การสร้างเขื่อนในแม่โขงและภูมิอากาศแปรปรวน กระทบชาวบ้านหนักหน่วง
2020.02.19
เชียงราย
การก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก นำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำกว่า 60 ล้านคน ที่ต้องพึ่งพาสายน้ำแห่งนี้ในการหาปลาและทำเกษตรกรรม
พระอภิชาติ รติโก เจ้าอาวาสวัดสบกก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ผู้ซึ่งสังเกตเหตุความผิดปกติของระดับน้ำในแม่น้ำโขงมาตลอดหลายสิบปี เชื่อว่าความผิดปกติดังกล่าวเกิดจากเขื่อนที่สร้างอยู่ตอนบนของแม่น้ำโขง
“ตั้งแต่ปี 48 สมัยก่อนนี้ ระดับน้ำ ถ้าหน้าแล้งก็คือค่อย ๆ ลงไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดจุดนึง ระยะนึงมันจะค่อย ๆ ขึ้น แต่ระยะเวลา 4-5 ปีมานี้ ถ้าจะขึ้นก็ขึ้นรวดเร็ว 3 วันก็ขึ้น 3 วันก็ลง คือ ลักษณะเหมือนการเปิดแล้วก็ปิดน้ำ ...ปี 51 น้ำท่วมหมู่บ้าน อพยพทั้งหมู่บ้าน ปีนั้นไม่มีการแจ้งเตือน ไม่รู้ด้วยว่าน้ำมาจากการระบาย หรือว่าจากพายุ หรือจากอะไร... ตั้งแต่นั้นมาก็เลยสังเกตว่า ขึ้น 3 วัน ลง 3 วัน มันก็เป็นการระบายน้ำมากกว่า” พระอภิชาติระบุ
นายชาย (ขอสงวนนามสกุล) ชาวประมงในบ้านสบกก อำเภอเชียงแสน เชียงราย กล่าวว่า ตนหาปลาหลายวัน แต่แทบจะหาไม่ได้
“เดี๋ยวนี้ รู้สึกว่าน้ำไม่ขึ้น แห้งหนักเนาะ แห้งอย่างกะสงกรานต์... ปลาไม่ใช่มันไม่มีหรอก แต่มันหาไม่ได้ มันก็มีผลกระทบอยู่ ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ถ้ามันมีงานทำ เขาจ้างก็ไปหมดแหละ ไม่มีก็ต้องคอยอยู่นี่แหละ บางทีสี่ห้าวัน อยู่นี่เป็นอาทิตย์แล้ว” นายชาย ระบายความทุกข์ต่อเบนาร์นิวส์
ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลไทยควรพยายามที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงร่วมกับประเทศจีนและลาว
“สิ่งสำคัญคือยกระดับในการพูดคุย เพื่อมีการจัดการเรื่องของการปล่อยน้ำจากเขื่อน ว่าจะต้องปล่อยอย่างไร ปล่อยปริมาณเท่าไหร่ ให้มันสอดรับกับฤดูกาล ให้ระบบนิเวศน์มันทำงานได้ ให้มันไม่รุนแรงเหมือนปัจจุบันที่กำลังทำอยู่” นายนิวัฒน์กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาที่อยากให้รัฐบาลไทยดำเนินการ
ทั้งนี้ แม่น้ำโขงมีความยาว 4,350 กิโลเมตรจากประเทศจีนสู่ประเทศเวียดนาม ถือเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดอันดับ 12 ของโลก ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่ และเป็นที่อาศัยของพันธุ์ปลาอย่างน้อย 1,100 ชนิด ปัจจุบัน มีเขื่อนที่ถูกสร้างบนแม่น้ำโขงในประเทศจีน 10 แห่ง รวมกำลังผลิต 19,990 เมกกะวัตต์ ในลาว 2 แห่ง รวมกำลังผลิต 1,545 เมกกะวัตต์