11 พรรคเล็กประกาศหนุน พปชร ตั้งรัฐบาล ประยุทธ์เป็นนายก

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.05.13
กรุงเทพฯ
190513-TH-projunta-party-800.jpg นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (กรอบแว่นดำ) ชูมือร่วมกับตัวแทนพรรคเล็ก 11 พรรค เพื่อยืนยันการร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย (คนที่สองจากขวามือ) จับข้อศอกหนุนเป็นสัญญลักษณ์ วันที่ 13 พฤษภาคม 2562
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์นี้ 11 พรรคขนาดเล็ก ซึ่งได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคละ 1 ที่นั่ง ร่วมกันแถลงข่าวว่า จะสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาล และเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่า การร่วมมือกันครั้งนี้ไม่ได้ใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเครื่องต่อรองแต่อย่างใด

การแถลงข่าวจัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลลาดพร้าว โดย 11 พรรคคือ พรรคพลังชาติไทย ประชาภิวัฒน์ ไทยศรีวิไลย์ พลังไทยรักไทย ครูไทยเพื่อประชาชน ประชานิยม ประชาธรรมไทย พลเมืองไทย ประชาธิปไตยใหม่พลังธรรมใหม่ และไทรักธรรม ได้ลงนามร่วมกันว่าจะสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ และพลเอกประยุทธ์ ซึ่งทำให้พรรคพลังประชารัฐมีเสียงจาก ส.ส. อย่างน้อย 126 เสียง เพียงพอที่จะร่วมกับ ส.ว. อีก 250 เสียงในการโหวตนายกรัฐมนตรีได้

นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย ในฐานะตัวแทน 11 พรรคเล็ก กล่าวว่า การตัดสินใจของ 11 พรรคในครั้งนี้ เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ และเกิดการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด

“หารือกันมาหลายวัน 11 พรรคเห็นด้วยว่า จะสนับสนุนให้มีรัฐบาลโดยเร็ว หนึ่ง พวกเรา 11 พรรค มี ส.ส. 11 คน มีความมั่นใจ และยืนยันในใจว่าจะยกมือสนับสนุนเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ส่วนท่านจะจัดแจ้งตั้งรัฐบาลแบบไหน พวกเราก็คงไม่มีส่วนไปก้าวก่าย” นายสัมพันธ์ กล่าว

“สอง สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อเราแถลงแล้วหมดหน้าที่ เป็นหน้าที่ของผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ ที่จะไปเชิญชวนพรรคที่มีโอกาสเข้าไปร่วมทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน  สาม เรายังเป็นผู้แทนราษฎร ถ้ารัฐบาลทำดี แน่นอนเราต้องสนับสนุน แต่ถ้ารัฐบาล หรือรัฐมนตรีที่ทำงานไม่ดี เราทั้ง 11 คน พร้อมที่จะคัดค้าน” นายสัมพันธ์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคพรรคไทยศรีวิไลย์ กระตุ้นให้พรรคภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ รีบตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐโดยเร็ว

“พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ขอร้องอย่าต่อรองเยอะ มาร่วมมือกันทำงาน มันเสียเวลา เพราะว่าเลือกตั้งมาเกือบ 2 เดือนแล้ว เพราะฉะนั้นหาคนที่มีคุณภาพมาคุยกัน หนักนิดเบาหน่อย ก็ให้อภัยกันแล้วเดินไปข้างหน้า” นายมงคลกิตติ์ กล่าว

ทั้งนี้ หลังการแถลงข่าวของ 11 พรรคการเมือง นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ได้เดินทางมารับหนังสือพร้อมลายเซ็นของ 11 หัวหน้าพรรคเล็กด้วยตนเอง โดยระบุว่า การตัดสินใจร่วมรัฐบาลของทั้ง 11 พรรค พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเงื่อนไขในการต่อรองแต่อย่างใด

“จุดยืนของพรรคพลังประชารัฐคือ ทุกพรรคที่ร่วมทำงานด้วยกัน รวมถึง 11 พรรค ที่มาวันนี้ด้วย เราจะหารือกันเรื่องนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ต่อพี่น้องประชาชน ไม่ได้มีเงื่อนไขอะไร เรามาพูดคุยกันเพื่อประโยชน์ของประเทศ เพื่อจะขับเคลื่อน ยืนยันว่า ไม่ได้มีเงื่อนไข(ตำแหน่งรัฐมนตรี)” นายอุตตม กล่าว

นายอุตตม ระบุว่า กระบวนการเจรจาร่วมรัฐบาลกับพรรคอื่นๆ นั้น กำลังดำเนินการอยู่ แต่ขอไม่เปิดเผยรายละเอียด

“ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ เรายังมีเวลาในการพูดจาหารือกับพรรคที่สนใจมาร่วมกัน เดี๋ยวให้เราเดินหน้าไปด้วยกัน ต้องให้เกียรติทุกพรรค ในการที่แต่ละพรรคมีกระบวนการภายในในการหารือ เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ” นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติม

วันนี้ 11 พรรค รวมกับ พรรคพลังประชารัฐ จะได้เสียง 126 เสียง และหากรวมกับ พรรคประชาชนปฏิรูป และรวมพลังประชาชาติไทย ที่ประกาศหลายครั้งว่า จะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จะทำให้ ฝ่ายพลังประชารัฐมีเสียงเพิ่มอีก 6 เสียง รวมเป็น 132 เสียง

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา พลังท้องถิ่นไทย และรักษ์ผืนป่าประเทศไทย รวม 121 เสียง ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายใด

ไม่เหนือความคาดหมาย

นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความคิดเห็นต่อการแถลงข่าวของ 11 พรรคเล็กในครั้งนี้ว่า ไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมาย

“มันไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะการจัดสรร บัญชีรายชื่อให้พรรคเล็ก ก็เหมือนให้รางวัลอยู่แล้ว ผมมองนะ เหมือนเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนของ คสช. หรือ ทหาร ก็เห็นอยู่แล้วว่า จุดยืนของพรรคเหล่านี้ไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตย เพราะให้ทหาร หรือ คสช. มีบทบาทการเมืองต่อ” นายฐิติพล กล่าว

“การเข้าร่วมของพรรคเล็ก ทำให้เกิดเสถียรภาพแก่ รัฐบาลพลังประชารัฐ การได้เสียงที่มากกว่า 250 เสียงขึ้นไปเพิ่มศักยภาพในการทำงาน ทำให้พวกเขาเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพระดับหนึ่ง ถ้าเสียงเกิน 250 ผมว่า รัฐบาลจะสามารถอยู่ได้ เพราะถ้าเสียงไม่ถึงก็จะทำงานยาก” นายฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรอง ส.ส. อย่างเป็นทางการทั้งแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 โดยมี 27 พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดถึง 136 ที่นั่ง รองลงมาคือ พรรคพลังประชารัฐ 115 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ 80 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 52 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 51 ที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทย 10 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 7 ที่นั่ง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 ที่นั่ง พรรคเพื่อชาติ 5 ที่นั่ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 ที่นั่ง  พรรคชาติพัฒนา 3 ที่นั่ง พรรคพลังท้องถิ่นไทย 3 ที่นั่ง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 ที่นั่ง พรรคพลังปวงชนไทย, พรรคพลังชาติไทย, พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคไทยศรีวิไลย์, พรรคพลังไทยรักไทย, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคประชานิยม, พรรคประชาธรรมไทย
, พรรคประชาชนปฏิรูป, พรรคพลเมืองไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคไทรักธรรม ที่ได้ ส.ส. พรรคละ 1 ที่นั่ง

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย ประชาชาติ เพื่อชาติ และพลังปวงชนไทย ได้แถลงข่าวและร่วมลงนามในสัตยาบันหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยระบุว่า ทั้ง 6 พรรค รวมถึง พรรคเศรษฐกิจใหม่อีกหนึ่งพรรค จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน และไม่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ และพลเอกประยุทธ์ โดยทั้ง 7 พรรครวมกันได้คะแนนเสียงในรัฐสภา 245 เสียง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง