อาเซียน-ออสเตรเลียยกระดับสัมพันธ์เชิงยุทธ์ ท่ามกลางความตึงเครียดในทะเลจีนใต้

ไชลาจา นีลากันตัน
2021.10.27
วอชิงตัน
อาเซียน-ออสเตรเลียยกระดับสัมพันธ์เชิงยุทธ์ ท่ามกลางความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลียผ่านระบบประชุมทางไกล ที่รัฐสภา ในกรุงแคนเบอร์รา วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2564
สำนักนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย/เอเอฟพี

ออสเตรเลียและอาเซียน ผู้เล่นในพื้นที่อินโด-แปซิฟิก ตกลงที่จะยกระดับความสัมพันธ์ของกันเป็นขั้น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบครบวงจร” ประธานอาเซียนกล่าวเมื่อวันพุธ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่สูงขึ้นในระดับที่จีนได้พยายามเสนอแก่อาเซียนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ

การยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและออสเตรเลีย เกิดขึ้นหนึ่งเดือนเศษ หลังจากที่สมาชิกอาเซียนบางประเทศวิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลง AUKUS ที่จะอนุญาตให้ออสเตรเลียได้รับเทคโนโลยีการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ และอังกฤษ

ประธานอาเซียนได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการยกระดับความสัมพันธ์กับออสเตรเลีย จากเดิมที่เป็นเพียงหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์เท่านั้น ในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งแรกระหว่างทั้งสองฝ่าย

ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลียมีมาตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2517 แล้ว

“เราตกลงที่จะเริ่มความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบครบวงจรระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียอย่างมีเป้าหมาย มีแก่นสาร และก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน” แถลงการณ์ของประธานอาเซียนกล่าว

“เราพอใจกับความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ตลอด 47 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อให้เกิดความเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ระหว่างอาเซียน-ออสเตรเลีย”

ก่อนหน้าที่ประธานอาเซียนจะประกาศเกี่ยวกับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบครบวงจรนี้ นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย กล่าวว่า ออสเตรเลียเคยเสนอให้ยกระดับความสัมพันธ์มาก่อน และ “หากอาเซียนตัดสินใจยอมรับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบครบวงจร แน่นอนว่าออสเตรเลียพร้อมแล้ว”

“ความสัมพันธ์ในระดับที่สูงขึ้นดังกล่าว เป็นมากกว่าเพียงชื่อเรียก เราจะดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อให้ความเป็นหุ้นส่วนของเราอยู่ในสถานะที่สามารถจัดการกับความท้าทายที่ซับซ้อนในอนาคตได้” นายสกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ซึ่งจัดขึ้นทางออนไลน์

เขากล่าวต่อไปว่า ออสเตรเลียจะให้เงินทุนจำนวน 124 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (3,100 ล้านบาท) ในการสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่อาเซียนและออสเตรเลียร่วมกันคิดขึ้นมา เพื่อจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงการฟื้นตัวจากโควิด-19 การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงด้านพลังงาน และการเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษน้อยลง

จีนกับอาเซียน

ขณะเดียวกัน จีนยังคงกำลังรอคำตอบรับจากอาเซียนเกี่ยวกับความต้องการของจีนที่จะยกระดับความเป็นหุ้นส่วนของจีนกับอาเซียน ตามที่จีนได้กล่าวไว้เมื่อปีที่แล้ว และกล่าวย้ำอีกเมื่อเดือนมิถุนายน ขณะที่จีนแข่งขันกับสหรัฐฯ และขณะนี้ สหราชอาณาจักรและออสเตรเลียกำลังมีและใช้อิทธิพลในภูมิภาคที่ได้กลายมาเป็นเวทีโลกด้านภูมิศาสตร์การเมืองไปแล้ว

“ความต้องการของจีนที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญด้านยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจอันยาวนานของอาเซียนที่มีต่อจีน” บทความหนึ่งในสิ่งพิมพ์เผยแพร่ของสถาบัน ISEAS Yusof Ishak ในสิงคโปร์ ตั้งข้อสังเกตเมื่อเดือนที่แล้ว

ในการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียนเมื่อวันอังคาร จีนไม่ได้พูดถึงการยกระดับความสัมพันธ์ แต่จีนได้ล่อใจอาเซียน โดยเสนอ “ให้จัดการประชุมสุดยอดร่วมกัน เพื่อฉลองวาระครบรอบ 30 ปีของความสัมพันธ์จีนและอาเซียน” ซึ่งบางรายงานบอกว่าประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อาจเข้าร่วมการประชุมนั้น

จนถึงปัจจุบัน อาเซียนได้ใช้ "วิธีตอบที่สุภาพด้วยการนิ่งเงียบ” ต่อข้อเสนอของจีน บทความในสิ่งพิมพ์เผยแพร่ของสถาบัน ISEAS ระบุ

“อาเซียนเกรงว่าการรับข้อเสนอของจีนอาจทำให้ถูกมองได้ว่า เห็นจีน” สำคัญกว่าสหรัฐฯ บทความนั้นกล่าว โดยเสริมว่าความสัมพันธ์ด้านการเมืองหรือความมั่นคงระหว่างจีนและอาเซียนจะขึ้นอยู่กับความตึงเครียดที่เปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาทกันอยู่

211027-SEA-ASEAN-OZ SUb.jpg

เรือดำน้ำไฟฟ้า-ดีเซล ชั้น Collins HMAS Waller (SSG 75) ของกองทัพเรือออสเตรเลีย จอดเทียบท่าที่ท่าเรือซิดนีย์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2016 (เอเอฟพี)

จีนอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ รวมทั้งน่านน้ำภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไต้หวัน และของสมาชิกอาเซียนบางรายคือ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

