อสส. ร้องศาลฯ ขอรื้อฟื้นคดี “ทักษิณ” ขึ้นพิจารณาใหม่ 2 สำนวน
2017.11.21
กรุงเทพฯ

ในวันนี้ (21 พ.ย. 2560) นายวันชาติ สันติกุญชร โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงมติฯ ให้ยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ตกเป็นจำเลยจำนวน 2 สำนวน ให้กับศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในการดำเนินการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยตามกฎหมายใหม่
“เป็นหน้าที่ของ อสส.ในการปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้เลือกปฏิบัติ เราได้ตรวจสอบคดีทั้งหมดที่มีการจำหน่ายคดี ก็มาตกที่คดีของคุณทักษิณทั้งสองคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของเรา และเท่าที่ทราบไม่ได้มีแค่สองคดีนี้เท่านั้น ยังมีหน่วยงานอื่นที่ดำเนินการอยู่ด้วย” นายวันชาติ โฆษกอัยการ แถลงต่อผู้สื่อข่าว
นายวันชาติ ให้รายละเอียดว่า หลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2560 ในการให้อำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถดำเนินกระบวนการพิจารณาได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย (ลับหลัง)
คณะทำงานพิจารณาสำนวนคดี ได้ร่วมกันตรวจสอบคดีของอดีตนักการเมืองของศาลฯ พบว่า มีคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตกเป็นจำเลยจำนวน สองสำนวน คือ คดีทุจริตการออกกฎหมายแปลงสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรพสามิต และคดีร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งศาลฯ ได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากจำเลยอยู่ระหว่างการหลบหนี
ซึ่งนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุดได้เห็นพ้องกับมติของคณะทำงาน ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฯ เพื่อยกเลิกคำสั่งการจำหน่ายคดีชั่วคราวทั้งสองสำนวน เพื่อดำเนินกระบวนการพิจารณาลับหลัง
“ในวันนี้ พนักงานสำนักงานอัยการดีพิเศษที่รับผิดชอบเรื่องคดีทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย และคดีทุจริตการออกกฎหมายแปลงสัมปทานฯ เป็นภาษีสรรพสามิต ได้นำคำร้องไปยื่นต่อศาลฯ ให้ดำเนินคดีต่อไปโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยตาม พรป. และศาลฯ ได้รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว” นายวันชาติ กล่าว
สำหรับการยื่นคำร้องของอัยการดังกล่าว นายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ได้เป็นตัวแทนในการนำคำร้องยื่นต่อศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ในช่วงเช้าวันอังคาร โดยได้กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายเข็มชัย อัยการสูงสุด ในการยื่นคำร้องฯ ที่มีความยาวประมาณ 5-6 หน้ากระดาษ บรรยายถึงเหตุผลในการร้องขอให้มีการพิจารณาคดีจากที่ถูกจำหน่ายไว้ชั่วคราว เนื่องจากมีการเเก้ไขกฎหมายใหม่
หลังจากนี้ องค์คณะผู้พิพากษาของศาลฯ จะได้มีการประชุมเพื่อทำความเห็นและมีคำสั่งต่อไปว่าจะเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ และหากมีคำสั่งเห็นควรยกเลิกการจำหน่ายคดี กระบวนการสืบพยานในศาลก็จะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งระหว่างนั้น อดีตนายกฯ สามารถแต่งตั้งทนายเพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาลได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา
ในการติดตามจับกุมตัวอดีตนายกฯ ทักษิณ โฆษกอัยการกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง คือ กรมสวบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพราะเป็นเจ้าของสำนวน
นอกจากนี้ โฆษกอัยการสูงสุด ยังได้กล่าวถึงอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวนายทักษิณ ที่หนีคำพิพากษาจำคุก 5 ปี ในคดีทุจริตข้าวว่า ขณะนี้ ยังไม่ทราบว่านางสาวยิ่งลักษณ์ หลบหนีไปอยู่ที่ใด
เนื่องจากกฎหมายการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ฉบับนี้ ออกมาภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำการยึดอำนาจมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้มีหลายฝ่ายแสดงความกังวลว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวมีจุดประสงค์ในการมุ่งตามล้างตระกูลชินวัตร
เบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่ออดีตนายกฯ ทักษิณ เพื่อขอความเห็นในประเด็นดังกล่าวได้ แต่นายสมคิด เชื้อคง อดีต สส. สังกัดพรรคเพื่อไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์ ว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อเอาผิดกับคนกลุ่มเดียว
“เป็นการตามล้างตามเช็ดด้วยความเกลียดชัง ในขณะที่รัฐบาล ผู้มีอำนาจบอกจะปรองดอง แต่ออกกฎหมายที่แย่ ต่อไปรัฐบาลไหนโกรธกันก็ออกกฎหมายใหม่ย้อนเอาผิดอีกฝ่ายจะไม่วุ่นนวายหรือ? ถ้ามีรัฐบาลใหม่มาออกกฎหมายย้อนเอาผิดคุณประยุทธ์ จะไม่วุ่นวายหรือ? ผมไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าผู้ที่ถูกกระทำจะเป็นชินวัตรหรือไม่เป็นชินวัตร ก็ตาม” นายสมคิด เชื้อคง กล่าว