ไทยแพ้คะแนนเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
2016.06.28
กรุงเทพฯ

วันอังคาร (28 มิถุนายน 2559) นี้ [วันที่ 29 มิ.ย. ตามเวลาในประเทศไทย] คาซัคสถาน ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยชนะประเทศไทยไปด้วยคะแนนเสียง ซึ่งมากกว่าสองในสามตามกฎบัตรสหประชาชาติ หรือ มากกว่า 129 เสียง
ตามข้อมูลของสหประชาชาติวันนี้ ประเทศคาซัคสถานได้ชนะประเทศไทยไปด้วยคะแนนเสียงถึง 138 เสียง ในรอบที่สองของการออกเสียงลงคะแนน ประเทศไทยได้รับ 55 คะแนนเสียง จากจำนวนสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด 193 ประเทศ
นอกจาก คาซัคสถาน ที่ได้เข้ามาเป็นตัวแทนเอเชีย แทนประเทศมาเลเซียที่จะหมดวาระในปีนี้ ยังมีประเทศสวีเดน หนึ่งในสองที่นั่งตัวแทนยุโรป เอธิโอเปียเป็นตัวแทนแอฟริกา และโบลิเวียเป็นตัวแทนอเมริกาใต้ ได้รับการลงคะแนนเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ยังคงเหลือประเทศที่ห้า ซึ่งจะเป็นการลงคะแนนรอบสุดท้าย ระหว่างประเทศอิตาลี และ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตัวแทนยุโรปอีกหนึ่งประเทศ และทั้งหมดจะดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี โดยมีผลเริ่มต้น 1 มกราคม 2560 นี้
สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประกอบไปด้วยสมาชิกถาวร 5 ประเทศ และประเทศสมาชิกไม่ถาวร 10 ประเทศ มาจากการเลือกตั้ง สำหรับสมาชิกไม่ถาวรนั้น ตามระเบียบที่ตั้งไว้ กำหนดให้ที่ประชุมสมัชชาเลือกสมาชิกหมุนเวียน 10 ประเทศ เข้าดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี เลือกปีละ 1 ครั้ง กล่าวคือ ทุกปีต้องมีการเลือกสมาชิกใหม่เข้ามา 5 ประเทศ และวิธีการเลือกประเทศสมาชิกก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดทางภูมิศาสตร์
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลวานนี้ว่า หากไทยได้เข้าเป็นสมาชิกไม่ถาวร 5 ชาติ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) จะเป็นเรื่องดี เนื่องจากทำให้ไทยมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นในเวทีโลก และจะเป็นโอกาสดีที่ได้นำเสนอประเด็นของประเทศไทย และประเทศกลุ่มจี 77 เข้าไปในวาระการประชุมของสหประชาชาติ
ประเทศไทยได้รับการรับรองให้ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม G 77 สำหรับวาระปี 2558 นับเป็นครั้งแรก หลังจากไทยที่เป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งเมื่อ 51 ปีก่อน กลุ่ม G 77 เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในสหประชาชาติ โดยเป็นเวทีให้ประเทศกำลังพัฒนาส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาร่วมกัน ตลอดจนช่วยส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation)
“ถ้าเราได้มีโอกาสเข้าไป เราก็มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น แล้วก็ในฐานะที่เราจะรับเรื่องต่างๆ ในกลุ่มประเทศของเราหรือในกลุ่มจี 77 เข้าไปในวาระการหารือของสหประชาชาติได้มากยิ่งขึ้น... ก็ได้รับความเชื่อมั่นว่าเราก็มีน้ำหนักในเวทีโลก” พลเอกประยุทธ์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าววานนี้ ก่อนทราบผลการเลือกตั้ง
“ก็แล้วแต่เขาจะเลือกก็แล้วกัน (สถานการณ์) ก็ใกล้เคียงกันอยู่เดิม ก็ขึ้นอยู่กับวาระที่ 1–2 มีการพิจารณา 2 ครั้ง แต่ละประเทศ.. แต่ไม่ใช่ว่า ได้เพราะผมอยู่ ไม่ได้เพราะผมอยู่ มันคนละเรื่องกัน มันเป็นเรื่องการทำงานในช่วงที่ผ่านมา และการไว้ใจซึ่งกันและกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติม
ต่อการชิงตำแหน่งสมาชิกดังกล่าว นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 ว่า ประเทศไทยมีโอกาสน้อยที่จะได้ตำแหน่งดังกล่าว เนื่องจากการทำรัฐประหารในปี 2557 และสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่ไม่ดี ทำให้ไทยสูญเสียความเชื่อมั่นจากนานาชาติ และนายสุรพงษ์ยังระบุอีกว่า การใช้งบประมาณ 500-600 ล้านบาท เพื่อหาเสียงในตำแหน่งนี้ เป็นการใช้จ่ายที่ไม่คุ้มค่า
ฮิวแมนไรท์วอทช์ร้องไทยแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน
ด้านองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ออกจดหมายเรียกร้อง ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน หากได้เป็นสมาชิกจริง เพื่อให้สอดคล้องกับบันทึกช่วยจำที่ไทยได้แถลงต่อนานาชาติ เพื่อสมัครเป็นสมาชิกยูเอ็นเอสซี
โดยถ้อยแถลงดังกล่าวระบุว่า ไทยยึดมั่นในสิทธิมนุษยชน เป็นประเทศแรกๆ ที่รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อปีพ.ศ. 2491 ทั้งยังสนับสนุนงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นเสมอมานับแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2549 บันทึกระบุด้วยว่า นโยบายสิทธิมนุษยชนของไทยถือหลัก เข้าถึง รับฟัง และเคารพความคิดเห็นของทุกฝ่าย
อย่างไรก็ดี ฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน โดยประเด็นดังกล่าว รวมถึง คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ต้องยุติการใช้อำนาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยไม่ต้องรับผิด, ยุติการปิดกั้นสื่อมวลชน เปิดกว้างให้มีการวิจารณ์โต้แย้งร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้าการลงประชามติ เคารพเสรีภาพในการแสดงออก, เลิกกักขังบุคคลในสถานที่ปิดลับตามอำเภอใจ, สอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยใช้กระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระและเป็นกลาง, สอบสวนกรณีการหายสาบสูญและการสังหารนักกิจกรรมที่รณรงค์พิทักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ยุติการใช้การฟ้องร้องคดีเพื่อปิดปากนักสิทธิมนุษยชน และ เลิกบังคับส่งกลับผู้แสวงหาที่พักพิงกลับประเทศ ดังเช่นกรณีนักเคลื่อนไหวชาวจีน ชาวอุยกูร์ ชาวโรฮิงญา