จีนอุกอาจนำกำลังทหารเข้าไปในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนถือว่าเป็นดินแดนของจีนจริง ๆ

จีนบุกรุกมากขึ้นอย่างไม่ละอายใจเข้าไปในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศอื่นที่อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ใช้กำลังทหารทางทะเลเพื่อก่อกวนชาวประมงในน่านน้ำที่ประเทศอื่นอ้างกรรมสิทธิ์ และจอดเรือสำรวจของจีนไว้ในเขตที่อุดมด้วยน้ำมันในน่านน้ำของประเทศอื่น

จีนหวาดหวั่นยิ่งขึ้น เมื่อเห็นสหรัฐฯ มีเสรีภาพมากขึ้นในปฏิบัติการนำร่องในทะเลจีนใต้ เพื่อตอบสนองต่อการที่จีนอุกอาจส่งกำลังทหารเข้าไปในทะเลจีนใต้ และบุกรุกอย่างไม่กระดากใจเข้าไปในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศอื่น โดยอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้

ตอนนี้ ขณะเผชิญกับเสรีภาพที่มากขึ้นของสหรัฐฯ ในปฏิบัติการนำร่องในทะเลจีนใต้ จีนกำลังมองหาพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่บรรดาประเทศในภูมิภาคนี้ต่างก็ไม่ไว้ใจจีน แม้จีนจะมีอิทธิพลทางการเงินมากก็ตาม

เมื่อวันพุธ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ “ได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่อคำสั่งของศาลระหว่างประเทศ และแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการคุกคามคำสั่งนั้น” ในคำกล่าวของเขาในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก

ตามแถลงการณ์ของทำเนียบขาว ประธานาธิบดี โจ ไบเดน กล่าวว่า “สหรัฐอเมริกาจะร่วมแรงร่วมใจกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราต่อไป เพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และเสรีภาพในทะเล”

การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเป็นเวทีการเจรจาของอินโด-แปซิฟิก อันประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และรัสเซีย

ข้อตกลง AUKUS และอาเซียน

ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหาระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย แม้ข้อตกลงไตรภาคี AUKUS จะเป็นหนามยอกอกสำหรับสมาชิกอาเซียนบางประเทศก็ตาม

อาเซียน และนายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย ต่างก็ไม่ได้พยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงข้อตกลงไตรภาคีระหว่างออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ซึ่งประกาศออกมาเมื่อวันที่ 15 กันยายน ข้อตกลงนี้จะรับรองการส่งมอบกองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้แก่ออสเตรเลีย

เป็นที่คิดกันว่า ข้อตกลง AUKUS มีขึ้นเพื่อตอบโต้อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในพื้นที่อินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้ ที่ซึ่งจีนอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่เกือบทั้งหมดและที่กำลังเป็นข้อพิพาทกันอยู่กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน สมาชิกของอาเซียน

สามประเทศประชาธิปไตยที่เข้าร่วมทำข้อตกลง AUKUS ไม่ได้เอ่ยถึงจีน ทั้งสามประเทศกล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะทำให้ตนสนับสนุนผลประโยชน์ด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศของกันและกันได้ดีขึ้น และ “ช่วยจรรโลงสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่อินโด-แปซิฟิก”

การประกาศข้อตกลง AUKUS ทำให้หลายประเทศสมาชิกอาเซียนต่างแสดงความคิดเห็นออกมาทันที เพราะในที่สุดแล้ว อาเซียนก็เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อินโด-แปซิฟิกด้วย และทะเลจีนใต้ก็เปรียบเสมือนสวนหลังบ้านของอาเซียน

อินโดนีเซียและมาเลเซียไม่ยินดีกับข้อตกลงดังกล่าว โดยบอกว่าข้อตกลงนี้จะกระตุ้นการแข่งขันด้านอาวุธ (อาจเป็นอาวุธนิวเคลียร์ก็ได้) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนามเห็นด้วยกับข้อตกลง AUKUS อาเซียนตกลงกันไม่ได้ที่จะออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับข้อตกลง AUKUS เพราะอาเซียนทำงานโดยยึดหลักฉันทามติ

นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ ของออสเตรเลีย ได้พูดคุยทางโทรศัพท์และพบปะกับผู้นำและรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประเทศเหล่านั้นว่า ออสเตรเลียตระหนักถึงความมุ่งมั่นของออสเตรเลียว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และเชื่อมั่นในความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อวันพุธ แถลงการณ์ของประธานอาเซียนกล่าวว่า อาเซียนยินดีที่ “ออสเตรเลียให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและให้การยืนยันอีกครั้งถึงความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน” ตลอดจนความมุ่งมั่นของออสเตรเลียที่มีต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค

ในบรรดาสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ อินโดนีเซียได้ย้ำถึงความกังวลในเรื่องนี้ แต่ยังกล่าวด้วยว่า อินโดนีเซียให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่ความสัมพันธ์ใหม่ในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งอาเซียนได้ทำกับออสเตรเลีย

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ข้อตกลงดังเช่น AUKUS นี้ ต้อง “ไม่ทำให้การดำเนินความร่วมมือของเรามีความยุ่งยากขึ้น”

สำหรับนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย นายสกอตต์ มอร์ริสัน บอกแก่อาเซียนเมื่อวันพุธว่า ข้อตกลง AUKUS ตอกย้ำการสนับสนุนที่ออสเตรเลียมีให้แก่สถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่นำโดยอาเซียน

เจ.ซี. โกทินกา ในมะนิลา, อาหมัด สยัมสุดิน ในจาการ์ตา, และมุซลิซา มุสตาฟา ในกัวลาลัมเปอร์ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง