ศาลนัดตัดสินคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา 19 ก.ค. 60 นี้
2017.05.09
กรุงเทพฯ

ในวันอังคาร (9 พฤษภาคม 2560) นี้ นายสมพร มูสิกะ ทนายความในคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญากล่าวว่า ศาลอาญากรุงเทพเหนือจะตัดสินคดีค้ามนุษย์ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 นี้
ทั้งนี้ ในวันนี้ ศาลอาญาได้นัดสืบพยานโจทก์ ในคดีฟอกเงินทางอาญาต่อจำเลย 51 ราย จากจำเลยจำนวน 103 ราย ที่ถูกฟ้องร้องในคดีค้ามุนุษย์อีกด้วย ซึ่งรวมถึงนายบรรณจง ปองผล หรือโกจง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์เป็นจำเลยที่ 1 นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล เป็นจำเลยที่ 29 พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบกเป็นจำเลยที่ 54 และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 4 นาย
“ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีค้ามนุษย์ในวันที่ 19 กรกฎาคม นี้ และตอนนี้ มีการพิจารณาคดีฟอกเงินทางอาญาต่อจำเลยที่จะมี รวมทั้งหมด 51 คน และมีการฟ้องคดีฟอกเงินทางแพ่ง เพื่อยึดทรัพย์เข้าแผ่นดินด้วย หากพบว่ากระทำจริง” นายสมพรกล่าวแก่เบนาร์นิวส์
คดีค้ามนุษย์เป็นหมายเลขดำ คม.27/2558 คม.28/2558 และ คม.29/2558 ที่มีนายบรรณจง ปองผล หรือโกจง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์เป็นจำเลยที่ 1 นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลเป็นจำเลยที่ 29 พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบกเป็นจำเลยที่ 54 และจำเลยอื่นๆ รวม 103 คน จากหมายจับ 153 คน ซึ่งในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 2 คน
การฟ้องร้องเกิดหลังจากการพบหลุมศพของผู้อพยพชาวโรฮิงญาลักลอบเข้าเมืองบนเทือกเขาแก้ว ในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ใกล้พรมแดนไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เป็นจุดเริ่มต้นความสนใจของนักสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่การสืบสวนหาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดครั้งนี้โดยการนำของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจ ภาค 8 หัวหน้าฝ่ายสอบสวนคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา
ในเดือนกรกฎาคม 2558 พนักงานอัยการได้เริ่มฟ้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในความผิด 16 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ พ.ศ. 2546 ต่อจำเลย 88 คน และภายหลังได้มีการโอนคดีจากศาลนาทวี จ.สงขลา มาพิจารณาที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญาในเดือนตุลาคม 2558 จนมีการขยายผลดำเนินคดีจำเลยได้ 103 คน ในขณะนี้
กระทั่งมีการตรวจสอบหลักฐานในคดีครั้งแรก ในเดือนพฤศจิกายน 2558 พร้อมกันกับที่ พล.ต.ต.ปวีณ ผู้เริ่มต้นดำเนินการสืบสวนคดีนี้ได้ลาออกจากราชการ และพาครอบครัวเดินทางออกนอกประเทศโดยอ้างว่า ไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว เนื่องจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ เป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่จังหวัดภาคใต้
อย่างไรก็ดี กระบวนการพิจารณาคดียังคงเดินหน้าต่อ โดยมีการนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์เรื่อยมา จนเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม 2559 และเริ่มสืบพยานฝ่ายจำเลยในเดือนมกราคม 2560 จนกระทั่งศาลได้กำหนดวันนัดอ่านคำพิพากษาในเดือนกรกฎาคม 2560 นี้
สำหรับคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาในส่วนความผิดฐานฟอกเงินในความผิดอาญาซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปีนั้น ศาลได้นัดสืบพยานฝ่ายโจทก์ในวันอังคารนี้ โดยมีจำเลย 49 คน และเตรียมสั่งฟ้องเพิ่มอีก 2 คน
ซึ่งในการสืบพยาน พนักงานอัยการได้เบิกตัว ผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสุไหงโกลก ที่เคยปฎิบัติหน้าที่ช่วงปี 2555 เป็นพยานฝ่ายโจทก์มาให้การเกี่ยวกับความผิดปกติในการโอนเงินของจำเลยหลายรายโดยระบุว่า จำเลยได้โอนเงินจำนวนใกล้เคียงกันไปยังบัญชีต่างๆ มากกว่า 10 ครั้ง และมีการโอนเงินให้กันหลายทอด เกี่ยวข้องกับบุคคลอย่างน้อย 15 คน ซึ่งส่วนหนึ่งได้หลบหนีการจับกุมไป และบางส่วนตกเป็นจำเลยในคดีนี้ รวมมูลค่าเงินที่ถูกถ่ายโอนกว่า 8 ล้านบาท และเชื่อว่าเงินที่ผ่านเข้าบัญชีเป็นเงินจากการค้ามนุษย์
นอกจากการพิจารณาคดีค้ามนุษย์ความผิดฐานฟอกเงินในความผิดคดีอาญาแล้ว หลังจากนี้จะมีการพิจารณาในความผิดคดีแพ่งด้วย โดยหากพบว่า จำเลยได้กระทำผิดจริง จะถูกลงโทษโดยการยึดทรัพย์เข้าสู่ราชการ
แม้ว่าจะเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีใหญ่แล้วก็ตาม ยังมีในปีที่ผ่านมาและเมื่อเร็วๆ นี้ ยังมีชาวโรฮิงญพยายามหลบหนีจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา และบังกลาเทศ มายังประเทศไทยผ่านไปยังมาเลเซีย อยู่นับร้อยราย
นายนู มูฮัมหมัด ชาวโรฮิงญาที่อาศัยในประเทศไทยโดยถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า มีเพื่อนของตนรายงานว่า มีนายหน้าชาวโรฮิงญาในประเทศไทยที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี พยายามติดต่อนำพาชาวโรฮิงญาออกมาจากประเทศทั้งสอง อีกราว 500 คน
“ชาวโรฮิงญาในยะไข่และบังกลาเทศ บอกผมว่าจะมีชาวโรฮิงญาออกมาอีก 500 คน โดยมีกลุ่มค้ามนุษย์ไปติดต่อ บางคนมีสามีอยู่ในมาเลเซีย บางคนมีญาติอยู่ในต่างประเทศแล้ว จึงอยากที่จะเดินทางออกมาไปอยู่กับญาติ” นายนู กล่าวแก่เบนาร์นิวส์