“ชาวพุทธพลังแผ่นดิน” ร้องนายกฯ ให้ชะลอหรือยกเลิกร่างพรบ.ฮัจย์

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.08.10
ปัตตานี
160810-TH-haj-620.jpg กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดินได้ส่งหนังสือขอให้รัฐบาลชะลอหรือระงับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ วันที่ 9 ส.ค. 2559
เบนาร์นิวส์

ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์อาจจะทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม เนื่องจากในวันอังคาร (9 ส.ค. 2559) นี้ กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดินได้ยื่นหนังสือขอให้นายกรัฐมนตรีชะลอหรือยุติร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในขณะที่บรรณาธิการบริหารนิตยสาร “ดิ อะลามี่” ได้ทำหนังสือเปิดผนึกเพื่อขอให้ทางกระทรวงมหาดไทยชี้แจงแนวทางยุติข้อข้ดแย้งนี้

ที่มาของเรื่องราว เกิดจากการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ..... ในวาระหนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งร่างพรบ. ดังกล่าวจะโยกการดูแลกิจการฮัจย์จากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ไปให้กระทรวงมหาดไทยดูแลแทน

ทางกลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดินได้เฝ้าติดตามร่างพรบ.ฉบับดังกล่าวมาโดยตลอด ได้แสดงความกังวลใจ เนื่องจากว่ามีปัญหา 3 ประการ ดังนี้

1. การกำหนดให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่มีอยู่ทั่วทุกส่วนของภูมิภาคของประเทศดูแลกิจการฮัจย์แทนกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม มาเป็นขยายฐานอำนาจของศาสนาอิสลามให้กระจายไปอยู่ในทุกหน่วยงานของกรมการปกครองทุกประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งหมดไม่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องกิจการฮัจย์ อันจะเป็นการเพิ่มงานและปัญหาให้กับหน่วยงานนี้เข้าไปอีก เมื่อเป็นเช่นนั้น จะต้องเพิ่มคนมุสลิมเข้าไปทุกแห่งของกรมการปกครอง เพื่อให้สอดคล้องกับพรบ.ฉบับนี้

2. พรบ.ฉบับนี้จะเป็นเหมือนการตั้งกระทรวงขึ้นมาใหม่ เพราะให้มีทั้งสำนักงานเป็นนิติบุคคลเป็นของตัวเอง มีคณะกรรมการบริหารที่มีอำนาจกำหนดนโยบาย ออกระเบียบต่างๆ ได้เอง มีงบประมาณ มีเจ้าหน้าที่ และอื่นๆ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและบุคลากรที่ครอบคลุมไปทุกพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีมุสลิมอาศัยอยู่

3. พรบ.ฉบับนี้เป็นเพียงกิจกรรมในการอำนวยความสะดวกให้คนเดินทางไปทำความเคารพสถานที่ทางศาสนาเท่านั้น ซึ่งคนทุกศาสนาก็ทำกันอยู่แล้ว และเป็นเรื่องศรัทธาปัจเจกบุคคล แต่ พรบ.ฉบับนี้ได้นำเงินภาษีของคนทั้งประเทศมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ มาส่งเสริมให้มุสลิมเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ เสมือนรัฐได้สร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดในสังคมไทยเสียเอง ทั้งไม่ยุติธรรมกับคนที่นับถือศาสนาอื่น

ในวันนี้ นายเอกราช มูเก็ม บรรณาธิการบริหารนิตยสาร ดิ อะลามี่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านมุสลิมในหลายๆ กรณี นับตั้งแต่การสร้างมัสยิด การสร้างสวนอุตสาหกรรมฮาลาล และล่าสุด การคัดค้านพรบ.ฮัจย์

“ส่วนตัวผมมองว่า คนเหล่านี้ขาดความเข้าใจและเข้าถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม” นายเอกราช กล่าว

“ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกว่า 300 ปี ที่มุสลิมอยู่ในสยามประเทศ เราร่วมกันสร้างชาติมาจนถึงทุกวันนี้ จึงนำเรียนท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ช่วยนำเรื่องเข้าหารือกับรัฐบาล หาทางสร้างความเข้าใจและหาแนวทางยุติปัญหา ก่อนที่สังคมไทยจะเป็นสังคมความขัดแย้งเหมือนในพม่า หรือในพื้นที่อื่นๆ และเกิดปัญหาจากคนกลุ่มเล็กๆ” นายเอกราช กล่าวเพิ่มเติม

เบนาร์นิวส์ได้พยายามติดต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ไม่สามารถติดต่อได้ในวันนี้

ทางด้านนายรักชาติ สุวรรณ์ แกนนำเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดินมีตัวตนอยู่จริง แต่ไม่ได้อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มีเครือข่ายชาวพุทธในพื้นที่ที่เชื่อมกันอยู่ ซึ่งในเรื่องร่างพรบ.ฮัจย์ ชาวบ้านในพื้นที่มีเสียงแตกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เห็นด้วย และกลุ่มที่ไม่มีความคิดเห็น

ทุกวันนี้ รัฐส่งเสริมการเดินทางไปร่วมพิธีฮัจย์ให้กับเฉพาะคนมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดน และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา ในขณะเดียวกัน รัฐก็ส่งเสริมให้คนพุทธ เฉพาะในพื้นที่ดังกล่าว เดินทางไปสังเวชนียสถานในประเทศอินเดียด้วยเช่นกัน

“คือ บรรดาท่านทั้งหลายที่มาถือป้ายพยายามเรียกร้องอยากให้มีความชัดเจนของพรบ.ของพุทธ เพื่อความเท่าเทียมกัน ซึ่งเดิมฮัจย์จะอยู่ภายใต้กรมศาสนา แล้วถ้าพรบ.ฮัจย์ผ่าน ก็จะมีการย้ายมาให้มหาดไทยดูแล จะมีเจ้าภาพที่ชัดเจน เขาก็อยากมีเจ้าภาพที่ชัดเจนบ้าง” นายรักชาติ กล่าว

นายรักชาติกล่าวต่อไปว่า การไปสังเวชนียสถานของชาวพุทธกลับไม่มีเจ้าภาพในการทำเรื่องนี้ที่ชัดเจน หรืออาจจะยังคงอยู่ในกรมการศาสนา ซึ่งมีความจำกัดในการปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณที่ส่งลงมาในพื้นที่ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง

“ทางออกของปัญหาคือ มหาดไทยจะต้องออกมาชี้แจงว่า งานกิจการฮัจย์ที่เคยอยู่ในความดูแลของกรมศาสนา จะย้ายไปอยู่ในมหาดไทยเพราะสาเหตุอะไร คนส่วนใหญ่ต้องการรู้ขอบเขตมีแค่ไหน” นายรักชาติ กล่าวทิ้งท้าย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง