ตลาดยาเสพติดเติบโต แม้ในช่วงโควิดระบาด

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.05.15
กรุงเทพฯ
200515-TH-UNODC-drugs-800.jpg พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจของกลางที่ยึดได้จากพ่อค้ายาเสพติด ระหว่างการแถลงข่าวจับกุมเครือข่ายค้ายานรก ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด วันที่ 8 พฤษภาคม 2563
สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

ในวันนี้ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime) เปิดเผยแพร่รายงานล่าสุด ระบุว่าการค้ายาเสพติดโดยผิดกฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขยายตัวกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ามีการระบาดของโรคโควิด ขณะที่ราคายาบ้าลดต่ำลงมากเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น

ด้าน ผู้บังคับบัญชา กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กล่าวว่า เทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้น และสูตรผสมทางเคมีที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้ยาเสพติดขยายตัว ขณะที่พ่อค้ายาฉวยโอกาสที่โควิดระบาด เพื่อการส่งยาทางพัสดุ

นายเจเรมี่ ดักลาส ผู้แทนของยูเอ็นโอดีซี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ระบุว่า ในขณะที่ทั่วโลกกำลังมุ่งความสนใจไปยังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า แต่การผลิตยาบ้า การลำเลียงยา รวมถึงลักลอบขนส่งสารเคมีตั้งต้นกลับมีสถิติเพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคนี้

“มันยากที่จะนึกภาพว่า องค์กรอาชญากรรมได้ดำเนินการขยายตลาดยาเสพติดอีกครั้ง แต่มันเกิดขึ้นแล้ว” เจเรมี่ กล่าวในรายงานชื่อ “Synthetic Drugs in East and Southeast Asia: Latest Developments and Challenges”

รายงานดังกล่าว ระบุว่า ประเทศย่านเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ สามารถจับกุมยาบ้าได้เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบปีต่อปี โดยในปี 2562 สามารถยึดยาบ้าได้ถึง 155 ตัน ยังไม่นับรวมตัวเลขที่ประเทศจีนยึดได้เฉลี่ยปีละ 30 ตันในห้วงเวลาห้าปีก่อน

รายงานยังระบุด้วยว่า ปริมาณยาบ้าที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ส่งผลให้ราคายาเสพติดลดต่ำลงถึงจุดต่ำสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงตลาดยาบ้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ในปี 2019

ด้านนายอินชิก ซิม นักวิเคราะห์ด้านยาเสพติดของยูเอ็นโอดีซี ให้ความเห็นว่า ยาเสพติดที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีความต้องการสูง เนื่องจากคุณภาพสูง ทำให้ยิ่งราคาลดต่ำลงมาก ยิ่งทำให้มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นในบางประเทศ

“ยิ่งราคาต่ำมาก ยิ่งทำให้เป็นที่ต้องการมาก เพราะองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ จะสามารถหายาบ้าที่มีคุณภาพดีกว่าในราคาถูกกว่า เมื่อเทียบกับสิบปีที่ผ่านมา ทำให้มันหาซื้อได้และเป็นอันตรายในเวลาเดียวกัน” นายอินชิก ระบุ

รายงานยังระบุว่า การผลิตยาเสพติดกลุ่มโอปิออยด์สังเคราะห์ที่มีโครงสร้างทางเคมีและฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในประเทศย่านเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2557 มีเพียงจำนวนสามชนิด แต่ได้เพิ่มเป็น 28 ชนิด ในปี 2562 รวมทั้งมีการจับได้ในพื้นที่ใหม่ ๆ ด้วย เพราะกลุ่มค้ายาได้พยายามขยายพื้นที่

“สารโอปิออยด์สังเคราะห์ เช่น เฟนธานิล ในภูมิภาคนี้ควรได้รับความสนใจให้มากกว่าที่เป็นอยู่นี้ มีการเคลื่อนย้ายผลผลิตสารพวกในภูมิภาคที่มีปัญหาด้านธรรรมภิบาล เช่น พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ เรากังวลว่าเอเชียอาคเนย์ จะกลายเป็นแหล่งยาเหล่านี้ส่งต่อไปยังทั่วโลก ขณะที่สารเหล่านี้ถูกนำไปผสมกับเฮโรอีนหรือทดแทนซัพพลายเฮโรอีน”

นายเจเรมี่ กล่าวอีกว่า นอกจากยาบ้า และสารโอปิออยด์สังเคราะห์ รายงานยังระบุว่ามีการค้ายาเสพติดชนิดอื่นๆ อีกหลากหลายในภูมิภาค เช่น ยาอี เคตามีน และแคนาบินอยด์

พ่อค้ายาฉวยโอกาสส่งสารเสพติดทางไปรษณีย์ เหมือน 'กองทัพมด'

ด้าน พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวร์ ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคายาบ้าถูกลง เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้น และมีสูตรผสมทางเคมีที่ทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้ ประกอบกับอาศัยช่วงโควิดใช้การส่งยาทางพัสดุทำให้ตลาดพวกนี้เติบโตขึ้น

“ปัจจัยที่ทำให้ราคายาบ้าถูกลง มีหลายอย่างทั้งเทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้น มีกำลังการผลิตดีขึ้น มีสัดส่วนการผสมซึ่งเป็นเรื่องสารเคมีทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้มากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ต้นทุนต่ำลง ราคาถูกลง ยิ่งในช่วงโควิด ตลาดพวกนี้เติบโตมาก ทำให้การให้บริการลูกค้าสะดวกขึ้นไปอีก เพราะส่งออกเป็นพัสดุต่างๆ ทำให้กระจายไปถึงผู้เสพรายย่อยได้ง่ายขึ้น ขยายตลาดง่ายขึ้น” พล.ต.ต.ยิ่งยศ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“เราอาจจะไม่เห็นการลักลอบขนส่งขนาดล็อตใหญ่ ๆ เพราะมีด่านโควิดเยอะ แต่มาในกองทัพมด เข้ามาสู่ใจกลางเมืองได้ง่าย ทางการขนส่งทางพัสดุไปรษณีย์ และมันกลายเป็นปัญหาใหม่ตอนนี้ เรากำลังคุยกันว่าจะมีสัมมนากับพวกบริษัทขนส่ง พวกเคอรี่ต่าง ๆ ให้ช่วยทางการอย่างไรดี” พล.ต.ต.ยิ่งยศกล่าว

ด้าน นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า “การทำงานร่วมกันกับยูเอ็นโอดีซีและชาติต่างในลุ่มน้ำโขงมีความสำคัญต่อความสำเร็จ เราเผชิญกับปัญหาสำคัญ และเราจะมีความคืบหน้าในการจัดการกับปัญหาได้ก็ต้องด้วยความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ”

ทั้งนี้ ยูเอ็นโอดีซี ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคผ่านทาง Global SMART Program และบันทึกความเข้าใจในการควบคุมยาเสพติดในลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อติดตามสถานการณ์ยาเสพติด และให้คำแนะนำในด้านความร่วมมือ การตรวจจับ การควบคุมสารตั้งต้น และยุทธศาสตร์ด้านการสาธารณสุข และที่สำคัญคือ การช่วยประสานงานให้แต่ละประเทศร่วมมือในการปฏิบัติการที่ต้องทำร่วมกัน และการปฏิบัติการตามแนวชายแดน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง