โรงเรียนในจังหวัดยะลาร่วมจัดกิจกรรมเกษตรพอเพียงแก่นักเรียน

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.11.25
ยะลา
TH-students-620 นักเรียนโรงเรียนในพื้นที่ยะลา ทดลองการเพาะเมล็ด ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนโครงการเกษตรอาหารกลางวัน วันที่ 21 พฤศจิกายน 2559
เบนาร์นิวส์

โรงเรียนในจังหวัดยะลา ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยเน้นการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการปลูกผัก เพื่อลดค่าใช้จ่ายของครอบครัว ในการซื้อวัตถุดิบประกอบอาหาร

นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผู้ร่วมจัดโครงการ ได้เปิดเผยในวันจันทร์  (21 พ.ย. 2559) นี้ว่า “กิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อน “โครงการเกษตรอาหารกลางวัน” เพื่อช่วยแก้ปัญหาเศษรฐกิจตกต่ำ ราคายางถูก และลดรายจ่ายผู้ปกครอง โดยโรงเรียนที่ร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต คือ เมล็ดพันธุ์ผัก 5 ชนิด และปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งจะถูกแจกจ่ายนักเรียนของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการสนำกลับไปทดลองปลูกที่บ้านของตนเองได้ กิจกรรมนี้ จัดขึ้นให้กับตัวแทนจากโรงเรียนในจังหวัดยะลา 26 โรงเรียน จำนวน 108 คน ซึ่งเป็นนักเรียน 82 คน และครู 26 คน

“เพื่อสนองพระราชดำริตามสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านโภชนาการจะนำไปสู่การเจริญเติบโตและส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ ให้เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ อีกทั้งเพื่อลดรายจ่ายผู้ปกครอง” นายกู้เกียรติ กล่าว

โครงการนี้ ยังจัดขึ้นเพื่อเป็นการขยายผลโครงการที่ประสบผลสำเร็จจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ไปยังโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา และโรงเรียนประถมทั่วจังหวัดยะลา เป็นการสนองตามนโยบายในพระราชดำริ เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับเยาวชน และสร้างความปลอดภัยให้กับอาหารกลางวันของโรงเรียน โดยภาครัฐจะพยายามให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และจะขยายผลปีละ 25 โรงเรียน ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 185 โรงเรียน

ตามตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2558 ประชากรในจังหวัดยะลา ที่ประชากรส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการเกษตรกรรม เช่น สวนยางพารา และสวนผลไม้ เป็นต้น มีรายได้ครัวเรือนต่อเดือนเพียง 15,584 บาท ดีกว่าจังหวัด อื่นๆ เพียงสามจังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน

นายโชคดี วิรุณกาญจน์ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา กล่าวว่า กิจกรรมส่งเสริมการปลูกผักครั้งนี้ จะเป็นตัวช่วยพัฒนาสุขภาพร่างกายของเยาวชนได้

“เป็นพระราชดำริตามของสมเด็จพระเทพฯ ท่านเป็นห่วงเรื่องสุขภาพของเด็กและเยาวชน เพราะถ้าเด็กขาดโภชนาการ จะทำให้ร่างกายไม่สมบูรณ์ ทำให้สติปัญญา แนวความคิด บกพร่องได้ ทางกระทรวงเกษตรจึงสนองนโยบายนี้ โดยการจัดโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันเข้ามาดำเนินการในโรงเรียน ตชด.” นายโชคดีกล่าว

“กิจกรรมหลักที่เราดำเนินการคือ ให้ความรู้การเกษตรพื้นฐานแก่นักเรียน เพราะปัญหาเด็กขาดความสนใจความรู้ด้านการเกษตร เราจึงให้เด็กเข้ามาเรียนรู้ เช่น การยกร่องก่อนการปลูกผัก การขุดหลุม การเพาะเมล็ด ระยะเวลาในการปลูก ทำการสอนเด็กๆ ให้รู้ทั้งหลักทฤษฎีและการปฎิบัติ เพื่อให้เกิดทักษะและความมั่นใจ และนำเมล็ดพันธุ์กลับไปทดลองปลูกได้ ให้เมล็ดพันธุ์แก่เด็ก ๆ เพื่อนำไปทดลองปลูกที่บ้าน ตามวิธีที่ได้เรียนรู้” นายโชคดี กล่าวเพิ่มเติม

นางสาวภัทรภร ชูปาน ครูจากโรงเรียนลำพะยาประชานุเคราะห์ กล่าวว่า ครูที่ได้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้จะได้นำโครงการไปขยายผลดำเนินงานต่อในแต่ละโรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้เกิดผลจริง คือ ความเข้าใจของนักเรียน

“โรงเรียนเราจะมีการประกวดการปลูก เพื่อให้เด็กๆ เกิดการแข่งขัน และเป็นการกระตุ้นให้เด็กมีความกระตือรือร้น พร้อมเชิญทางคณะเกษตรอำเภอ และจังหวัดเข้าไปติดตามผลการดำเนินงาน และประเมินผล หลังจากที่คณะฯได้ประเมินผล โครงการนี้มีการตอบสนองที่ดีจากนักเรียน และประสบความสำเร็จ 90 เปอร์เซ็นต์ นำไปสู่การปฎิบัติได้จริงอีกด้วย” นางสาวภัทราภรกล่าว

นางสาวจันทร์จิรา เลิศลิ้ว นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกล่าวว่า การเข้าร่วมกิจกรรมทำให้ได้รับความรู้ และจะได้นำความรู้นี้ไปปรับใช้กับครอบครัว

“กิจกรรมนี้ ทำให้ตนเองและเพื่อนนักเรียนอีกหลายโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลา ได้รับและนำปรัชญาของในหลวงเป็นแนวทางในการทำเกษตร ปลูกพืชผักพอเพียงช่วยตัวเองได้ และยังได้นำมาเมล็ดพันธุ์มาปลูกที่บ้านเป็นการเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว ทั้งได้นำความรู้ดังกล่าวไปสอนให้ชาวบ้านได้รับแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปด้วย” นางสาวจันทร์จิรากล่าว

นักเรียนโรงเรียนในพื้นที่ยะลา ร่วมกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขับเคลื่อนโครงการเกษตรอาหารกลางวัน วันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 (เบนาร์นิวส์)

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง