
นอกจากนี้ ยังฝึกการบำรุงรักษา การปฐมพยาล การช่วยเหลือผู้ป่วย การติดต่อสื่อสาร และงานด้านการข่าว เพื่อสนองนโยบายของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า
และเพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่สงบที่อาจเกิดขึ้นใน ปีงบประมาณ 2560 ฝ่ายความมั่นคงก็ได้เปิดรับสมัครกำลังพลที่จะเข้ามาปฎิบัติในหน้าที่อีกด้วย
พล.ต.เกื้อกูล อินนาจักร์ รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า การให้ประชาชนฝึกยุทธวิธี เป็นไปตามแนวคิดเพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งทำผ่านมาวิธีดังกล่าวทำให้สถานการณ์ในจังหวัดยะลามีแนวโน้มที่ดีขึ้น
“ปัจจุบัน สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดยะลามีความสงบเรียบร้อยมากขึ้นตามลำดับ สถิติเหตุการณ์ และการสูญเสียลดลงอย่างมีนัยสำคัญ” พล.ต.เกื้อกูลกล่าว
“เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นมาอย่างยาวนาน ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมาย คือ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ถูกยิง ถูกฆ่าตายในรูปแบบต่างๆ ทรัพย์สินทางราชการเสียหาย จึงจำเป็นต้องให้ประชาชนในพื้นที่มามีส่วนร่วมในระบบการรักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ในการดูแลรักษาความสงบในหมู่บ้านของตนเอง และมาเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร ซึ่งคนในพื้นที่นั้นจะช่วยได้มาก” พล.ต.เกื้อกูล กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายพงษ์พันธ์ ยมมาศ นายอำเภอรามัน จังหวัดยะลา กล่าวว่า ในพื้นที่อำเภอรามันได้จัดการฝึกยุทธวิธีให้ประชาชนเพื่อสนองนโยบายของ กอ.รมน. แล้ว หลังจากมีคำสั่งถอนกำลัง ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพของประชาชนด้วย
“ในการฝึกทบทวนหน่วยกำลังประจำถิ่น และกำลังประชนในพื้นที่ เป็นไปตามนโยบายของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยหวังพัฒนาศักยภาพของกำลังพล และด้วยสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อเหตุ ให้มีความหลากหลาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่กำลังพลจะต้องปรับเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยยุทธวิธี เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ทัดเทียมเท่ากัน” นายพงษ์พันธ์กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ขณะเดียวกันนายสนธยา หนึ่งในชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านพื้นที่จังหวัดยะลากล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่รัฐฝึกยุทธวิธีให้กับอาสาสมัคร เนื่องจากจะทำให้มีความพร้อมในการป้องกันประชาชน
“ถือเป็นเรื่องดีที่ได้ทบทวนบ่อยๆ มั่นใจว่าเมื่อมีการถอนกำลังออกจากพื้นที่บางส่วน ก็สามารถปกป้องประชาชนได้ แต่เท่าที่ทราบถอนกำลังจากภาคอื่นกลับไปในพื้นที่ ก็มีการประกาศรับสมัครเพิ่มอีกจำนานมากเช่นเดียวกัน” นายสนธยากล่าวแก่เบนาร์นิวส์
สำหรับความเห็นฝ่ายรัฐบาลต่อคำสั่งถอนกำลังทหารภาคอื่นออกจากพื้นที่ภาคใต้นั้น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ครั้งที่ 1/2559 ที่ กอ.รมน. จังหวัดปัตตานีว่า การถอนกำลังพล 8 พันนายออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จะไม่กระทบกับการทำงาน เพราะเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนรู้หน้าที่ของตนเองดี และกองพลทหารราบที่ 15 ได้เตรียมความพร้อมนำกำลังขึ้นทดแทนหมดแล้ว เพราะฉะนั้น การถอนกำลังทหารภาคอื่นกลับจึงไม่ส่งผลกระทบ และยังทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในปี 2559 ลดน้อยลงกว่าปี 2558 อีกด้วย