ตำรวจเห็นควรสั่งฟ้อง ส.ศิวรักษ์ คดี ม.112 ส่งต่ออัยการศาลทหาร

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2017.10.09
กรุงเทพฯ
171009-TH-sulak-1000.jpg นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ พร้อมด้วยทนายความที่หน้าศาลทหาร กรมพระธรรมนูญ 9 ตุลาคม 2560
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์ (9 ตุลาคม 2560) นี้ พนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจนครบาลชนะสงครามได้นำตัว นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ ไปฟ้องต่ออัยการศาลทหาร กรุงเทพฯ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นเบื้องสูง) จากกรณีที่ นายสุลักษณ์พูดพาดพิงถึงการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2557 โดยอัยการศาลทหารนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 7 ธันวาคม 2560

นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เปิดเผยต่อสื่อมวลชน หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวเข้าพบอัยการที่ศาลทหาร กรมพระธรรมนูญ กรุงเทพฯ ว่า การถูกกล่าวหาครั้งนี้ เกิดจากการใช้อำนาจของทหารเพียงเพราะ ทหารไม่ชื่นชอบในการแสดงความเห็นของตนเอง

“วันนี้ตำรวจนำตัวผมให้กับอัยการศาลทหาร เพื่อตรวจสำนวน และดูว่าผมเป็นบุคคลเดียวกับที่ส่งฟ้องไหม พวกเขา (ทหาร) รู้ข้อกฎหมาย แต่พวกเขายังอยากจะทำอะไรที่พวกเขาอยากทำ บางทีพวกเขาอาจจะไม่ชอบผม เพราะผมไม่เคยหุบปาก” นายสุลักษณ์กล่าว

“ผมอยากจะเตือนให้ทุกคนมีความกล้าหาญ อย่าสยบยอมกับเผด็จการต้องมีความกล้าหาญที่จะทำและต้องกล้าพูดความจริง แม้จะต้องสูญเสียอิสรภาพก็จำเป็น เพราะถ้าบ้านเมืองไหนไม่มีสัจจะ ไม่มีความกล้า บ้านเมืองนั้นก็เป็นที่อยู่สำหรับปศุสัตว์ไม่ใช่สำหรับมนุษย์” นายสุลักษณ์ระบุ

นายสุลักษณ์ระบุในจดหมายถึงสื่อมวลชน แสดงความเห็นเกี่ยวกับการถูกกล่าวหาในความผิด ม.112 ครั้งนี้ว่า การกล่าวถึงสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งเป็นกษัตริย์ไทยในสมัยอยุธยาไม่น่าจะเป็นความผิด เนื่องจากเชื่อว่า ม.112 มีอำนาจบังคับใช้คุ้มครองเพียงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความของนายสุลักษณ์ เปิดเผยว่า วันนี้นายสุลักษณ์ได้เดินทางเข้าพบอัยการศาลทหาร และจะมีนัดหมายอีกครั้งในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 เพื่อฟังคำสั่งฟ้องต่อศาลหรือไม่

“ตอนนี้ พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนแล้ว มีความเห็นควรสั่งฟ้อง กฎหมายคือ นำสำนวนพร้อมตัวอาจารย์ส่งอัยการ ในวันนี้ คดีนี้อยู่ในอำนาจศาลทหาร เลยส่งพนักงานอัยการศาลทหาร ข้อหา ม.112 ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ วันนี้ตามขั้นตอนปกติ คือ ตรวจสำนวนแล้วก็รับเรื่องแล้วก็ดูว่า เป็นบุคคลเดียวกับที่ ตร.​ส่งมาหรือเปล่า” น.ส.พวงทิพย์ระบุ

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2560 นายสุลักษณ์เป็นหนึ่งในวิทยากร บรรยายเรื่อง “ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยกล่าวถึง ข้อมูลทางประวัติศาสตร์อ้างว่า การยุทธหัตถีของพระนเรศวรไม่ได้เกิดขึ้นจริง ซึ่งต่อมา พล.ท.ผดุง นิเวศวรรณ และ พล.ท.พิทยา วิมะลิน ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เอาผิดนายสุลักษณ์

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2557 จากการบรรยายดังกล่าว

และเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามได้เรียกตัวนายสุลักษณ์เข้าให้ข้อมูล จนกระทั่งมีความเห็นส่งฟ้องต่ออัยการศาลทหารในวันจันทร์นี้

ส.ศิวรักษ์ กับการถูกกล่าวหากระทำผิด ม.112

ปี 2527 พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก กล่าวหาว่า นายสุลักษณ์ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการเขียนหนังสือ ไม่มีข้อมูลว่าถูกดำเนินคดีหรือไม่

ปี 2534 นายสุลักษณ์ วิพากษ์-วิจารณ์การยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ว่า เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงถูก พล.อ.สุจินดา คราประยูร หัวหน้า รสช. กล่าวหาว่า นายสุลักษณ์หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จากการวิจารณ์ครั้งนั้น ต่อมาศาลยกฟ้อง

ปี 2547 นายสุลักษณ์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจฟ้องในความผิดตาม ม.112 จากการเขียนข้อความในหนังสือวารสาร Seeds of Peace ที่มีบทความเรื่อง SIAM of the Forgotten Monarch: The True Life Sequel to the King and the Land of Smile ต่อมาอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง

ปี 2550 เจ้าหน้าที่ตำรวจฟ้อง ม.112  ต่อนายสุลักษณ์จากการบรรยายหัวข้อ “ปรัชญาพื้นบ้านอีสานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ซึ่งอ้างว่า เนื้อหาบางส่วนของการบรรยายเป็นการหมิ่นเบื้องสูง ปัจจุบัน คดียังอยู่ในกระบวนการพิจารณา

ปี 2557 นายสุลักษณ์ กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีเนื้อหาในลักษณะว่า การยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่เคยเกิดขึ้นจริง จึงถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความเอาผิด ม.112 ล่าสุด พนักงานสอบสวนมีความเห็นส่งฟ้อง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง