ทางการไทยถอดยศร้อยตรี พร้อมชดเชยเหยื่อซ้อมทรมานสามราย
2016.10.20
ปัตตานี

สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้ปลดออกจากราชการและถอดยศทหารชั้นสัญญาบัตรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ออกคำสั่งลงโทษทหารชั้นประทวนจนเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส รวมสองราย เมื่อเดือนเมษายนศกนี้ ซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า นับเป็นกรณีแรกของประเทศไทย
โดยในวันพุธที่ผ่านมา (18 ตุลาคม 2559) นี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอด ร.ต.ภัฏณัท เลิศชัยกุล สังกัดกองทัพบก ออกจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. 2559 ซึ่งเป็นวันที่มีคำสั่งปลดออกจากราชการ โดยเหตุผลของการถอดยศ เนื่องจากกระทำความผิดวินัยทหารฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย และการขัดคำสั่ง เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
สำหรับ นายภัฏณัฐ เลิศชัยกุล เป็นอดีตนายทหารเวรประจำกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 152 ค่ายพยัคฆ์ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งในขณะนั้น ได้ออกคำสั่งให้ทหารเวรลงโทษ พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด ทหารในบังคับบัญชาจนเสียชีวิต และพลทหารฉัตรภิศุทธิ์ ชุมพันธ์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า กรณีนี้ เป็นกรณีแรกของการที่ทหารระดับสัญญาบัตรที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อต้านฝ่ายก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกลงโทษถอดยศและปลดออกจากราชการ เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
"เท่าที่จำได้เป็นกรณีแรกค่ะ ที่นอกจากให้ออกแล้ว ยังถอดยศด้วย ถือเป็นการลงโทษทางวินัยได้เร็ว เห็นได้ว่าผู้บังคับบัญชาทำการลงโทษทางวินัย โดยป้องกันไม่ให้เข้ามาแทรกแซงในการดำเนินคดี ซึ่งในคดีนี้ ที่มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ทำให้สามารถหาพยานหลักฐานได้เร็ว" นางอังคณา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
นับตั้งแต่ ปี 2550 ถึง ปัจจุบัน 2559 มีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าได้มีการซ้อมพลทหารหรือผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง จนเสียชีวิตแล้ว 7 ราย และมีการซ้อมทรมานอีกจำนวนหนึ่ง
ทางด้าน นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นสัญญานที่ดีที่หน่วยรับผิดชอบให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่การฟ้องร้องนายภัฏณัฐ เลิศชัยกุล ในคดีอาญาก็ตาม
นอกจากนี้ นางสาวพรเพ็ญ ยังกล่าวถึงกรณีที่คล้ายคลึงกัน คือ กรณีการเสียชีวิตของพลทหารวิเชียร เผือกสม ที่ถูกลงโทษโดยผู้บังคับบัญชา ในระหว่างประจำการที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในจังหวัดนราธิวาส ในปี พ.ศ. 2554 ว่า การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่สั่งพักราชการนายทหารคนสำคัญที่อาจมีส่วนรับผิดชอบ ถือว่ารัฐบาลดำเนินการแบบสองมาตรฐาน
“คดีพลทหารทรงธรรม และพลทหารวิเชียร ถูกปฏิบัติไม่เหมือนกัน สองมาตรฐาน คดีเช่นนี้ เป็นคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ควรเข้าสู่ระบบยุติธรรมของพลเรือน การปลดยศเป็นการลงโทษทางวินัยที่ทางทหารคิดว่าโทษหนัก แต่กับประชาชนแล้วการปลดยศอาจยังไม่ใช่การนำคนผิดมาลงโทษ" นางสาวพรเพ็ญ กล่าวทางโทรศัพท์
ด้าน น.ส.นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หลานสาวของ พลฯ วิเชียร ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเองดีใจที่ปรากฏความยุติธรรมขึ้น แต่ยังเสียใจที่ครอบครัวตนยังไม่ได้รับความเป็นธรรม
“มองสองมุม ๆ หนึ่งดีใจที่กระบวนการยุติธรรมเริ่มปรากฏขึ้นแล้ว แต่เราเสียใจที่เลือกปฏิบัติกับครอบครัวเรา ทำไมเราไม่ได้รับปฏิบัติแบบเขาทั้ง ๆ ที่เรื่องเกิดขึ้นก่อนหลายปี” น.ส.นริศราวัลถ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
น.ส.นริศราวัลถ์ ถูกพันตรีภูริ เพิกโสภณ ผู้บังคับบัญชาของพลทหารวิเชียร เผือกสม ฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท เนื่องจาก น.ส.นริศราวัลถ์ โพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดียว่า ทางการพักราชการทหาร 9 นาย ที่เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับการตายของ พลฯ วิเชียร แต่ไม่พักราชการ พ.ต.ภูริ ในระหว่างการสอบสวนว่า เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ซึ่งในขณะนี้ คดียังอยู่ในชั้นอัยการที่จังหวัดนราธิวาส
ศาลสั่งจ่ายสินไหมผู้เสียหาย 2 ราย ในคดีซ้อมทรมาน 2 คดี
ในวันนี้ ศาลปกครองสูงสุด ได้พิพากษาสั่งให้หน่วยงานรัฐชดเชยสินไหมให้แก่ผู้เสียหายที่ถูกเจ้าหน้าที่กระทำการทารุณ หลังถูกจับกุมและควบคุมตัว เพราะต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมกับกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมสามราย ในสองคดี
คดีแรก ศาลปกครองสูงสุด สั่งให้หน่วยงานราชการชดเชยสินไหมให้แก่นายรายู ดอคอ เยาวชนซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมาน เมื่อปี 2551 ในคดีหมายเลขดำที่ 94/2553 และคดีหมายเลขแดงที่ 48/2555 เป็นเงิน 348,588 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 303,120 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น โดยให้ชำระให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โดยเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 นายรายู ถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 ทำการปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้าน และจับกุมตัวไป พร้อมกับอิหม่ามยะพา กาเซ็ง และลูกชายของอิหม่ามยะพา
นายรายู ได้ฟ้องคดีกับกระทรวงกลาโหม กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ซึ่งในวันนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้องที่ 4 คือ สำนักนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดให้แก่ นายรายู ดังกล่าว
“ผมได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาคดี พร้อมมารดาและครอบครัวจากอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อเสร็จสิ้นการฟังคำพิพากษาของศาล รู้สึกพูดอะไรไม่ออก และรู้สึกดีใจที่มีวันนี้ เป็นวันที่ผมและครอบครัวรอคอยเวลานานกว่า 6 ปี ในการเรียกร้องความเป็นธรรม” นายรายู ดอคอ กล่าวว่า
คดีที่สอง ศาลปกครองสงขลาอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.55-56/2555 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.1309-1310/2559 ระหว่าง นายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และนายอามีซี มานาก ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ที่ฟ้องกองทัพบก ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
นายอิสมาแอ และนายอามีซี อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฎยะลา ถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมและซ้อมทรมานในระหว่างถูกควบคุมตัว เพื่อให้รับสารภาพอันจะนำไปสู่การถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2551
นางสาว พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ศาลสั่งให้กองทัพบกชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่นายอิสมาแอ จำนวน 305,000 บาท และ นายอามีซี จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องคดี คือวันที่ 14 ม.ค. 2552 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