ทหารไทยกล่าว รายงานการทรมานผู้ต้องสงสัยก่อเหตุรุนแรง ไม่ตรงข้อเท็จจริง
2016.02.11

พลตรีบรรพต พูลเพียร โฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยในวันพฤหัสบดี (11 ก.พ. 2559) นี้ ว่า รายงานการทรมานผู้ต้องสงสัยก่อเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เผยแพร่โดยกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชน เป็นข้อมูลเก่าที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
“ในรายงานข้างต้นนี้ อาจเข้าใจได้ว่าองค์กรฯ เขียนโครงการไปขอรับการสนับสนุนเงินทุนจากต่างประเทศ แต่เมื่อเหตุรุนแรงลดลง จึงจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเก่านำมารายงานใหม่ให้สมกับเงินทุนที่ได้รับมา” พล.ต.บรรพต ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
จากนั้น พล.ต. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กอ.รมน. มีข้อสังเกต 4 ประการ ประการแรก คือ บรรดาองค์กรที่จัดทำรายงานฉบับนี้มีสถานะเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ และถ้าหากมีอำนาจหน้าที่แล้ว องค์กรมีสถานะตามข้อกฎหมายภายในประเทศฉบับใด ประการที่สอง คือ การจัดทำรายงานห้วงระหว่างปี 2557-2558 ปรากฏมีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือไม่ ประการที่สาม คือ ข้อมูลที่นำมาเปิดเผยเป็นเรื่องเก่าจากคำบอกเล่าเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงใช่หรือไม่ ประการที่สี่ คือ เหตุใดจึงอ้างข้อกฎหมายระหว่างประเทศโดยละเลยต่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยกลไกตามกฎหมายพื้นฐานภายในประเทศ จึงอาจสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทต่อหน่วยงานของรัฐได้
ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และกลุ่มด้วยใจ ได้จัดให้มีการเสวนาและเปิดเผย “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้” ต่อสาธารณชนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
รายงานฉบับภาษาไทยที่มีความยาวรวม 120 หน้า ที่ครอบคลุมเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2547 มีการเล่ารายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องสงสัย 54 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมตัวเพื่อการสอบสวน ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในช่วงปี 2557-2558
รายงานฉบับดังกล่าว ได้ให้รายละเอียดการทรมานผู้ต้องสงสัย เพื่อให้รับสารภาพว่ามีส่วนในการก่อความไม่สงบด้วยวิธีสามวิธี คือ หนึ่ง การทรมานทางจิตใจ เช่น การขู่แบลคเมล์ว่าจะทำร้ายคนที่ใกล้ชิด การข่มขู่ให้หวาดกลัว การรบกวนการนอนหลับ การขังเดี่ยว เป็นต้น สอง การทรมานทางร่างกาย เช่น การทุบตีและการทำร้ายร่างกาย การใช้น้ำร้อน-เย็นหยดส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย (Chinese water torture) การทำให้สำลัก การบีบคอ การทำให้จมน้ำ (drowning) การจุ่มน้ำ (water boarding) การใช้ไฟฟ้าช็อต การล่วงละเมิดทางเพศ (sexual assault ) เป็นต้น สาม การปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม เช่น การให้ดื่มน้ำสกปรก ดีดหู การให้ร้องเหมือนสัตว์ เป็นต้น
“เราไม่ได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ทั้งหมด เราเชื่อว่าเจ้าหน้าที่บางส่วนยังใช้วิธีนี้อยู่ แต่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำ” นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ภายหลังการเปิดตัวรายงานและการเสวนาเรื่องนี้ ในวันพุธ
ด้าน พล.ต. บรรพต ได้กล่าวชี้แจงในเรื่องนี้ว่า การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ห้วงระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ อันเป็นผลทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันมีแนวโน้มคลี่คลายไปสู่การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งร่วมกันตามแนวทางสันติวิธี โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน
“สังเกตได้จากเหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มบรรเทาเบาบางลงไปอย่างเห็นได้ชัด จนอาจกล่าวได้ว่า สภาพแวดล้อมในพื้นที่ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว ทุกภาคส่วนได้ตระหนักรู้ถึงสัญญาณการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเครือข่ายภาคประชาสังคมส่วนใหญ่ตื่นตัว จัดการระดมความคิดเห็น เตรียมการรองรับในหลากหลายรูปแบบ” พล.ต.บรรพต กล่าว
“ขณะเดียวกันองค์กรภาคประชาสังคมบางองค์กร ยังคงใช้ลักษณะการขับเคลื่อนองค์กรด้วยวิธีการแบบเดิมๆ โดยไม่มีท่าทีในการปรับบทบาทตามเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่” พล.ต.บรรพต กล่าวโต้ตอบกลุ่มสิทธิมนุษยชน
พล.ต.บรรพต กล่าวอีกว่า เหตุที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับข้อสั่งการของ นรม./ผอ.รมน. เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2559 ถึงรายงานข้อมูลเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่องค์กรระหว่างประเทศได้รับ ไม่ตรงตามสถานการณ์ที่เป็นจริง และขอให้ช่วยกันชี้แจงแก้ไข โดยเฉพาะการจัดอันดับประเทศที่มีภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ด้วยการนำสถิติเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเหมารวมเป็นความเสี่ยงของภัยคุกคามจากการก่อการร้ายในภาพรวมของประเทศ
การปฏิบัติงานที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงได้จัดการอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจ รวมทั้งความพยายามทั้งปวงในการระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนเสมอมา ทั้งนี้ ได้อาศัยความร่วมมือของผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน เครือญาติ และหน่วยงานภายนอกต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับ มาร่วมกันเป็นสักขีพยานในทุกขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมาย หรือในภายหลังหากมีข้อสงสัยประการใด
น.ส. พรเพ็ญ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันพุธนี้ ทางกลุ่มฯ อยากจะร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกับทางภาครัฐ และอยากให้ทางรัฐบาลตั้งคณะกรรมการที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ขึ้นมาเพื่อการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้วยกัน
“หน่วยงานในพื้นที่ก็พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน... ที่น่ากังวล คือ รายงานฉบับดังกล่าว เมื่อถูกเผยแพร่ออกไปต่างประเทศ อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงได้” พล.ต.บรรพต กล่าว