ศาลอุทธรณ์ยืนคุกโกมิตร 35 ปี คดีขนโรฮิงญา 98 คน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.09.12
กรุงเทพฯ
170912-TH-rohingya-620.jpg เจ้าหน้าที่ไทยเยี่ยมชาวโรฮิงญาที่รอดชีวิตจากค่ายค้ามนุษย์บนเทือกเขาแก้ว ปาดังเบซาร์ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2558
เบนาร์นิวส์

วานนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 35 ปี และปรับเงิน 660,000 บาท นายสุนันท์ แสงทอง หรือโกมิตร นายหน้าค้ามนุษย์ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนส่งชาวโรฮิงญา 98 คน จาก อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ไปยังเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งโดนจับกุมที่ จ.นครศรีธรรมราช ในเดือนมกราคม 2558

ในวันอังคาร (12 กันยายน 2560) นี้ นายกฤษดา สัญญาดี ทนายโจทก์ร่วมคดีขนชาวโรฮิงญา 98 คน (คม.768/2558) เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ศาลตัดสินจำคุกจำเลยที่ 1 และยกฟ้องนายสุริยา ยอดรัก และนายวราชัย ชฏาทอง จำเลยที่ 2-3 ในความผิดข้อหาค้ามนุษย์ แต่เชื่อว่า ทนายจำเลยจะยื่นสู้คดีในชั้นศาลฎีกาเร็วๆนี้

“ผู้ต้องหาบางคนซัดทอดถึงจำเลยที่ 1 ว่าเป็นหัวหน้าขบวนการจัดรถ จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ร่วมค้ามนุษย์ เด็กต่ำกว่า 15 ปี เด็กไม่เกิน 18 ปี และข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขัง ผู้พิพากษาถือว่า การเรียกค่าไถ่ระหว่างทางถือเป็นการกระทำผิดแล้ว แม้จะไม่สามารถส่งโรฮิงญาทั้งหมดถึงที่หมาย แต่ข้อหาองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ศาลยกฟ้องทั้ง 3 คน เพราะไม่มีพยานหลักฐาน” นายกฤษดากล่าว

“ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น พิพากษาจำเลยที่ 1 จำคุก 35 ปี ปรับ 6 แสนกว่าบาท ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นคนขับรถ ยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่า จำเลย 2-3 อยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ รู้เห็นแค่ว่ารับคนจากท้ายเหมืองไปส่งที่ปาดังเบซาร์ การติดต่อโทรศัพท์ และการโอนเงินในเครือข่ายไม่มีความเชื่อมโยงกัน” นายกฤษดาเพิ่มเติม

นายกฤษดาระบุว่า ในการสืบพยานชั้นสอบสวนทำให้ทราบว่าคดีขนชาวโรฮิงญา 98 คนนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ที่มีนายบรรณจง ปองผล หรือโกจง, นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง พล.ท.มนัส คงแป้น และพวกรวม 102 คนเป็นจำเลย ในคดีหมายเลขดำ คม.27/2558, คม.28/2558 และ คม.29/2558 เนื่องจากเชื่อว่า ชาวโรฮิงญาทั้งหมดจะถูกส่งไปยังเขาแก้ว จุดที่ถูกพบว่า เป็นสถานที่ควบคุมตัว และฝังศพชาวโรฮิงญาในขบวนการค้ามนุษย์นั้น

“ทราบว่า คนกลุ่มนี้จะพาคนไปส่งที่ปาดังเบซาร์ ปลายทางน่าจะเป็นเขาแก้ว ในชั้นสอบสวนมีชาวโรฮิงญามาให้การว่า ก่อนหน้านี้เขาก็ถูกให้นั่งรถมาอย่างนี้เหมือนกัน จำเลยพยายามต่อสู้ตั้งแต่ศาลชั้นต้นว่า คำให้การของพยานที่ตำรวจเอาเข้ามาในสำนวนไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นพยานบอกเล่าทั้งหมด และอยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ด้วย แต่ศาลระบุว่า พยานยอมรับว่า ตนอยู่ในขบวนการ และให้การโดยไม่ได้ซัดทอดจำเลยแต่ฝ่ายเดียว” ทนายกฤษดากล่าว

รถขนส่งชาวโรฮิงญา 98 คน จำนวน 5 คันของเครือข่ายนายสุนันท์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจ และจับกุมในวันที่ 11 มกราคม 2558 ใน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช โดยภายในรถพบชาวโรฮิงญา 98 คน เป็นผู้ชาย 30 คน ผู้หญิง 26 คน และเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี 42 คน เจ้าหน้าที่จึงได้สืบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้ร่วมขบวนการทั้งหมด ก่อนจับกุมนายสุนันท์ได้ และนำคดีเข้าสู่ชั้นศาลพร้อมกับคนขับรถอีก 2 คน

กระทั่ง 1 กันยายน 2559 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกนายสุนันท์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 35 ปี ปรับ 660,000 บาท นายสุริยา จำเลยที่ 2 และ นายวราชัย จำเลยที่ 3 ให้จำคุกคนละ 1 ปี ปรับ 20,000 บาท

ชาวโรฮิงญา 98 คน ที่ถูกขนส่งในครั้งนั้น เสียชีวิตจากการขนส่ง 2 ราย ปัจจุบัน ถูกส่งกลับประเทศแล้วจำนวนหนึ่ง และบางส่วนที่เหลือ อาศัยอยู่ในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.เชียงราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง