อาเซียนวิจารณ์เมียนมารุนแรง ประณามการประหารนักโทษการเมืองเป็น ‘ความเลวร้ายที่น่าอดสูยิ่ง’
2022.07.26
กรุงเทพฯ กัวลาลัมเปอร์ และจาการ์ตา

ในวันอังคารนี้ ประชาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ออกแถลงการณ์ตำหนิคณะรัฐประหารพม่าที่สั่งประหารชีวิตนักโทษการเมือง 4 คน โดยเรียกการกระทำดังกล่าวว่าเป็น “สิ่งที่เลวร้ายอย่างยิ่ง” พร้อมระบุว่าการกระทำของคณะรัฐประหารพม่าแสดงออกถึงการ “ขาดเจตจำนงอย่างชัดเจน” ในการกลับคืนสู่สภาวะปกติของการเป็นรัฐสมาชิก
มาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่กล่าวถึงเรื่องการรัฐประหารในเมียนมาอย่างตรงไปตรงมา ออกแถลงการณ์แยก และเรียกการประหารชีวิตนักโทษการเมืองชาวพม่าว่าเป็น “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” โดยนักการทูตระดับสูงของมาเลเซีย กล่าวว่า “ผู้แทนรัฐบาลทหารพม่าจะไม่ได้รับอนุญาต” ให้เข้าร่วมการประชุมใด ๆ ก็ตามของอาเซียน ซึ่งรวมถึงการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งถัดไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 สิงหาคมนี้
การออกแถลงการณ์ประณามครั้งนี้ถือเป็นท่าทีที่เห็นได้ไม่บ่อยนัก จากหนึ่งในสมาชิกของประชาคมอาเซียนที่ก่อตั้งมาแล้ว 55 ปี และการดำเนินการส่วนใหญ่ของอาเซียนมักอาศัยฉันทามติโดยรวม แต่ในครั้งนี้ ประชาคมอาเซียนและรัฐบาลชาติสมาชิกได้ร่วมส่งเสียงพร้อมกับประชาคมโลกเพื่อประณามรัฐบาลทหารพม่าที่สั่งประหารชีวิตนักโทษการเมืองทั้ง 4 คน นอกจากนี้ กองทัพพม่ายังได้สังหารประชาชนชาวเมียนมาไปกว่า 2,000 คน นับตั้งแต่ตอนที่กองทัพพม่าทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว
อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นว่าที่ประธานอาเซียนในปีหน้า กล่าวว่าการสั่งประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยชาวเมียนมาทั้ง 4 คนด้วยการแขวนคอเป็นเหตุให้ประชาคมอาเซียนไม่เชื่อใจเมียนมา ขณะที่ ยูยุน วาห์ยูนิงรัม ผู้แทนจากอินโดนีเซียในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ตั้งข้อสงสัยว่าจุดยืนในประชาคมของสมาชิกที่ทรยศนั้น จะสั่นคลอนหรือไม่
ด้านกัมพูชา ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปัจจุบัน กล่าวว่า “รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่ง” ที่รัฐบาลทหารพม่าสั่งประหารชีวิตนักโทษการเมือง แม้ว่าจะมีการร้องขอจากสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แล้วก็ตาม
การประหารชีวิตนักโทษการเมืองทั้ง 4 คน ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2519 โดยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ร้องขอโดยตรงกับ พลเอกอาวุโส มิน ออง ลาย ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ให้ทบทวนคำสั่งประหารชีวิตนักโทษการเมืองฝ่ายต่อต้าน เพราะจะนำมาซึ่งการประณามอย่างรุนแรง และทำให้กระบวนการฟื้นฟูสันติภาพเป็นไปได้อย่างลำบากยิ่งขึ้น
แถลงการณ์ของกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนระบุว่า คำสั่งประหารชีวิตนักโทษการเมืองชาวพม่าถือเป็นความล้มเหลว “ในการเร่งดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ซึ่งเป็นการสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในการสร้างการพูดคุยระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อยุติความรุนแรงและบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้บริสุทธิ์”
รัฐบาลทหารพม่าละเมิดฉันทามติ 5 ข้อของประชาคมอาเซียนที่พวกเขาลงนามเห็นชอบไว้ เมื่อเดือนเมษายน 2564 เพื่อฟื้นฟูประเทศให้กลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง โดยฉันทามติ 5 ข้อ คือ ให้ยุติความรุนแรงในเมียนมาทันที, ให้ทุกฝ่ายร่วมหารืออย่างสร้างสรรค์เพื่อหาทางออกอย่างสันติวิธี เพื่อประโยชน์ของประชาชน, ให้ผู้แทนพิเศษของอาเซียนทำหน้าที่อำนวยความสะดวก เป็นสื่อกลางของกระบวนการหารือภายใต้ความช่วยเหลือของประธานกลุ่มอาเซียน, อาเซียนให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน และข้อสุดท้าย ผู้แทนพิเศษ รวมถึงคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางเยือนเมียนมา เพื่อพบปะกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
สำหรับนักโทษการเมือง 4 คนที่รัฐบาลทหารพม่าสั่งประหารชีวิต ได้แก่ ‘โกจิมมี’ (ชื่อจริงคือ จ่อ มิน ยู) นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย นายเพียว เซ ยา ธอ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) รวมถึง นายฮลา เมียว อ่อง และนายอ่อง ธูรา ซอ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีการคาดการณ์ว่าทั้ง 4 คนถูกประหารชีวิตไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่รัฐบาลทหารพม่าเพิ่งประกาศข่าวต่อสาธารณชนในวันจันทร์
ศาลทหารเมียนมาพิพากษานักโทษการเมืองทั้ง 4 คนว่ามีความผิดฐาน “ผู้ก่อการร้าย” และศาลไม่รับอุทธรณ์โทษประหารชีวิต นอกจากนี้ รัฐบาลทหารพม่ายังปฏิเสธความเป็นไปได้เรื่องการอภัยโทษต่อชายทั้ง 4 คนนี้
นายไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย (ขวา) และ นางโนลีน เฮย์เซอร์ ทูตพิเศษเลขาธิการสหประชาชาติด้านเมียนมาร่วมแถลงข่าว ที่รัฐสภา ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 (ภาพ กรมสารสนเทศมาเลเซีย/เอพี)
นายไซฟุดดิน อับดุลเลาะฮ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับนางโนลีน เฮย์เซอร์ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา หลังการพบกันในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยเขาระบุว่ารัฐบาลทหารพม่า “กำลังเย้ยหยันฉันทามติ 5 ข้อ”
“ผมเชื่อว่ารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะตรวจสอบเรื่องนี้ เมื่อเราพบกันในการประชุมที่กรุงพนมเปญ ในวันที่ 3 สิงหาคมนี้” เขากล่าวต่อผู้สื่อข่าว
“เมียนมาไม่ควรได้รับคำเชิญให้ส่งผู้แทนทางการเมืองเพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีในทุกระดับ สิ่งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าพวกเราจริงจังอย่างมากกับประเด็นเรื่องผู้แทนทางการเมือง”
‘การประณามโดยตรง’ ของอาเซียน
อินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ชี้ว่าประชาคมอาเซียนไม่อาจปฏิบัติต่อเมียนมาตามปกติได้อีก
“คำสั่งประหารชีวิตเหล่านี้ยิ่งทำให้อาเซียนไม่ไว้วางใจเมียนมายิ่งขึ้น เมียนมามีความตั้งใจในการปฏิบัติตามฉันทามติจริงหรือ” ยูยุน วาห์ยูนิงรัม ผู้แทนจากอินโดนีเซีย ในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“จะมีนัยยะที่จริงจังมากขึ้นในอาเซียนต่อเรื่องเมียนมาหรือไม่” เธอกล่าว
ระหว่างการแถลงข่าวสั้น ๆ เมื่อวันจันทร์ ในกรุงวอชิงตันดีซี เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุว่าการประหารชีวิตนักโทษการเมืองในเมียนมาถือเป็น “การประณามโดยตรง” ต่อข้อเรียกร้องของประชาคมอาเซียนและประชาคมอื่น ๆ โดยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้กดดันอาเซียนมาตลอดให้ปฏิบัติอย่างจริงจังต่อรัฐบาลทหารพม่า
ขณะเดียวกัน นักวิชาการชาวกัมพูชาแสดงความเห็นด้วยกับท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ
“การประหารชีวิตนักโทษการเมืองชาวเมียนมาทั้ง 4 คน สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่เคารพ...และไม่ให้ค่าต่อตำแหน่งประธานอาเซียนของกัมพูชาที่เรียกร้องให้พวกเขาอย่าประหารชีวิตนักโทษการเมือง” ฟาน บุนนา นักวิจัยประจำศูนย์กัมพูชาศึกษาเพื่อความร่วมมือและสันติภาพ (Cambodian Institute of Cooperation and Peace - CICP) กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย หน่วยงานต้นสังกัดของเบนาร์นิวส์
“เรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่สนใจใยดีต่อฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน การประหารชีวิตยังพิสูจน์ได้ด้วยว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่สนใจว่า ประชาคมนานาชาติพูดถึงพวกเขาว่าอย่างไร” ฟาน บุนนา กล่าวเพิ่มเติม
ขณะเดียวกันที่ประเทศไทย ชาวไทยและชาวเมียนมากว่า 500 คน ออกมาร่วมกันชุมนุมประท้วง ที่หน้าสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อคำสั่งประหารชีวิต ผู้ชุมนุมบางส่วนโบกธงชาติเมียนมาและคาดศีรษะด้วยแถบผ้าแดงที่มีอักษร NLD เขียนไว้ ขณะที่บางส่วนตะโกนคำรุนแรงต่อต้าน พลเอกอาวุโส มิน ออง ลาย
ซอ จอ อาย ไปง หนึ่งในผู้ชุมนุมชาวเมียนมาวัย 19 ปี ลี้ภัยออกจากเมียนมาพร้อมกับแม่ของเขา หลังจากการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กล่าวว่า
เขาต้องการให้ประชาคมโลกยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมา และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พวกเขา นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการติดต่อกับรัฐบาลทหารพม่า
ผู้นำประท้วงกล่าวกับฝูงชนระหว่างการชุมนุมนอกสถานทูตเมียนมา ในกรุงเทพฯ เพื่อประณามการประหารนักโทษการเมืองสี่คนของรัฐบาลทหารพม่า วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 (สุเบล ราย บันดารี/เบนาร์นิวส์)
ด้าน นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์
“เราเสียใจอย่างยิ่งต่อการสูญเสีย 4 ชีวิต ซึ่งสร้างความวุ่นวายใจที่มากขึ้นต่อปัญหาในเมียนมา และเรามีความกังวลอย่างมากต่อเหตุการณ์ใด ๆ ที่อาจขัดขวางหนทางสู่สันติภาพในเมียนมา” นายธานี กล่าวผ่านใบแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
“การใช้กำลังและความรุนแรง ไม่สามารถแก้ไขความเห็นต่างทางการเมืองได้ เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาแสวงหาแนวทางแก้ไขและคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองนี้ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิต และธำรงไว้ซึ่งสิทธิในการดำรงชีวิตอย่างสันติของประชาชนเมียนมา เราขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวและผู้ใกล้ชิดของผู้ที่ถูกประหารชีวิตทั้ง 4 ราย” นายธานี กล่าวเพิ่มเติม
มุซลิซา มุสตาฟา ในกัวลาลัมเปอร์ อัลวิน ปราเซทโย ในจาการ์ตา และสุเบล ราย บันดารี และนนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน