อาเจ๊ะห์: การสร้างสันติภาพจะต้องมีการแบ่งปันอำนาจ
2015.10.01

ปรับปรุงข้อมูล 11:00 a.m. ET on 2015-10-02
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา กลุ่มนักวิชาการสามประเทศเอเชียอาคเนย์ที่มีปัญหาการต่อสู้ระหว่าง ชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาล ร่วมสัมมนา ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างความร่วมมือทางวิชาการในการแก้ไขปัญหาความ ขัดแย้งโดยสันติวิธี เพื่อประมวลองค์ความรู้ร่วมสมัย เกี่ยวกับความขัดแย้งและสันติภาพ ในมุมมองของศาสนาอิสลาม และเพื่อสร้างเครือข่ายนักวิชาการและปัญญาชนมุสลิมทั้งในระดับภูมิภาคชายแดน ภาคใต้ของประเทศไทยและในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ ในการสัมมนาที่มีนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ทางการทูต และองค์กรระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ นักการศาสนา นักกิจกรรมภาคประชาสังคม และนักศึกษา เข้าร่วมกว่า 1000 คน ยังมีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง 5 สถาบันการศึกษา จาก 3 พื้นที่ความขัดแย้ง เพื่อพัฒนาความร่วมมือในทางวิชาการ
เบนาร์นิวส์ได้เสนอสาระสำคัญโดยรวม ของการประชุมวิชาการนานาชาติ ไตรสันติภาพบนเส้นทางสังคมมุสลิมอาเซียน (TriPEACE via ASEAN Muslim Societies) ในหัวข้อ “สังคมมุสลิม ความรู้ และการสร้างสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Societies, Knowledge and Peacebuilding in Southeast Asia) นี้ มีขึ้น ณ ห้องประชุมอิหม่าม อัลนาวาวีย์ ชั้น 4 อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และเนื่องจากการประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมเพื่อเชื่อมต่อความรู้ ประสบการณ์ และสานความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันการศึกษาใน 3 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ที่ต่างประสบปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อย โดยหวังขับเคลื่อนด้วยความรู้ กระตุ้นสังคมตระหนักถึงความสำคัญของศาสนาอิสลาม ในการจัดการกับปัญหาด้วยแนวทางสันติ และเปิดกว้างยอมรับต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม อีกภาคของการเสวนาในวันพุธที่ผ่านมา ได้คงสาระสำคัญในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ดังกล่าว โดยนักวิชาการและผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ความขัดแย้งสามแห่ง จากสามประเทศ คือ ศ.ดร.ยุสนี ซาบี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งชาติอัลรา นิรี จากจังหวัดอาเจะห์ เขตปกครองพิเศษของประเทศอินโดนีเซีย ศ.ดร.มาคาปาโด อบาตอน มุสลิม อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมินดาเนา จากหมู่เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ และ ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
องค์ประกอบสำคัญในการปลดปล่อยอาเจะห์
ศ.ดร.ยุสนี ซาบี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งชาติอัลรานิรี (Universitas Islam Negeri Al-Raniry) เขตปกครองพิเศษอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย องค์ปาฐก กล่าวแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ช่วงหนึ่งว่า การจะลดความขัดแย้งได้ ผู้คนต้องมีการศึกษา มีความคิด และใช้อาวุธทางปัญญา การต่อสู้ทางความคิด การปลดปล่อยอาเจะห์ได้นั้น การศึกษามีส่วนสำคัญ เราสามารถมีอำนาจในฐานะส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย คนอาเจะห์สามารถยิ่งใหญ่ได้ไม่ใช่เฉพาะในเกาะของตนเท่านั้น
การสร้างสันติภาพจะต้องมีการแบ่งปันอำนาจ มีการสื่อสารให้เขารู้จักเรา การมีมหาวิทยาลัยที่ดีจะช่วยสร้างกระบวนการสันติภาพ ต้องมีการสร้างสถาบันการศึกษาชั้นสูง ครู อุสตาสต้องเป็นแบบสร้าง มีการบริการด้านสุขภาพที่ดี ข้าราชการไม่ใช่เป็นเจ้านาย ต้องให้การบริการที่ดีต่อประชาชน มีการรักษากฎหมาย ผู้กระทำผิดต้องถูกดำเนินการอย่างเท่าเทียมกัน และมีการสร้างงานเพื่อให้มีเศรษฐกิจที่ดี
“การเมือง นักการเมือง ทุกอย่างคือ การเมือง ดึงคนเข้าหากัน ไม่ใช่แบ่งแยกผู้คน มีนักการเมืองที่ดี โครงสร้างพื้นฐานที่ดี ผู้นำศาสนาที่ดี ผู้นำของเราต้องเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นงานที่ผู้นำจะต้องทำ ในอาเจะห์มีการใช้กฎหมายชาริอะห์ รัฐบาลกลางให้ใช้กฎหมายชาริอะห์ได้”
อาเจะห์เป็นจังหวัดเล็กมาก โจทย์ของเราคือชาวอาเจะห์จะเป็นส่วนหนึ่งของโลกได้อย่างไร เราจะต้องทำให้ชาวอาเจะห์มีความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่ใหญ่อย่างอินโดนีเซีย เราไม่ควรไปจำกัดตัวเอง ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียอาจจะเป็นทางบวกของอาเจะห์ แต่เราอาจจะมีปัญหาทางด้านการบริหารจัดการเท่านั้นเอง เราจะต้องไม่กลัว แต่ต้องส่งเสริมที่จะสร้างมิตรภาพกับประชาคมโลก ไม่ใช้แนวคิดอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว นี่เป็นปรัชญาของชาวอาเจะห์ที่จะทำให้อาเจะห์มีตัวตนในสังคมโลก
กระบวนการสันติภาพมินดาเนา
ศ.ดร.มาคาปาโด อบาตอน มุสลิม อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมินดาเนา (Mindanao State University) ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ฟิลิปปินส์มีความขัดแย้งเป็นเวลา 45 ปี เราสร้างกระบวนการสันติภาพมาอย่างยาวนาน การจะแก้ปัญหามินดาเนานั้น มีสาระสำคัญ คือ การนำสันติสุขเข้ามาให้เป็นหนึ่งเดียว เรายังเป็นส่วนหนึ่งของฟิลิปปินส์ ปัจจุบันรัฐบาลยังดำเนินการไม่สำเร็จ เพราะฟิลิปปินส์เป็นสังคมความหลากหลายทางวัฒนธรรม และวิธีการแก้ปัญหาไม่ได้สะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม เรามีกฎหมายที่ใช้ร่วมกัน แต่ไม่ได้ส่งเสริมให้มีอำนาจในการปกครองตนเอง ดังนั้นทางใต้ของฟิลิปปินส์ยังคงมีเหตุการณ์อยู่
มหาวิทยาลัยของเราเป็นของรัฐที่มีสาขาวิชาจำนวนมาก เราจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพ ตั้งแต่การศึกษา การสร้างความเข้าใจ การหาทางออก การช่วยเหลือ การคิด และการนำไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นการสร้างสันติภาพอย่างมีส่วนร่วม
ที่ผ่านมาเราทิ้งกระบวนการสันติภาพไปให้รัฐบาลทั้งหมด เราทิ้งไว้ให้ภาครัฐและทหารเพียงฝ่ายเดียว แต่การสร้างสันติภาพเราต้องช่วยเหลือกัน ทั้งภาคประชาสังคม กลุ่มศาสนา และสถาบันอุดมศึกษา เราสามารถช่วยเหลือกันและกัน ผู้นำระดับชาติจะต้องให้ทุนสนับสนุน ให้มหาวิทยาลัยแข่งขันได้ วิทยาเขตของเรามี 11 แห่ง ต้องแข่งกับค่ายกบฏของอาบูไซยาฟ ไม่เช่นนั้น เยาวชนจะไปอยู่ในค่ายกบฏหมด ต้องสนับสนุนทุนการศึกษาในเด็ก เราช่วยรัฐบาล รัฐที่มีความหลากหลายไม่ควรให้มีชุมชนชายขอบเกิดขึ้น”
มินดาเนา: ร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร
เมื่อกลางปี 2557 กฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร ฉบับร่าง (The Proposed Bangsamoro Basic Law - BBL) ที่พัฒนาจากกรอบข้อตกลงบังซาโมโร ระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front - MILF) โดย รัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเบนนิโน อากิโน ที่ 3 นำเสนอต่อ รัฐสภาฟิลิปปินส์ ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อพิจารณาใช้เป็นร่างกฎหมายพื้นฐาน ในการก่อตั้งรัฐบาล และกำหนดอำนาจในการปกครองภายใต้หน่วยปกครองใหม่ที่เรียกว่า “บังซาโมโร” โดยจะใช้แทนที่เขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา (Autonomous Region in Muslim Mindanao - ARMM)
และจนถึงวันนี้ ร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร ยังไม่ผ่านสภา เนื่องจากสมาชิกสภาทั้งสองของฟิลิปปินส์ ยังคงมุ่งหน้าจัดเวทีประชาพิจารณ์ นับหลายสิบครั้งแล้ว เพื่อรับฟังความคิดเห็นเชิงสาธารณะ และนำไปปรับปรุงร่างกฎหมาย
จุดหมายปลายทางคือการพูดคุยสันติภาพ
ด้าน ผ.ศ. ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี (Fatoni University) กล่าวว่า มนุษย์ถูกสร้างมาโดยพระเจ้า อัลกุรอ่านถูกประทานลงมาเพื่อเป็นทางนำ เป้าหมายและจุดหมายปลายทางสูงสุด คือ สันติภาพ สันติภาพมาพร้อมความยุติธรรม อิสลามเป็นศาสนาสะอาด บริสุทธิ์ ท่านให้ความเป็นธรรม และเสมอภาค บางครั้งเป็นการถอยเพื่อตั้งหลัก ไม่ใช่เพื่อความแค้น ฝ่ายศัตรูต้องการทำลาย แต่ท่านนบีไม่ต้องการให้เกิดสงคราม ให้เรียนรู้การปฏิบัติจากท่าน ต้องการให้มีการพูดคุยใช้ความสันติในการดำรงชีวิต มีโองการเกี่ยวกับสันติภาพมากมายในอัลกุรอ่าน
“การขจัดความป่าเถื่อน หรือความไร้ระบบควรอยู่บนพื้นฐานของอัลกุรอ่าน และสุนนะห์ ที่มหาวิทยาลัยจึงจัดให้มีรายวิชาทางด้านสันติ อยากให้นักศึกษาจัดกิจกรรมสันติภาพ อยากให้มีการแลกเปลี่ยนสันติภาพในทุกหน่วยงาน เพื่อให้ชีวิตมีสันติ พยายามผลิตสื่อต่างๆที่มุ่งก่อให้เกิดการสร้างสันติ สนับสนุนให้มีการอ่านคุตเบาะห์วันศุกร์ เพื่อสร้างสันติภาพจะเกิดขึ้น สนับสนุนให้รัฐบาลใช้โรดแม็บเพื่อสร้างสันติภาพ”
นอกจากนี้ ในการสัมมนาที่มีนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ทางการทูต และองค์กรระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ นักการศาสนา นักกิจกรรมภาคประชาสังคม และนักศึกษา เข้าร่วมกว่า 1000 คน ยังมีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง 5 สถาบันการศึกษา จาก 3 พื้นที่ความขัดแย้ง เพื่อพัฒนาความร่วมมือในทางวิชาการ
การประชุมไตรสันติภาพครั้งนี้เป็นการริเริ่มครั้งแรก และในปีต่อไปมีการตกลงว่าจะจัดขึ้นอีกครั้งที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์