คสช. ศึกษาแนวทางขึ้นทะเบียนนักเรียน-นักเลงไว้เป็นทหารเกณฑ์
2016.07.01
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์ (1 ก.ค. 2559) นี้ พันเอกปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยหลังการประชุมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ที่กองบัญชาการกองทัพบกว่า ในที่ประชุมได้มีการเสนอแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหานักเรียนยกพวกทะเลาะวิวาท หรือนักเรียน-นักเลง ว่า อาจนำนักเรียนที่มีปัญหามาขึ้นทะเบียนทหารเกณฑ์ และเมื่อถึงอายุเกณฑ์ในช่วง 18-20 ปี จะให้รับราชการทหารทันที โดยไม่ต้องผ่านการคัดเลือก
พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ ผ่านทางโทรศัพท์ว่า แนวคิดดังกล่าวถูกเสนอขึ้น โดยเชื่อว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าการนำนักเรียนที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทไปคุมขัง แต่อย่างไรก็ดี แนวคิดดังกล่าวจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงความเหมาะสมและข้อกฎหมาย
“การแก้ปัญหานักเรียนทำร้ายกัน ซึ่งมีสาเหตุที่หลากหลาย และการแก้ปัญหาที่ผ่านมายังไม่บรรลุผลเท่าที่ควร ที่ประชุมตั้งโจทก์ว่า พอจะมีทางแก้ไขปัญหาแนวอื่นไหม ที่ดีกว่าการติดคุกติดตาราง ก็อาจจะต้องเป็นขึ้นบัญชีรายชื่อเอาไว้ เมื่ออายุถึงก็เข้าเป็นทหารเลย เป็นแนวคิดซึ่งต้องไปดูข้อกฎหมาย ยังไม่ได้ดำเนินการ” พ.อ.ปิยพงศ์กล่าว
จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2551 มีแจ้งเหตุนักเรียนทะเลาะวิวาท 639 ครั้ง ปี 2552 มีรายงาน 2619 ครั้ง ปี 2553 ครึ่งปี มีรายงาน 881 ครั้ง ขณะที่รายงานการเสียชีวิตจากการทะเลาะวิวาทในปี 2554 มี 26 ราย
“เป็นแนวคิดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับทุกส่วนทุกฝ่ายที่จะมีส่วนร่วมช่วยกัน ภาคสังคม ภาคประชาชน มากกว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น หรือการลงโทษ” พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าว
ในปี 2559 กระทรวงกลาโหมรับกำลังพล 101,307 คน ขณะที่ปี 2558 ที่ต้องการกำลังพล 99,379 คน โดยสำหรับปี 2559 มีผู้ร้องขอเป็นทหารเกณฑ์ 47,172 คน หรือ 46.56% แยกเป็นทหารบก 36,637 นาย ทหารเรือ 5,423 นาย และ ทหารอากาศ 5,112 นาย ขณะที่มีคนหลีกเลี่ยงขัดขืนที่ส่งเข้ากองประจำการ 1,399 คน ถูกเลือกเป็นทหารโดยการจับสลากแดง 52,736 คน
ความเห็นนักเรียน นักศึกษา และครูต่อแนวทางแก้ปัญหานักเรียน-นักเลง ของ คสช.
นายพงศ์สุวรรณ สุวรรณหงษ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกำแพงแสนวิทยาเชื่อว่า แนวคิดที่คล้ายจะเป็นการลงโทษนักเรียนที่ประพฤติตัวไม่ดีนี้ อาจกลายเป็นข้อได้เปรียบสำหรับคนที่มีความต้องการจะเป็นทหารอยู่แล้วก็ได้
“ข้อดีถ้าคนคิดจะเป็นอยู่แล้ว มันก็ไม่ถือเป็นการลงโทษ เพราะอยากจะเป็นเองอยู่แล้ว แต่คนส่วนมากมันไม่อยากเป็นหรอกทหาร เพราะมันเสียเวลาชีวิต มันก็เลยจะดีตรงที่ว่าพวกที่ไม่อยากเป็นทหารจะไม่ทะเลาะอีกเลยถ้าเจอกฎนี้” นายพงศ์สุวรรณ
ส่วน นายปิยะลาภ เตียรธิติ ครูจากโรงเรียนกำแพงแสนวิทยา กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า แนวคิดดังกล่าว น่าจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีนัก เนื่องจากปัญหานักเรียน-นักเลง และการเกณฑ์ทหารเป็นคนละเรื่องกัน
“คิดว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะการทะเลาะวิวาทกับการเกณฑ์ทหารเป็นคนละเรื่อง และไม่มีความใกล้เคียงกัน คิดว่าไม่ใช่แนวคิดที่้เหมาะสม และไม่สามารถแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ได้จริง รวมทั้ง อาจจะเป็นแนวทางที่หนักเกินไปสำหรับคนที่ร่างกายไม่พร้อม” นายปิยะลาภกล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นางสาวรัชนีกร ณะวงดวง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า เชื่อว่าแนวคิดนี้ดีกว่าส่งเด็กที่มีปัญหาไปคุมขัง เพราะถือเป็นการฝึกระเบียบวินัย แต่คิดว่ารัฐบาลต้องมีมาตรการที่ดีพอ เพื่อรองรับปัญหาที่อาจตามมาในอนาคต
“เห็นด้วย เพราะว่าน่าจะดีกว่าพวกที่โดนจับไปสถานพินิจหรือว่าเข้าคุก อันนี้ได้ไปดัดสร้างวินัย แต่ต้องหาทางแก้ด้วยว่า ถ้าพวกนี้เรียนไม่จบจะแก้ยังไง หรือถ้าเขาหนีการเกณฑ์จะตามตัวยังไง” นางสาวรัชนีกรกล่าว