ศาลมุกดาหารสั่งขังคุก 7 อุยกูร์แหกศูนย์กักกันตม. คนละสองปี
2020.03.09
กรุงเทพฯ

ชาวอุยกูร์เจ็ดคนที่แหกห้องขังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมุกดาหาร เมื่อวันที่ 10 มกราคม นี้ ถูกจับกุมตัวในเวลาไม่นานนัก ซึ่งเป็นการพยายามหลบหนีครั้งที่สอง นายวณัฐ โคสาสุ ทนายความของจำเลยชาวอุยกูร์ กล่าวว่า ศาลจังหวัดมุกดาหาร ได้ตัดสินจำคุกจำเลยชาวอุยกูร์ 7 คน เป็นเวลาคนละ 2 ปี ฐานคดีแหกห้องกักทำลายทรัพย์สินทางราชการ และขู่ทำร้ายเจ้าหน้าที่
ทนายวณัฐ กล่าวว่า จำเลยทั้งเจ็ดราย ประกอบด้วย นายเมเหม็ด อายเท็น นายราเกฟ บัสเซอร์ นายอับดุลลาห์ แอรี นายอับดุลเลาะห์ กาซิม นายเอาดาว ยูซุฟ นายอับลิคิม และ นายมูตาหลิบ ถูกศาลตัดสินจำคุกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
“ทั้งหมดถูกคุก 2 ปี ฐานแหกห้องกักทำลายทรัพย์สินราชการ ขู่ทำร้ายเจ้าหน้าที่... น่าจะไม่อุทธรณ์ สำหรับ 7 คนนี้” ทนายวณัฐ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นอกจากนั้น ทนายวณัฐ ยังกล่าวอีกว่า ในจำเลย 7 รายนี้ มีอยู่จำนวน 5 ราย (ยกเว้น ราเกฟ กับ มูตาหลิบ) ถูกชาวบ้านแจ้งความดำเนินคดีปล้นทรัพย์อีกด้วย
“เขาแหกห้องกักไป แล้วเจอชาวบ้านล่าสัตว์เลย จับชาวบ้านและมัดมือชิงปืนมา อันนี้ ชาวบ้านจะฟ้องเอาผิด อันนี้ จำเลย 5 คน แต่เขาบอกว่า เขาโดนเจ้าหน้าที่ทำร้ายระหว่างกักตัวด้วย เลยไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือรับทราบข้อกล่าวหาคดีชิงปืนจากชาวบ้าน จนกว่าเจ้าหน้าที่จะยอมให้เขาฟ้องเรื่องทำร้ายร่างกาย แต่คดีชิงปืนอยู่ชั้นพนักงานสอบสวน ยังไม่มีกำหนดส่งฟ้อง” ทนายวณัฐ กล่าวเพิ่มเติม
ในส่วนการพยายามดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกายจำเลยนั้น ทนายวณัฐกล่าวว่า ตอนนี้คดี ฝั่งทนายเองอยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน
ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้รายงานว่า นายศรชัย ราศีคำ ชาวบ้านบ้านสงเปือย ต.บางทรายใหญ่ อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร ได้เล่าว่า ขณะที่ตนเองออกตระเวนจับหนูนาอยู่ที่กลางทุ่งนา เมื่อคืนวันที่ 10 มีนาคม ได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 5-6 คน ได้วิ่งเข้ามาล็อกตัว จับตนมัดมือมัดเท้าไว้ แล้วแย่งเอาอาวุธปืนหน้าไม้พร้อมลูกดอก 1 ลูก จนกระทั่งเวลาผ่านไป 30 นาที ผู้ต้องหาจึงได้พากันวิ่งหลบหนีไป ก่อนที่ตนเองพยายามดิ้นรนและเรียกร้องให้คนมาช่วย แล้วจึงโทรแจ้งทางเจ้าหน้าที่ให้ทราบเรื่อง
นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ชาวอุยกูร์กลุ่มนี้ เป็นจำนวนหนึ่งในจำนวนชาวอุยกูร์ประมาณ 50 คน ที่ยังถูกกักตัวอยู่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 4 แห่ง ในประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งจากกว่าสี่ร้อยคน ที่หลบหนีการกดขี่ของรัฐบาลที่มีต่อชาวอุยกูร์ในเขตปกครองพิเศษซินเจียง ที่ประชากรนับถือศาสนาอิสลาม แล้วคั่งค้างอยู่ในประเทศไทย
ชาวอุยกูร์เหล่านี้ ต้องการเดินทางผ่านไปยังมาเลเซีย โดยมีจุดหมาปลายทางที่ประเทศตุรกี ที่ยินดีต้อนรับพวกเขา เพราะมีความใกล้ชิดทางเผ่าพันธุ์และศาสนา
นางชลิดา ได้กล่าวว่าตนได้ไปเยี่ยม ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ที่เรือนจำจังหวัดมุกดาหาร เมื่อคราวยังถูกฝากขังอยู่ในเดือนมกราคม ซึ่งทั้งเจ็ดรายกล่าวว่า สาเหตุที่ต้องหลบหนีออกจากห้องกักใน ตม. มุกดาหาร ก็เพราะทนสภาพที่คับแคบไม่ไหว
“ที่พวกเขาต้องแหกที่คุมขัง ตม. ออกมา เพราะมันคับแคบ อับชื้น มีหน้าต่างบานเดียวไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน เลยหนีออกมา เขาบอกว่า เขาอยากติดคุกใหญ่มากกว่า เพราะยังได้หายใจ ได้ออกกำลังกายบ้าง” นางชลิดากล่าว
ชาวอุยกูร์จำนวนกว่าสี่ร้อยคนได้เดินทางผ่านมายังประเทศไทย ในช่วงปี 2457 แล้วถูกจับกุมตัวได้จังหวัดสงขลา และจังหวัดชายแดนในภาคอิสาน
เมื่อปี 2558 ประเทศไทยได้ตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์ราว 100 คน จากประมาณ 350 คน ที่กักขังไว้ให้กับจีน ทั้งๆ ที่มีความเกรงกลัวกันว่า คนเหล่านั้นจะถูกลงโทษ เมื่อกลับถึงประเทศจีน ทำให้นานาชาติและองค์กรสิทธิมนุษยชนตำหนิประเทศไทย แม้ว่าในก่อนหน้านั้นไทยได้ส่งตัวผู้หญิงและเด็กไปยังตุรกีกว่า 170 คน แล้วก็ตาม
จากนั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ ได้เกิดระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บกว่า 120 ราย ซึ่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้โยงมือระเบิดเข้ากับกลุ่มหัวรุนแรงของชาวอุยกูร์ ที่ต้องการล้างแค้นทางการไทย ทั้งนี้ ชาวอุยกูร์ถูกจับกุมตัวและอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีสองราย ซึ่งทั้งสองให้การปฏิเสธ และจะขึ้นศาลอีกครั้งในวันที่ 26 พฤษภาคม นี้
“ในความเป็นจริง ประเทศไทยส่งเขาไปไหนไม่ได้ ส่งไปจีนก็กลัวโดนระเบิดเหมือนตอนที่มีระเบิดพระพรหมเอราวัณ ปี 2558 อีก แล้วยังจะต้องถูกประณามโดยนานาชาติ” นางชลิดา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“ถ้าไม่ส่งไปจีนก็ทำไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่สถานทูตจีนติดตามดูอยู่ตลอด มาตรวจสอบดูพวกอุยกูร์ที่ศูนย์กักกันทุกเดือน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ไทยก็ไม่อนุญาต เอ็นจีโอ หรือแม้แต่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพบพวกอุยกูร์” นางชลิดา กล่าวเพิ่มเติม
นายโดลคุน อิซา ประธานสภาอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress - WUC) กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวของเรดิโอฟรีเอเชีย หรือ RFA องค์กรในเครือข่ายเบนาร์นิวส์ ในวันจันทร์นี้ โดยอ้างถึงสภาพห้องกักกันที่ทำให้ชาวอุยกูร์ต้องหนีออกมา
“เนื่องจากทนสภาพห้องกักกัน และการถูกปฏิบัติที่เลวร้ายไม่ไหว ทำให้บางคนไม่มีทางเลือก นอกจากต้องแหกห้องกักขังออกมา” นายอิซากล่าว
"พวกเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมายใด ๆ อย่างเดียวที่ทำคือ หนีจากการถูกกดขี่ข่มเหงและการดำเนินคดีในประเทศบ้านเกิดของตนเอง ... พวกเขาหวังที่จะหลบหนีการถูกประหัตประหาร เพื่อความปลอดภัยของชีวิต พวกเขาสมควรที่จะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ"
นายอิซา กล่าวว่าการตัดสินลงโทษจำคุก ชาวอุยกูร์ทั้งเจ็ด ถึงสองปีในเรือนจำ "เป็นการตัดสินโดยมีแรงจูงใจทางการเมืองที่จะเอาใจจีน" และกล่าวอีกว่า มันคือ "ทำความยุติธรรมเพียงน้อยนิด หากนำมาซึ่งความทุกข์ทรมานอันยาวนานแก่พวกเขาเหล่านี้"
“ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์อย่างมีมนุษยธรรม และอนุญาตให้พวกเขาออกเดินทางไปยังประเทศที่สาม ที่ปลอดภัย ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494” เขากล่าว
เรดิโอฟรีเอเชีย หรือ RFA องค์กรในเครือข่ายเบนาร์นิวส์ และ ผู้สื่อข่าวภาคภาษาอุยกูร์ อลิม เซย์ตอฟฟ์ มีส่วนในรายงาน