ศาลยกฟ้องผู้นำเข้าเครื่องตรวจระเบิดปลอมรุ่น Alpha 6 ขายให้รัฐ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และมารียัม อัฮหมัด
2018.03.28
กรุงเทพฯ และปัตตานี
180328-TH-airport-1000.JPG นักท่องเที่ยวเข้าแถวเพื่อเช็คอิน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ วันที่ 16 มกราคม 2561
รอยเตอร์

ศาลแขวงดอนเมือง ในวันพุธนี้ ได้ตัดสินยกฟ้องข้อหาฉ้อโกงต่อ บริษัท แจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าอุปกรณ์ค้นหาระเบิด/ยาเสพติดปลอม รุ่น Alpha 6 จากประเทศอังกฤษ ซึ่งจัดจำหน่ายให้กับหน่วยงานของรัฐบาลไทย ช่วงปีงบประมาณ 2550-2552 เพราะโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบริษัทฯ มีเจตนากระทำการอันเป็นเท็จ

ในคดีหมายเลขดำ อ.1768/2560 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ในเดือนตุลาคม ปี 2560 ต่อบริษัท แจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบกิจการประเภทขายส่งเครื่องจักร อุปกรณ์ภัณฑ์ เป็นจำเลยนั้น เพื่อชี้มูลการกระทำผิด ศาลเห็นว่า แม้ว่าผู้ผลิตต่างประเทศจะผลิตสินค้าปลอม แต่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยจงใจโฆษณาเท็จ

“พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอที่จะให้เชื่อได้ว่า จำเลยรู้เห็นเกี่ยวกับการจัดทำแคตตาล๊อกแสดงคุณสมบัติเครื่องอันเป็นเท็จ แต่บริษัทจำเลยเพียงนำเข้าเครื่องและเอกสารจากบริษัทคอมแทร็ค มาจำหน่ายเท่านั้น ซึ่งโจทก์ไม่มีพยานอื่นยืนยันได้ว่าจำเลยกระทำผิด โดยจำเลยอาจไม่ล่วงรู้มาก่อนว่าข้อความนั้นเป็นเท็จ หรือร่วมกับบริษัทผู้ผลิตกระทำการอันเป็นเท็จ ดังนั้นจำเลยจึงยังไม่มีความผิด พิพากษาให้ยกฟ้อง” ตอนหนึ่งของคำตัดสินระบุ

ด้านนายคมสัน ศรีวนิชย์ ทนายความบริษัทแจ๊คสันฯ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ทางบริษัทฯ จะรอดูว่าทางฝ่ายโจทก์จะอุทธรณ์คดีหรือไม่

“...ในส่วนบริษัทผู้ผลิตเครื่องก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง แยกกัน ทั้งนี้ จะมีการอุทธรณ์คดีต่อหรือไม่ก็เป็นสิทธิของพนักงานอัยการ” นายคมสัน กล่าว

ในสำนวนฟ้อง บริษัทแจ๊คสันฯ ได้ขายอัลฟ่า 6 ให้กับศูนย์รักษาความปลอดภัย และบริษัทรักษาความปลอดภัยแห่งหนึ่ง ซึ่งนอกจากลูกค้าสองรายนี้แล้ว ยังมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและกระทรวงมหาดไทยอีกด้วย

ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการตรวจสอบอุปกรณ์แบบ Alpha 6 และ แบบ GT200 พบว่าไม่มีประสิทธิภาพจริง โดยทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พบว่า ตัวเครื่องเป็นเพียงพลาสติกแข็งสองอันประกบกัน ไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถจับสัญญาณวัตถุระเบิดหรือสารเสพติดได้ และไม่มีตัวส่งสัญญาณสนามแม่เหล็กกับเข็มทิศที่ใช้ได้จริงกับตัวเครื่อง ส่วนเมมโมรี่การ์ดภายในก็เป็นกระดาษอัดเท่านั้น

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวัง สถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า หลังมีเรื่องอื้อฉาว ได้มีการยุติการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวในสามจังหวัดชายแดนใต้

"ตอนนี้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็ไม่ใช้แล้ว เพราะไม่ได้ผลอะไร มีการดำเนินคดีกับแหล่งผลิตด้วย และข้อมูลด้านการทดลองของทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีคุณภาพจริงอย่างที่ว่า" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ทางดีเอสไอ ได้รับการจัดซื้ออุปกรณ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพและมีราคาแพงเกินจริงเป็นคดีพิเศษ และได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) พิจารณาเพื่อชี้มูลการกระทำผิด ในปี 2555 แต่เรื่องยังค้างอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ โดยมีผู้ถูกกล่าวหาตำแหน่งสูงสุดในระดับเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบกเท่านั้น

สำหรับผู้ผลิตอุปกรณ์ปลอมในแบบเดียวกันซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นชาวอังกฤษ ต่างได้ถูกศาลลงโทษฐานฉ้อโกงและซื้อขายอุปกรณ์ปลอมให้กับต่างประเทศ ไปตั้งแต่ปี 2556

โดยเมื่อปี 2556 นายแกรี่ โบลตัน ผู้ผลิต จีที200 ถูกจำคุก 7 ปี และยังมีผู้ผลิตสินค้าคล้ายกันรุ่น ADE-651 อีกราย คือ นายเจมส์ แมคคอร์มิก ก็ถูกตัดสินจำคุกในปีเดียวกัน เป็นเวลา 10 ปี โดยก่อนหน้านั้น นายเจมส์ ได้ถูกตัดสินยึดทรัพย์สินมูลค่าราว 395 ล้านบาทอีกด้วย

และในเดือนตุลาคม 2557 นายแซมมวล ทรี ผู้ผลิตอัลฟ่า 6 ได้ถูกศาลในโอลด์ไบลี่ย์ ตัดสินจำคุกสามปีครึ่งในข้อหาฉ้อโกง ส่วนภรรยาถูกสั่งให้ทำงานบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ 300 ชั่วโมง

ข้อกังขาในการจัดซื้อของทางหน่วยงานราชการไทย

หลังจากเกิดเหตุความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่เมื่อปี 2547 หน่วยงานของไทย ได้แก่ กองทัพต่างๆ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น ได้จัดซื้ออุปกรณ์ที่โฆษณาว่าสามารถตรวจจับดินระเบิดและยาเสพติดได้จากระยะไกล (Remote substance detector) โดยส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ตามรายงานของไทยรีพับลิกา โดยภาพรวม ในห้วงปี 2548 ถึง 2553 หน่วยงานต่างๆ ของไทยได้ซื้อ Alpha 6 ผลิตโดยบริษัท Comstrac Limited และรุ่น GT200 จากบริษัท Global Technical Limited ซึ่งเป็นบริษัทของประเทศอังกฤษทั้งคู่รวม 1,398 เครื่อง มูลค่า 1,134 ล้านบาท ในราคาเครื่องละ 4.26 แสนบาท จนถึง 1.38 ล้านบาท ทำให้มีการดำเนินการตรวจสอบการจัดซื้อขึ้น โดย ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าว มีราคาเพียงชิ้นละประมาณสามร้อยห้าสิบบาทเท่านั้น

อาจารย์เจษฎาโพสต์ข้อความจากเฟสบุ๊คส่วนตัว ในวันนี้ว่า

จากกรณีที่วันนี้ศาลยกฟ้องคดี "เครื่องตรวจระเบิดลวงโลก อัลฟ่า 6" ซึ่งเป็นรุ่นที่คล้ายคลึงกับเครื่อง GT200 แต่ตัวเล็กกว่า ด้วยเหตุว่า "ยังไม่มีพยานหลักฐาน น้ำหนักเพียงพอให้เชื่อได้ว่า บริษัท ฯจำเลยรู้เห็นเกี่ยวข้อง กับการจัดทำแคตตาล็อกแสดงคุณสมบัติเครื่องตรวจวัตถุระเบิด อันเป็นเท็จที่เกินจริง..." ผมก็เกิดคำถามขึ้นในใจทันทีเลยว่า บริษัทที่เป็นนายหน้าค้าอาวุธเนี่ย เค้าไม่จำเป็นต้องมีวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคอะไรเลยเหรอ ที่จะทำให้เราจัดหาอาวุธได้ถูกต้อง ไม่ถูกหลอกลวง

จากฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ พบว่า นับตั้งแต่ปี 2550-2553 มีหน่วยงานรัฐ 7 หน่วยงาน ที่จัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด แบบ GT200 มาใช้งาน รวมจำนวน 19 สัญญา คิดเป็นวงเงินทั้งสิ้น 688,287.49 บาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ)

จากการตรวจสอบสำนวนการไต่สวนในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พบว่า มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ GT200 รวม 4 สำนวน ผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 42 ราย จำนวนเครื่องที่จัดซื้อ 760 เครื่อง รวมวงเงินทั้งสิ้น 693,726,000 บาท

สำหรับสำนวนการไต่สวนการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ที่ ป.ป.ช.กำลังตรวจสอบอยู่ มีทั้งหมด 4 สำนวน ได้แก่ หนึ่ง กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติดและวัตถุระเบิดจีที200 ของกรมสรรพาวุธทหารบก ปีงบประมาณ 2550-2552 ที่ไม่มีการตรวจสอบราคาที่หน่วยราชการอื่นเคยจัดซื้อ ทำให้กองทัพบกต้องจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวในราคาแพงเกินจริง เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหายใน 12 สัญญา จำนวน 747 เครื่อง วงเงิน 683.9 ล้านบาท มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 39 ราย

สอง กรณีการจัดซื้อเครื่อง GT200 ของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง โดยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิคส์ จำนวน 6 เครื่อง วงเงิน 2.5 ล้านบาท ในราคาแพงเกินจริง สาม กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที200 ของกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท จำนวน 1 ชุด วงเงิน 5.5 แสนบาท ในราคาแพงเกินจริง และ สี่ กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที200 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม จำนวน 6 เครื่อง วงเงิน 6.7 ล้านบาท ในราคาแพงเกินจริง

ทางเบนาร์นิวส์ ได้สอบถามถึงทัศนะกองทัพบกในเรื่องนี้ แต่ทางโฆษกฯ ยังไม่สะดวกในการแสดงความคิดเห็น

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง