ส.ส.ชายแดนใต้ ต้องการมีส่วนร่วมในการพูดคุยเพื่อสันติสุข

มารียัม อัฮหมัด และนานี ยูโซฟ
2019.06.28
ปัตตานี และ นราธิวาส
190628-MY-TH-Areepen-623.jpg นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีต ส.ส. สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 9 สมัย พูดคุยถึงวิถีทางที่จะช่วยให้การพูดคุยเพื่อสันติสุข ดำเนินไปข้างหน้าได้ ที่ห้องทำงาน ในบ้าน จังหวัดนราธิวาส วันที่ 1 มิถุนายน 2562
นานี ยูโซฟ/เบนาร์นิวส์

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งปัจจุบันและอดีต กล่าวว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ควรมีส่วนร่วมในการพูดคุยระหว่างรัฐบาล และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธ ในการหาทางออกให้กับพื้นที่ที่มีความรุนแรงมานานกว่า 15 ปี เพราะว่า ส.ส. เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านให้เป็นตัวแทนของพวกเขา ซึ่งชาวบ้านเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด

นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่เพิ่งล้างมือทางการเมืองหลังเป็น ส.ส.นราธิวาสมา 9 สมัย กล่าวว่า ชาวบ้านต้องการให้ ส.ส. เป็นปากเสียงให้กับพวกตน เพื่อให้ข้อมูลแก่รัฐบาลในกรุงเทพ ซึ่งประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ไปออกเสียงลงคะแนนในการเเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ศกนี้ มากถึงสามส่วนสี่ของผู้มีสิทธิ์

“สมควรที่จะมีฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะ ส.ส. มีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข มี ส.ส. สามจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งสิ้น 11 คน จากพรรคประชาชาติ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ ซึ่งต้องมีส่วนร่วมในการเจรจา เพราะว่าเขารู้ปัญหาชาวบ้านดีกว่า” นายอารีเพ็ญ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมาราปาตานี ได้เจรจาเพื่อยุติความรุนแรง โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกมากว่าสี่ปี แต่ยังไม่มีสิ่งใดเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ในบรรดาพรรคที่มีเก้าอี้ในภูมิภาคนี้ มีเพียงพรรคประชาชาติ ที่เป็นฝ่ายค้าน ส่วนอีกสามพรรคที่เหลือ คือ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และ พลังประชารัฐ เป็นพรรคร่วมรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ที่ได้กระทำรัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2557 และได้รับการเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สอง เมื่อเร็วๆ นี้

นายซูการ์โน มะทา ส.ส.พรรคประชาชาติ ผู้เป็นน้องชายของนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา แสดงความเห็นด้วยกับนายอารีเพ็ญ ในการที่ควรให้ ส.ส. มีปากมีเสียงในการพูดคุยฯ

“คณะที่มีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธาน ก็อยากเรียนโดยข้อเท็จจริงว่า ที่ผ่านมาในคณะทำงานเจรจาพูดคุยเพื่อสันติภาพนี้ ส่วนใหญ่แล้ว ก็ไม่มีการเปิดโอกาสให้นักการเมืองในพื้นที่ สิ่งสำคัญที่สุด คือ จะต้องมีตัวแทนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อยู่ในคณะเจรจาที่สามารถปฏิบัติได้ด้วย” นายซูการ์โน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ผมเชื่อว่า องค์ความรู้ ประสบการณ์ และขีดความสามารถของนักการเมืองทุกคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนของพี่น้องประชาชน เขารับรู้ข้อมูลอีกหลายๆ มิติ อีกหลายๆ ด้าน ที่ภาครัฐอาจจะไม่มีก็ได้” นายซูการ์โน กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายอดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ เขต 1 ยะลา ซึ่งเป็น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ก็มีความคิดสอดคล้องกับนายอารีเพ็ญ

“ภาครัฐจะต้องตัดไฟการเติมเชื้อไฟให้กับกลุ่มผู้ก่อเหตุ หรือผู้เห็นต่าง ที่จะไปขยายแนวร่วม ที่จะเพิ่มขึ้นจากฝ่ายประชาชนไปอยู่ฝ่ายผู้เห็นต่าง ซึ่งทุกวันนี้ มันก็ยังมีอยู่อะไรที่เป็นการผลักคนให้ไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม การบังคับใช้กฎหมายโดยไม่สุจริตเหล่านี้ คือ การผลักคนไปอยู่” นายอดิลัน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้คัดค้านการเสนอแนะของนายอารีเพ็ญ

อุสตาซมะสุกรี ฮารี อดีตหัวหน้าชุดพูดคุยของมาราปาตานี ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงความกังขาต่อการให้ ส.ส. เข้ามามีบทบาท

“ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ มันจะเป็นเพียงการยกระดับความสำคัญทางการเมืองให้กับ ส.ส. เท่านั้น” นายมะสุกรี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

มะสุกรี เป็นตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็นหนึ่งในสามคนที่อยู่ในคณะพูดคุยฯ ของมาราปาตานี ซึ่งบีอาร์เอ็น เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีความเข้มแข็งมากที่สุด อย่างไรก็ตาม กลุ่มฮาร์ดคอร์ของบีอาร์เอ็น ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาของมาราปาตานี แต่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยหันมาเจรจากับฝ่ายตนโดยตรง

ข้อเสนอแนะของ ส.ส. ต่อแม่ทัพภาคที่สี่

ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง นายอดิลัน อาลีอิสเฮาะ มีอาชีพเป็นทนายความ และมีส่วนร่วมในคณะพูดคุยระดับพื้นที่ หรือ “คณะประสานงานระดับพื้นที่” ที่มีผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 เป็นหัวหน้าคณะประสานงานฯ ปัจจุบัน นายอดิลันเป็นที่ปรึกษา คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายอดิลัน กล่าวว่า ตนเองชื่นชมที่พลโทพรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จะพุดคุยกับ ส.ส. ในพื้นที่ด้วย ในเรื่องต่างๆ ในการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา

แต่นายอดิลัน กล่าวว่า ทางทหารไม่ได้สร้างกลไกให้ประชาชนได้ติดตามความคืบหน้าในการเจรจา ซึ่งในทัศนะของนายอดิลัน เห็นว่า ควรให้ชาวบ้าน ภาคประชาสังคม และ ส.ส. มีส่วนร่วมในคณะกรรมการติดตามความคืบหน้าในการเจรจาว่ามีการปฏิบัติตามกระบวนการหรือไม่

ในเดือนสิงหาคม ปี 2558 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการเปิดเผยถึงการพูดคุยของสองฝ่ายต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยในตอนต้น มาราปาตานี มีสมาชิกประกอบด้วย กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายู (BRN) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี (BIPP) ขบวนการมูจิฮิดีนแห่งชาติปัตตานี (GMIP) และกลุ่มย่อยขององค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี (PULO) อีกสองกลุ่มย่อยๆ (กลุ่มพูโล ดีเอสพีพี หรือสภาซูรอเพื่อการนำพูโล และกลุ่มพูโล เอ็มเคพี) แต่การเจรจายุติลงในเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ เมื่อมาราปาตานี กล่าวว่าจะขอเจรจาอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งไทยเสร็จสิ้น

เมื่อปลายปี 2557 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 230/2557 เรื่อง การจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้มีกลไกการทำงานใน 3 ระดับ เพื่อให้กระบวนการพูดคุยฯ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ คือ หนึ่ง คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ เป็นคณะกรรมการระดับนโยบาย สอง คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ปัจจุบัน มีพลเอกอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่สี่ เป็นหัวหน้าคณะ หน้าที่พูดคุยโดยตรง และ สาม คณะประสานงานระดับพื้นที่ ที่มีผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 คือ แม่ทัพภาคที่สี่ เป็นหัวหน้าคณะประสานงาน

นับตั้งแต่การที่กลุ่มก่อความไม่สงบปล้นปืนกว่าสี่ร้อยกระบอกไปจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในอำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส ในวันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุจัน มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 7,000 คน ในขณะที่การพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างได้สะดุดลงอีกครั้งเมื่อต้นปีนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง