ชาวปัตตานีจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.09.15
ปัตตานี
TH-talk-peace-620 ประชาชน และเจ้าหน้าที่ทหาร ในอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ร่วมเวทีพูดคุยแนวคิดการตั้งเขตปลอดภัย ในอำเภอโคกโพธิ์ ปัตตานี วันที่ 15 กันยายน 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดี (15 กันยายน 2559) นี้ ประชาชน และเจ้าหน้าที่ทหารในอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี กว่าสี่ร้อยราย ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อวางแผนสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพื่อตอบสนองการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ที่เห็นต่าง และเพื่อสะท้อนปัญหาจากประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

เวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่ออำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขครั้งนี้ จัดขึ้นที่โรงเรียนราชมุนีรังสฤษฏ์ ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับ หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 สถานีตำรวจภูธรอำเภอโคกโพธิ์ เป็นผู้จัดงาน ซึ่งมีผู้นำชุมชน และประชาชน เข้าร่วมประมาณ 400 คน ใช้เวลาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 4 ชั่วโมง

นางสาวคอรีเยาะ หะหลี กรรมการพูดคุยสันติสุขและการสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ ศอ.บต. กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของการจัดเวทีเพื่อสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน

“ในเวทีวันนี้ ทุกคนได้ร่วมประกาศสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพราะทุกคนต่างมีความรู้สึกตื่นตัว ต้องการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชน ชาวบ้านมีความต้องการที่จะรู้ด้วยว่ารัฐบาลและมาราปาตานีกำลังทำอะไรอยู่” นางสาวคอรีเยาะกล่าว

ดร.มูฮัมหมัด คอยา อาจารย์คณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฎอนี กล่าวว่า ต้องการให้ทุกฝ่ายมองถึงต้นเหตุของปัญหา และช่วยหาทางแก้ เพราะความขัดแย้งทำให้การใช้ชีวิตลำบาก

“เรามีความคิดเห็นต่างกันได้ แต่ความเป็นมนุษย์เราต้องเป็นเพื่อนกันได้ เหมือนกันเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชน ตายและเจ็บมาก แล้วเด็กกำพร้าเกิดขึ้นทุกวัน ถามว่าเมื่อไหร่จะยุติอยากให้ความสงบสุขเกิดขึ้นในพื้นที่โดยเร็ว” ดร.มูฮัมหมัดกล่าว

นายเศวต เพชรนุ้ย นายอำเภอโคกโพธิ์ กล่าวว่า เวทีจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และต้องการให้เลือกใช้วิธีพูดคุยแทนการใช้กำลัง

“ในเวทีวันนี้ ใครมีปัญหาอะไรให้สะท้อนออกมาได้ สำหรับความขัดแย้ง เกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่ต่างแก้ปัญหาด้วยการพูดคุย การใช้อาวุธไม่มีที่ไหนทำได้สำเร็จ ขอให้เปิดใจคุยกัน เพื่อความสันติสุขในพื้นที่” นายเศวตกล่าว

“บางครั้งประชาชนอาจคิดว่ารัฐไม่ได้ทำอะไรเลย เพื่อให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ ขอเรียนว่าจริงๆ แล้วรัฐได้ดำเนินการตลอดอย่างต่อเนื่องเพื่อพูดคุยให้สามารถทำให้พื้นที่เกิดความสงบสุขอย่างยั่งยืน อาจเปิดเผยได้บางครั้งและบางครั้งก็เปิดเผยไม่ได้” นายเศวตเพิ่มเติม

เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองด้านความมั่นคงในพื้นที่รายหนึ่ง เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า การจัดเวทีลักษณะนี้จะยังคงจัดขึ้นอีกเรื่อยๆ ในอนาคต เพื่อแสวงหาแนวทางสันติสุข

“กิจกรรมการอำนวยความสะดวก ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดขึ้นมาแล้ว 12 ครั้ง และจะจัดอีกกี่ครั้งไม่ได้กำหนด เพราะ เวทีลักษณะนี้จะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุข และทำจนกว่าจะสำเร็จ” เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าว

นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 3 ปี ที่รัฐบาลไทยพยายามเริ่มกระบวนการการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการกับกลุ่มผู้เห็นต่าง ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตามกำหนดกระบวนการพูดคุยได้แบ่งไว้เป็นสามระยะ คือ หนึ่ง การสร้างความไว้วางใจ  สอง การบรรลุสัตยาบรรณเพื่อร่วมการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี  และ สาม การเขียนและปฏิบัติตามโรดแมป เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 4 มกราคม 2547 รัฐบาลมีความพยายามที่จะยุติความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ แต่การดำเนินการในแนวทางสันติวิธีเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ภายใต้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติของฝ่ายไทยโดย พลโทภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการ สมช. และนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ได้เซ็นสัญญาร่วมกันเพื่อให้มีการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มขบวนการ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

หากแต่ความพยายามดังกล่าวนั้นได้หยุดชะงักไป จนกระทั่งกลับมาพูดคุยอีกครั้งในวันที่ 2 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายจะกลับมาพิจารณาการจัดตั้งเขตปลอดภัยในชั้นต้น เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้การเจรจาดำเนินในขั้นตอนที่ก้าวหน้าขึ้นต่อไป

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในวันที่ 4 มกราคม 2547 มีความพยายามที่จะยุติความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ แต่การดำเนินการในแนวทางสันติวิธีเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ภายใต้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติของฝ่ายไทยโดย พลโทภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการ สมช. และนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ได้เซ็นสัญญาร่วมกันเพื่อให้มีการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มขบวนการ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

หากแต่ความพยายามดังกล่าวนั้นได้หยุดชะงักไป จนกระทั่งกลับมาพูดคุยอีกครั้งในวันที่ 2 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายจะกลับมาพิจารณาการจัดตั้งเขตปลอดภัยในชั้นต้น เพื่อให้เกิดวคมาไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้การเจรจาดำเนินต่อไปในขั้นตอนที่ก้าวหน้าขึ้นได้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง