ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอบรับต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุข

โดย นาซือเราะ
2015.08.26
TH-talk-620 สมาชิกกลุ่มเพื่อนหญิงภาคใต้ในจังหวัดปัตตานี กำลังสนทนาเรื่องความคืบหน้าการพูดคุยสันติสุข 27 สิงหาคม 2558
เบนานิวส์

ในวันพุธที่ 26 ส.ค. 58 ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างได้ให้ความสนใจติดตามความคืบหน้าของการพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างผู้แทนของรัฐบาลไทยและผู้แทนฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ กลุ่ม “มาราปาตานี” ที่ทางประเทศมาเลเซียได้ประสานให้มีขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ในวันอังคารนี้ ซึ่งเป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่มีความคืบหน้าที่สำคัญ

นางรอชิดะห์ ปูซู อายุ 38 ปี ประธาน มูลนิธิเพื่อนหญิง จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ตนได้มีการพูดคุยกับสมาชิกเครือข่ายสตรีในอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ว่า ตัวแทนในการพูดคุยสันติสุขสามารถสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันได้เร็ว และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบาลที่รวมตัวเป็นองค์กรร่วมใช้ชื่อว่า มาราปาตานี ก็พร้อมเปิดตัวกับสื่อในวันพรุ่งนี้

“ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่กล้าเปิดตัวแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นใครหลังจากที่ปกปิดมาตลอดเวลา 11 ปี เชื่อว่าประชาชนเองก็อยากรู้เหมือนกัน ก็ขอให้มีการพูดคุยเดินหน้าต่อไปจนสามารถทำให้พื้นที่นี้เกิดความสงบสุข” นางรอชิดะห์กล่าว

ในการเจรจาในทางลับในวันอังคาร พลตรีนักรบ บุญบัวทอง ในฐานะเลขานุการ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ทางการไทยให้การยอมรับคู่เจรจาที่ฝ่ายทางการไทยได้สนทนาด้วย โดยทั้งสองฝ่ายได้ยื่นข้อเสนอฝ่ายละสามข้อ เพื่อให้เอื้ออำนวยให้การพูดคุยดำเนินต่อไปได้

ทางฝ่ายมาราปาตานี ขอให้ทางการไทยยกระดับเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ ยอมรับองค์กรของตน และให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้เข้าเจรจา ส่วนทางการไทยขอให้มีการตั้งเขตปลอดภัย ให้มีการพัฒนาท้องที่ตามที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการ และการมอบความยุติธรรมให้แก่ทุกฝ่าย

สำหรับกลุ่มผู้เห็นต่างที่เข้าร่วมพูดคุยในนาม MARA Patani ครั้งนี้ ประกอบด้วย กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายู (BRN) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี (BIPP) ขบวนการมูจิฮิดีนแห่งชาติปัตตานี (GMIP) และกลุ่มย่อยขององค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี (PULO) อีกสองกลุ่มย่อยๆ ได้แก่ กลุ่มพูโล ดีเอสพีพี หรือสภาซูรอเพื่อการนำพูโล และกลุ่มพูโล เอ็มเคพี หรือ องค์การสหปาตานีเสรี

ส่วนกลุ่มพูโล พี 4 หรือกลุ่มพูโลเก่าที่นำโดยนายซัมซูดิง คาน ที่มีกองกำลังเป็นของตัวเองที่เรียกว่า PLA นั้น ได้ถอนตัวหลังจากที่ได้ร่วมพูดคุยนอกรอบในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาสองครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์เหตุการณ์ชายแดนใต้ กล่าวว่า กลุ่มพูโลเก่าได้หยุดปฏิบัติการนานมาแล้ว

ด้าน นางอาอีเสาะ เมาะกาแจ อายุ 45 ปี ชาวบ้าน จังหวัดยะลา กล่าวว่า “หากไม่มีการพูดคุยที่เกิดขึ้นแล้ว ก็จะไม่สามารถจัดการปัญหาได้ มั่นใจว่า เมื่อมีการพูดคุย ความเข้าใจต้องเกิด การแก้ปัญหาก็จะตามมา แม้ว่าข้อเสนอสามข้อของทั้งสองฝ่ายไม่มีอะไรใหม่ที่ประชาชนต้องการ แต่ก็ถือว่า การพูดคุยมีความคืบหน้า ไม่ได้หยุดชะงัก”

ในส่วนของการเปิดตัวมาราปาตานี ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี มีความเข้าใจปัญหา กล้าจะสื่อสารกับคนที่เดือดร้อน ส่วนจะใช่ตัวจริงหรือไม่นั้น ตนมั่นใจว่า การเปิดตัวคือทางออกที่ดีของกลุ่มขบวนการในพื้นที่ ขอให้มีการพูดคุยอย่างต่อเนื่องและไม่ต้องรีบร้อน เพราะเรามีเวลามากพอในการสร้างความสงบสุข

“ถือเป็นครั้งแรก ของกลุ่มขบวนการที่มีความพยายามสื่อสารกับคนในพื้นที่ เพราะตลอดเวลา 11 ปี ของความรุนแรงที่เกิดขึ้น กลุ่มขบวนการไม่เคยสื่อสารกับคนในพื้นที่และคนในประเทศอย่างเปิดเผย” นางอาอีเสาะกล่าวต่อเบนานิวส์

“ในต่างประเทศ เมื่อก่อเหตุ ก็จะออกมาบอกว่าเป็นการกระทำของใคร แต่ของภาคใต้เราไม่เคยได้ยินเสียงของขบวนการในการยอมรับหรือปฏิเสธในการก่อเหตุเลย การเปิดตัวถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนพื้นที่” นางอาอีเสาะกล่าวเพิ่มเติม

นายดัลยาล อับดุลเลาะ เลขาธิการกลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ Dream South กล่าวว่า “มองว่าการพูดคุยมีวิวัฒนาการที่ดีขึ้น ต่างฝ่ายเริ่มเปิดมากขึ้นเนื่องมีการยื่นข้อเสนอ แม้ข้อเสนอนั้นจะไม่ใช่ข้อเสนอใหม่ก็ตาม ข้อเสนอของฝ่ายรัฐน่าสนใจ เนื่องจากข้อเสนอข้อแรกหากตกผลึกจริงจะนำไปสู่การปฏิบัติ การกำหนดเซฟตี้โซน คือกำหนดพื้นที่ๆ จะต้องได้รับการคุ้มครอง ถือเป็นมิติใหม่ในการยื่นข้อเสนอในระดับต้น ส่วนข้ออื่นๆ มองว่ายังไม่ตกผลึกมากนัก แต่เป็นแนวคิดที่ต้องติดตาม”

“ส่วนข้อเสนอของมารา ยังยืนยันในจุดเดิมคือ ต้องบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ ข้อเสนอที่สนใจที่สุดคือการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายให้กับแกนนำมาราในการเข้าร่วมพูดคุยนี่น่าสนใจมาก รัฐไทยเป็นรัฐที่มีความแข็งกร้าวในข้อกฎหมายความมั่นคงอยู่แล้ว ในภาวะแบบนี้ ในระยะเปลี่ยนผ่านของสถานการณ์ รัฐไทยจะรับข้อเสนอนี้ยังไง แม้จะรับในขอบเขตกฎหมายไทยแล้วจะใช้ในระดับการปฏิบัติอย่างไร” นายดัลยาล กล่าว

“นัยยะของการที่รัฐไทยจะใช้ และให้ความคุ้มครองนักรบมาราภายใต้กรอบกฎหมายไทย เป็นเครื่องหมายยืนยันว่าเป็นเรื่องภายในและความสัมพันธ์ตัวแสดงในฐานะรัฐ ซึ่งถ้ารัฐไทยยอมรับสถานะของมารา ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ชัดขึ้นมากกว่าตัวแสดง ที่เป็นรัฐกับกลุ่มองค์กร จะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปในเชิงความสัมพันธ์สำเร็จไหม ต้องมองยาวๆ ปัจจัยต่างๆ ที่จะเอื้อต่อการพูดคุยสำเร็จนั้น มันซ่อนอยู่ข้อเสนอข้อสามของมาราแล้ว หากรัฐไทยตอบรับ และสร้างบรรทัดฐานใหม่ ก็ไม่น่าจะล้มเหลว” นายดัลยาล กล่าวเพิ่มเติม

“สำหรับการเปิดตัวของมาราปาตานีต่อสื่อ เป็นปรากฏการณ์ที่จะทำให้คนนอกวงพูดคุยหายข้องใจว่ารัฐพูดคุยกับใคร การเปิดตัวคือการประกาศว่ามีตัวตน ประเด็นคือการเปิดตัวในพื้นที่สาธารณะจะเปิดยังไงก็แล้วแต่เขาประกาศให้เรารับรู้แล้วว่าเขามีตัวตน จะตัวจริงไม่จริง ให้คุยกันไปก่อนการเปิดตัวผ่านสื่อ คือส่วนหนึ่งของการสื่อสารระหว่างมาราปาตานีเองกับคนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และคนไทยทั้งประเทศ เป็นการสื่อสารกับคนปาตานีและคนไทยทั้งประเทศ จึงสำคัญมาก ส่วนมาราปาตานีจะสื่อสารอะไรผ่านพื้นที่ตรงนี้ ก็ต้องติดตาม”

นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ได้ร่วมกับคณะกรรมการอิสลามสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าหารือกับพล.ต.ท. อนุรุต กฤษณะการะเกตุ ผู้บัญชาการ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อหาทางออกการสร้างความเข้าใจและการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายแวดือราแม กล่าวว่า “การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการพูดคุยเป็นการร่วมกันทำให้พื้นที่สงบสุข ตอนนี้ การพูดคุยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เป็นครั้งที่ 3 ถือว่ามีการพัฒนาการที่ดี เช่นเดียวกับการเปิดตัวมาราปาตานี ถือเป็นเรื่องโอกาสสำคัญสำหรับคนในพื้นที่ อยากเห็นมีการทำงานภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งการแก้ปัญหายาเสพติด ความไม่สงบ ความรุนแรงในพื้นที่ ปัญหาจะลดลงหากประชาชนมีส่วนร่วม”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง