สมาชิกรัฐสภาอาเซียน : อาเซียนต้องขับเมียนมาออก หากไม่ยุติรัฐประหาร
2021.02.02
กัวลาลัมเปอร์ และมะนิลา

บรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องร่วมกันกดดันเมียนมา และขับเมียนมาออกจากอาเซียน หากผู้นำทหารในเมียนมาไม่ยุติการทำรัฐประหารที่มีขึ้นในต้นสัปดาห์นี้ กลุ่มสมาชิกรัฐสภาจากทั่วภูมิภาคนี้กล่าวเมื่อวันอังคาร
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นและจีน และชาติตะวันตก จำเป็นต้องหยุดพูดถึง "เรื่องดี ๆ" เกี่ยวกับการปรองดองในเมียนมา และดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ชาร์ล ซานติอาโก ประธานสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าว
“อาเซียนควรส่งคณะผู้แทนระดับสูงไปเยือนเมียนมาโดยเร็ว เพื่อกดดันให้คืนอำนาจการปกครองประเทศแก่ นางอองซาน ซูจี… เพื่อย้ำให้เห็นว่า รัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และเป็นการละเมิดหลักการของอาเซียนและกฎบัตรอาเซียน” ชาร์ล ซานติอาโก สมาชิกรัฐสภาจากมาเลเซีย กล่าวในแถลงข่าวทางออนไลน์แก่กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยอื่น ๆ
“หากเมียนมาไม่ยุติการรัฐประหาร ผมคิดว่า ควรดำเนินการขับไล่เมียนมาออกจากอาเซียน”
ชาร์ล ซานติอาโก ยอมรับว่าชาติในอาเซียนมีจุดยืนที่ต่างกันในการตอบโต้ต่อการรัฐประหารนี้ โดยกัมพูชา ไทย และฟิลิปปินส์ (ในตอนแรก) กล่าวว่า การทำรัฐประหารนี้ เป็นเรื่องภายในของเมียนมา ที่น่าสังเกตคือ ทั้งสามประเทศต่างมีประวัติการรัฐประหารมาก่อน
นายซานติอาโก เป็นสมาชิกของฝ่ายค้านในมาเลเซีย ซึ่งมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และกำลังอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉินแห่งชาติเป็นครั้งแรก ในรอบกว่าห้าทศวรรษ
ส่วน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ต่างแสดงความกังวลอย่างหนักเกี่ยวกับเหตุรัฐประหารเมื่อวันจันทร์ในเมียนมา และราชอาณาจักรบรูไน ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ได้เรียกร้องให้กลับสู่สภาวะปกติ “ตามเจตจำนงและประโยชน์” ของประชาชนชาวเมียนมา
ทว่า เมื่อวันอังคาร ฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนท่าทีต่อเหตุรัฐประหารนี้ และยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับรัฐประหารในเมียนมา
“รัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาด้วยความกังวลยิ่ง และเป็นห่วงมากถึงความปลอดภัยของนางอองซาน ซูจี” กระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์กล่าวในแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง
ขณะเดียวกัน เมื่อวันอังคาร ฟอร์ติฟายไรต์ องค์กรต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกมาตรการคว่ำบาตร เพื่อให้ทั่วโลกงดขายอาวุธแก่เมียนมา และส่งเรื่องที่เกิดขึ้นในเมียนมาไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศที่ กรุงเฮก
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy) ของนางอองซาน ซูจี กวาดที่นั่งในรัฐสภาได้ถึง 396 ที่นั่ง ขณะที่พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development) ของทหาร ได้รับเพียง 33 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน
ในวันจันทร์ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาได้จับกุมนางอองซาน ซูจี และผู้นำระดับสูงคนอื่น ๆ จากนั้น ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี เพื่อจัดการกับข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งมีขึ้นเมื่อสามเดือนก่อน
เมื่อวันอังคาร กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในเมียนมาถูกยึดอำนาจในการทำรัฐประหารโดยทหาร เมื่อวันก่อนหน้า ดังนั้น ตอนนี้สหรัฐอเมริกาจะทบทวนการให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลเมียนมา กระทรวงฯ กล่าว
รัฐประหารเป็นปัญหาของ ‘อาเซียน’
การไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก เป็นหลักการพื้นฐานของอาเซียน ดังนั้น หากรัฐประหารไม่กระทบโดยตรงต่อบรรดาประเทศสมาชิก อาเซียนก็ไม่น่าจะดำเนินการใด ๆ กับเมียนมา โมฮัมหมัด ฮาซัน อันโซรี ผู้อำนวยการวิจัยของศูนย์ฮาบิบี สถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะ ในอินโดนีเซีย กล่าว
“อินโดนีเซียหรือประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศอื่น ไม่สามารถแทรกแซงหรือกดดันอย่างหนักได้ นั่นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง” นายโมฮัมหมัดบอกแก่เบนาร์นิวส์
ที่จริงแล้ว เมื่อวันจันทร์ แม้อินโดนีเซียได้เรียกร้องให้เมียนมาดำเนินการตามหลักการของกฎบัตรอาเซียน รวมถึงการยึดหลักประชาธิปไตย แต่อินโดนีเซียต้องไม่พูดหรือทำอะไรมากไปกว่านั้น นายฮิกมาฮานโต จูวานา อาจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย กล่าว
“ณ ตอนนี้ ไม่แนะนำให้อินโดนีเซียออกแถลงการณ์ ที่อาจถูกมองจากรัฐบาลรัฐประหารว่าเป็นการแทรกแซง” เขาบอกแก่เบนาร์นิวส์
นโยบายไม่แทรกแซงของอาเซียนใช้ไม่ได้กับเหตุรัฐประหารในเมียนมา เนื่องจากการที่ทหารยึดอำนาจการปกครองในเมียนมา ส่งผลกระทบที่กว้างกว่า ในภูมิภาคนี้ และจำเป็นที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องจัดการ ชาร์ล ซานติอาโก ส.ส. ของมาเลเซีย กล่าว
“นี่ไม่ใช่การแทรกแซง เพราะปัญหาของเมียนมาจะกลายเป็นปัญหาของอาเซียนด้วย… เพราะตอนนี้ประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย จะมีผู้ลี้ภัยเข้ามายังประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาด้านความมั่นคงสำหรับประเทศเหล่านั้น” นายซานติอาโก กล่าว
วิดีโอ : เมื่อค่ำวันอังคารที่ 2 กพ. 2564 ประชาชนในเมียนมา ที่พักอาศัยในแหล่งธุรกิจออกมาทำการประท้วงการรัฐประหาร พากันออกมาตีเคาะกะทะ-หม้อไห ที่หน้าต่างร่วมกันอย่างดังทั่วบริเวณ เริ่มเมื่อเวลา 20:00 ถึงเกือบครึ่งชั่วโมง
ขณะเดียวกัน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในมาเลเซีย กล่าวว่า ในเดือนธันวาคม 2563 มีผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยจากเมียนมา จำนวนกว่า 150,000 คน ที่ขึ้นทะเบียนกับ UNHCR โดยเป็นชาวโรฮิงญา 102,250 คน ชาวชิน 22,410 คน และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อีก 29,360 คน “จากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง หรือที่หลบหนีการถูกกดขี่ในเมียนมา” ตามข้อมูลของ UNHCR
ชาวโรฮิงญาประมาณ 600,000 คน ยังคงอยู่ในรัฐยะไข่ของเมียนมา รวมถึงอีก 126,000 คน ที่เหมือนถูกกักขังในค่ายหรือสถานที่คล้ายค่าย ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2555 สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) กล่าวเมื่อวันจันทร์
นอกจากนี้ ยังมีผู้พลัดถิ่นจำนวนกว่า 100,000 คน จากชุมชนต่าง ๆ สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างกองทัพเมียนมากับกองทัพอาระกัน ในรัฐยะไข่และรัฐชิน OCHA กล่าว กองทัพอาระกัน เป็นกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาที่ก่อตั้งขึ้น เพื่อตอบโต้การที่ชุมชนของตนถูกปฏิบัติเลวร้ายกว่าพลเมืองชั้นสอง
“ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งพำนักของผู้พลัดถิ่นกว่าหนึ่งในสามได้” OCHA กล่าว
ความหวาดกลัวของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่
ไว นู ผู้อำนวยการเครือข่ายสันติภาพสตรี และนักเคลื่อนไหวชาวโรฮิงญา กล่าวว่า ชาวโรฮิงญาในเมียนมาต่างหวาดกลัวเป็นอย่างมากถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในเมียนมา
“จะเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่อาศัยของกลุ่มคนชาติพันธุ์ต่าง ๆ และที่ที่มีความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง... คนส่วนใหญ่ในค่ายต่างหวาดกลัวกันมากว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองต่อไป อนาคตของพวกตนจะเป็นอย่างไร” ไว นู กล่าวในงานแถลงข่าวร่วมกับ ชาร์ล ซานติอาโก
“ไม่มีความคืบหน้าอะไรในหลายปีที่ผ่านมา แต่รัฐประหารของทหารครั้งนี้ ทำให้เขาเหล่านี้รู้สึกหมดหวังเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบเอาผิด การค้นหาความยุติธรรม และสันติภาพในอนาคต”
เมื่อวันอังคาร ประธานสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้ย้ำถึงความกังวลของโฆษกสหประชาชาติเกี่ยวกับชาวโรฮิงญาที่ยังอยู่ในเมียนมา
“ผมเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า รัฐประหารในเมียนมา อาจทำให้ปัญหาของกลุ่มชนเปราะบาง รวมทั้งชาวโรฮิงญามุสลิม เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก ผมขอประณามการรัฐประหารนี้อีกครั้ง และขอเรียกร้องให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงรัฐยะไข่ และส่วนอื่น ๆ ของประเทศได้อย่างไร้ข้อจำกัด” วอลคาน โบซกีร์ กล่าวในทวิตเตอร์