ศาลทหารตัดสินจำคุกนายธารา 20 ปี ในคดีหมิ่นเบื้องสูง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.08.09
กรุงเทพฯ
TH-royal-1000 ประชาชนเข้าแถวเพื่อตักบาตรพระ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ลานพระราชวังดุสิต กรุงเทพฯ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2560
เอเอฟพี

ในวันพุธ (9 สิงหาคม 2560) นี้ ศาลทหาร กรุงเทพฯ ตัดสินลงโทษจำคุกนายธารา (สงวนนามสกุล) ในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเวลา 18 ปี 24 เดือน เหตุมาจากการเผยแพร่คลิปเสียงพูดของดีเจบรรพต นักจัดรายการทางอินเตอร์เน็ตของคนเสื้อแดงที่มีเนื้อหาอาจเข้าข่ายดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความของนายธารา เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า นายธารา อายุ 59 ปี ถูกตัดสินว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการกระทำผิด 6 กรรม ศาลตัดสินลงโทษจำคุก 5 ปีต่อ 1 กรรม แต่เนื่องจากรับสารภาพจึงลดโทษเหลือ 1 ใน 3 คือ 3 ปี 4 เดือนต่อความผิด 1 กรรม รวมถูกตัดสินลงโทษจำคุก 18 ปี 24 เดือน

“คุณธาราเขาขายสมุนไพร รับเฝ้าหอพัก และรับรักษาคนด้วยสมุนไพร ที่ผ่านมาไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาทำบล็อกเกี่ยวกับสมุนไพร จึงเอาคลิปเสียงของบรรพตที่พูดเกี่ยวกับสมุนไพรมาแชร์ต่อในบลอกของตัวเอง 6 คลิป จึงทำให้ถูกจับ ซึ่งเคสนี้ค่อนข้างจะต่างจากเคสอื่น” น.ส.ศศินันท์กล่าวเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

“คุณธารารู้สึกว่า ขนาดตัวบรรพตเองยังถูกลงโทษแค่ 1 กรรม ติดคุก 5 ปี และถูกปล่อยตัวไปแล้ว จึงหวังจะได้รับการรอลงโทษ ซึ่งเมื่อศาลตัดสินแบบนี้ ทางลูกความรับสารภาพก็ไม่ได้สู้คดีต่อ หลังจากนี้ คุณธาราก็หวังว่าจะได้รับอภัยโทษในเดือนตุลาคมนี้” น.ส.ศศินันท์กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ตามรายงานหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ดีเจบรรพตหรือนายหัสดิน อุไรไพรวัน ถูกจับกุมในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ได้รับสารภาพต่อการกระทำผิด

ส่วนนายธารา ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวในวันที่ 25 มกราคม 2558 โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ก่อนถูกส่งตัวเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯในวันที่ 30 มกราคม 2558 ถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) มาตรา 14 (1) (3) (5) จากการนำลิ้งค์คลิปเสียงของนายบรรพตที่อาจมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ มาเผยแพร่บนเว็บไซต์ www.okthai.com ของตนเอง

หลังจากคดีเข้าสู่ชั้นศาล เบื้องต้น นายธาราให้การปฎิเสธ แต่เนื่องจากถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปีแล้ว แต่การสืบพยานสามารถทำได้เพียง 2 ปาก นายธาราจึงตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ เพื่อหวังให้คดีจะสิ้นสุดโดยเร็ว โดยคำร้องสารภาพขอให้มีการลงโทษสถานเบา และให้รอการลงโทษ แต่ศาลเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งกระทบความรู้สึกประชาชนอย่างร้ายแรง คดีนี้ศาลกำหนดโทษสถานเบาอยู่แล้ว (โทษจำคุกสูงสุด 15 ปี) จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษอีก

ศาลฎีกาสั่งจำคุก บ.ก.ลายจุด สองเดือนแต่ให้รอลงอาญา

ในวันเดียวกันศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง มีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ไปรายงานตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 โดยให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับเงิน 3,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

เจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (สงวนนาม) เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ผ่านทางโทรศัพท์ว่า ทนายความได้ยื่นฎีกาในประเด็นหลักว่า คสช. ไม่มีอำนาจเรียกให้ประชาชนเข้ารายงานตัว เนื่องจากยังทำรัฐประหารไม่สำเร็จ และยังไม่ใช่รัฎฐาธิปัตย์ซึ่งศาลพิพากษาแล้วพบว่า คสช. ทำรัฐประหารสำเร็จ และมีอำนาจรัฎฐาธิปัตย์ ข้อฎีกาจึงตกไป

“ทนายยืนฎีกาในประเด็นว่า คสช. ยังทำรัฐประหารไม่สำเร็จ จึงไม่มีอำนาจรัฎฐาธิปัตย์เรียกคนไม่รายงานตัวได้ ซึ่งศาลเห็นว่า การรัฐประหารเสร็จสำเร็จแล้ว คสช. จึงมีอำนาจเรียกรายงานตัว ประเด็นที่สองคือ การรัฐประหารถือว่าสำเร็จถ้าไม่มีประชาชนต่อต้าน ซึ่งศาลเห็นว่าไม่พบหลักฐานการต่อต้านจากประชาชนและหน่วยราชการ” เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวระบุ

“ส่วนในประเด็นที่สาม ทนายฎีกา โดยอ้าง คสช. ยังไม่มีอำนาจ เนื่องจากพระมหากษัตริย์ยังไม่ได้ลงพระปรมาภิไธยรับรอง การทำรัฐประหารของ คสช. ซึ่งศาลพิจารณาว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มีเงื่อนไขในเรื่องนี้ จึงถือว่าการทำรัฐประหารสำเร็จแล้วตั้งแต่วันที่ คสช.ประกาศ” เจ้าหน้าที่รายเดิมกล่าว

นายสมบัติ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวในวันที่ 5 มิถุนายน 2557 หลังจากไม่ยอมไปรายงานตัวกับ คสช. ตามคำสั่ง คดีจึงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยศาลชั้นต้นพิพากษาว่านายสมบัติไม่มีความผิดในการไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. แต่ในศาลอุทธรณ์เห็นว่า นายสมบัติมีความผิด ซึ่งในวันพุธนี้ ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

หลังการยึดอำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จากการรวบรวมของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw) พบว่า มีประชาชนถูกเรียกไปรายงานตัว-เยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,319 คน  ถูกจับกุมในยุคคสช. อย่างน้อย 597 คน  ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 82 คน  ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 64 คน  พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 300 คน มีกิจกรรมถูกปิดกั้น-แทรกแซง อย่างน้อย 152 ครั้ง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง