ศาลขอนแก่นจำคุก ไผ่ ดาวดิน 5 ปี คดี ม.112 แชร์ข่าวบีบีซี
2017.08.15
ขอนแก่น

ในวันอังคาร (15 สิงหาคม 2560) นี้ ศาลจังหวัดขอนแก่น ตัดสินจำคุกนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังตัดสินใจสารภาพ เป็นเวลาสองปีหกเดือน จากการแชร์รายงานข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” บนหน้าเฟซบุ๊คของตนเอง
ทั้งนี้ นายจตุภัทร์ ได้ตัดสินใจรับสารภาพในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) อย่างกระทันหันในช่วงเช้าของวันอังคารนี้ ศาลจึงตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นการลดโทษกึ่งหนึ่งจากโทษเต็ม 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในเวลา 16.00 น.
นายกฤษฎางค์ นุชจรัส ทนายความของนายจตุภัทร์ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังฟังคำพิพากษาว่า บิดา มารดา และตัวนายจตุภัทร์เองได้ตัดสินใจร่วมกันให้นายจตุภัทร์รับสารภาพ และแจ้งให้ศาลทราบในช่วงเช้า ศาลจึงงดการสืบพยานโจทก์ตามกำหนดเดิม
“จำคุกคุณไผ่ ตามมาตรา 112 กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่เนื่องจากเป็นความผิดกรรมเดียว แต่มีความผิดหลายบท คือลงโทษบทหนักที่สุด มาตรา 112 ลงโทษ 5 ปี แต่รับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาลดโทษให้คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา โทษจำคุกนับจากวันที่ถูกเพิกถอนการประกัน 22 ธันวาคม ปีที่แล้ว คุณไผ่ถูกจำคุกมาแล้วประมาณ 8 เดือน” นายกฤษฎางค์กล่าว
“ไผ่ยอมรับว่าเขาเป็นคนแชร์ข้อมูลบางส่วน คือบีบีซีไทยมีบทความเต็ม เขาเลือกบางส่วนเพื่อมาแชร์ พร้อมกับคนอื่นอีกสองพันกว่าคน โดยเขาคิดว่าสิ่งที่เขาทำ ไม่ได้เป็นความผิดทางกฎหมาย เขาไม่ได้ต่อสู้ว่าเขาไม่ได้ทำ แต่เป็นเหมือนการวิตกกังวลต่อสายตาคนต่างชาติ ผู้สื่อข่าวต่างชาติที่มองการเมืองไทย และสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งเป็นข้อที่เขาก็กังวล และคิดว่าสังคมน่าจะตรวจสอบความจริงมากกว่าลงโทษเขา” นายกฤษฎางค์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของนายจตุภัทร กล่าวต่อสื่อมวลชนหลังทราบคำพิพากษาว่า ครอบครัวจะยังไม่ยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้จนกว่ากระบวนการยุติธรรมจะมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเชื่อว่า ถ้าหากการตัดสินคดียังมีแนวโน้มแบบเดิมก็ไม่มีประโยชน์ที่จะอุทธรณ์
“เราพยายามทำตามสิทธิที่เรามี แต่เราถูกจำกัดสิทธิ เขาสู้มาตั้งนานแล้ว แต่การต่อสู้มันไปถูกบีบให้ต่อสู้ในมุมอับ คือ อันแรกพิจารณาลับ ไผ่พยายามจะต่อสู้ให้สังคมเห็นว่าจริงๆ มันเป็นยังไง แต่ตรงนี้ถูกปิด สอง สิทธิในการประกันตัวมันล้มเหลว ขณะที่องค์กรระหว่างประเทศกดดัน แต่ไม่สามารถแตะกระบวนการตรงนี้ได้” นายวิบูลย์กล่าว
“ไผ่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อไผ่นะ เขาต่อสู้เพื่อลูกคนอื่น เพื่อประชาชนที่มีโอกาสโดนแบบนี้เหมือนกัน หรือหลายคนก็โดนอยู่ การต่อสู้ตรงนี้เพื่อส่วนรวม เพื่อดูกันว่าสังคมจะเป็นยังไงโดยเขาเป็นเหยื่อ” นายวิบูลย์กล่าว
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw) ระบุว่า หลังการรัฐประหารโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 82 คน มีผู้ที่ถูกตัดสินจำคุกแล้ว 38 คน อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 35 คน ได้รับการยกฟ้อง 7 คน และไม่มีข้อมูลคดี 2 คน
นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์ในวันนี้ว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการผู้ต่อต้านรัฐบาล
“ดูทางการไทยได้เลือกที่จะดำเนินคดีกับไผ่ ดาวดิน เพียงคนเดียวจากคนที่แชร์รายงานชิ้นเดียวกันนับพันคน เพราะว่าไผ่เป็นคนที่ต่อต้านทหารอย่างเข้มแข็ง มากกว่าเหตุผลที่ว่าได้สร้างความระคายเคืองต่อสถาบันกษัตริย์” นายแบรด กล่าว
ในเรื่องนี้ หลังจากนายจตุภัทร์ ถูกจับกุมในปี 2559 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ได้กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า ประชาชนควรรู้ว่าการกระทำอันใดเป็นการบังควรหรือไม่ และรัฐบาลจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด
“เชื่อมั่นว่าทุกคนรู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ทางที่ดีอย่าแชร์ต่อ ถ้าท่านแชร์ต่อหรือท่านกดไลค์หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็แสดงว่าท่านสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย” พลโทสรรเสริญ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
ไผ่ ดาวดินและคดีแชร์รายงานบีบีซี
นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐบาลในนาม “กลุ่มดาวดิน” และเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร โดย คสช.ในฐานะสมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่อีสาน
นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของไผ่ ดาวดิน กำลังพูดคุยกับผู้สื่อข่าว หลังทราบคำพิพากษา วันที่ 15 สิงหาคม 2560 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)
นายจตุภัทร์ ถูกจับกุมตัวที่จังหวัดชัยภูมิ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2559 หลังการเผยแพร่รายงานข่าวของสำนักพิเศษของบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” บนเฟซบุ๊คส่วนตัวหนึ่งวันก่อนที่จะถูกจับกุม โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า การกระทำของนายจตุภัทร์ อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หนึ่งวันต่อมานายจตุภัทร์ได้รับประกันตัวด้วยวงเงิน 4 แสนบาท
กระทั่งวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลมีคำสั่งถอนสิทธิการประกันตัวด้วยเหตุผลว่า นายจตุภัทร์มีพฤติกรรมยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน และเย้ยหยันอำนาจรัฐ นับจากนั้น นายจตุภัทร์จึงถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นจนถึงปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลาที่นายจุตภัทร์ถูกควบคุมตัว องค์กรสิทธมนุษยชนหลายองค์กรได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนายจตุภัทร์ เนื่องจากเชื่อว่ากระบวนการควบคุมตัวไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล โดย องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) และประชาชนไทยในนาม “กลุ่มประชาชนผู้ห่วงใย” ได้ส่งจดหมายแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ถึงรัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน
ระหว่างถูกควบคุมตัว นายจตุภัทร์ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2560 จากประเทศเกาหลี ในฐานะบุคคลที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยบิดา-มารดาของนายจตุภัทร์เป็นผู้เดินทางไปรับรางวัลแทน
นอกจากคดีนี้แล้ว นายจตุภัทร์ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 4 คดี โดยความผิดก่อนหน้าเกี่ยวกับการขัดขืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเลขที่ 3/2558 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ความผิดเกี่ยวกับการรณรงค์การออกเสียงประชามติที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และความผิดเกี่ยวกับการจัดงาน “พูดเพื่อเสรีภาพ” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น