สภาตีตกร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.11.02
กรุงเทพฯ
สภาตีตกร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ไวน์ที่ผลิตจากไร่องุ่นและโรงบ่มไวน์แห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครราชสีมา ขณะที่เจ้าของรายย่อยนี้ ต้องเผชิญกับกฎหมายสุราที่เอื้อประโยชน์ผูกขาดกับผู้ผลิต-จำหน่ายรายใหญ่เท่านั้น ภาพเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563
เอเอฟพี

ในวันพุธนี้ สภาผู้แทนราษฎรโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่จะอนุญาตให้ครัวเรือนสามารถผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อใช้บริโภคในครอบครัวได้ และลดข้อจำกัดในการผลิตให้กับผู้ผลิตรายย่อย เพื่อลดการผูกขาดการผลิตของบริษัทสุราขนาดใหญ่ที่มีมาอย่างยาวนาน

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ 196 เสียง ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ต่อเสียงเห็นด้วย 194 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง ในการลงมติวาระที่ 3 ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ตกไป ทั้งนี้ รัฐบาลอ้างว่าคณะรัฐมนตรีได้ร่างกฎกระทรวงการคลัง ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวานนี้ ซึ่งสามารถใช้แทน ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าได้ แม้ว่านักวิชาการเห็นว่ากฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ไม่ได้ให้ประโยชน์รายย่อยจริง

นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นผู้เสนอ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า แสดงความผิดหวังกับผลการลงมติ

“ผมต้องกราบขออภัยว่าผมทำไม่สำเร็จ ตัวเลข 2 คะแนนเสียงมันไม่ใช่ข้ออ้าง แพ้ก็คือแพ้… (ในอนาคต) จะพยายามกลับไปร่างกฎกระทรวง ที่เราเห็นว่าควรจะเป็นอย่างไร ผมต้องยอมรับว่าเสียเหลี่ยมการเมืองของผู้เฒ่าการเมืองในทำเนียบ” นายเท่าพิภพ กล่าวหลังการลงคะแนนเสียงว่า

ทั้งนี้ ฝ่ายค้านและผู้เชี่ยวชาญในวงการสุราระบุว่า กลุ่มสามปอ แกนนำรัฐบาล คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความชิดเชื้อกับกลุ่มนายทุนสุรา เช่น กลุ่มไทยเบฟ เจ้าของเบียร์ช้าง และบุญรอดบริวเวอรี่ เจ้าของเบียร์สิงห์ ซึ่งรัฐบาลพยายามปกป้องผลประโยชน์

ในระหว่างการอภิปรายก่อนลงคะแนน นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส. อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า มีความกังวลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ว่าจะส่งผลกระทบด้านลบ

“ผมเป็นห่วงว่าการใช้สุรามีทั้งบวกและลบ สุราก็คงมีกฎหมายควบคุมอีกหลายประการ ผมกลัวตัวเลขของการเสียชีวิตของปีใหม่สงกรานต์ จะเพิ่มขึ้นหรือเปล่า จะมีการควบคุมได้ระดับไหน” นายชาดา กล่าว

ด้านนายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เคยเปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า เหตุผลที่รัฐไม่เปิดเสรีในการทำสุรา เนื่องจากมีความเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

“รัฐยังไม่เปิดเสรี เพราะไม่อยากที่จะไปตอบกระทรวงสาธารณสุขว่า ทำเบียร์เพื่อมอมเมาประชาชนหรือเปล่า เบียร์มันมียีสต์ที่ยังไม่ตาย ถ้ามีปัญหาคนบริโภคอาจมีผลต่อสุขภาพได้ เราห่วงสุขภาพประชาชนเป็นสำคัญ… การผลิตจะมีน้ำเสีย ต้องมีบ่อบำบัด ไม่ใช่ปล่อยทิ้งได้เลย ค่อนข้างมีผลกระทบพอสมควร” นายณัฐกร กล่าว

ข้อมูลของกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ระบุว่า ในปี 2557 ประเทศไทยมีโรงผลิตสุราทุกประเภทที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง 103 โรงงาน ขณะที่ ผู้ผลิตสุราดื่มเองมีการรวมตัวในเฟซบุ๊กกว่า 7 พันราย และมีผู้ผลิตสุรารายย่อยชาวไทย อีกกว่า 30 ราย ที่เลือกไปผลิตสุราในต่างประเทศแล้วส่งกลับมาขายในประเทศไทย เนื่องจากการนำเข้าสุรามีเงื่อนไขที่ซับซ้อนและใช้ทุนน้อยกว่าการผลิตในประเทศ

รัฐชิงลดข้อจำกัดตัดหน้าพรรคก้าวไกล

พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ซึ่งเสนอโดยพรรคก้าวไกลฉบับนี้ ผ่านการพิจารณาในวาระแรก เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 178 ไม่เห็นด้วย 137 และงดออกเสียง 15 คน โดยการลงคะแนนเสียงครั้งนั้นมี ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลจำนวนหนึ่งออกเสียงเห็นด้วย นำไปสู่การตั้งกรรมาธิการพิจารณาวาระที่ 2 กระทั่งมีการกำหนดให้ลงคะแนนเสียงวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565

หนึ่งวันก่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งผ่านความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการคลัง ที่อ้างว่าใช้แทน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าได้

“ไม่ใช่เรื่องชิงไหวชิงพริบตัดหน้าสภา เป็นเรื่องที่ต้องการให้มีกฎเกณฑ์เพื่อผ่อนปรนให้สามารถผลิตสุรา โดยเฉพาะสุราที่ไม่ได้มีเพื่อการค้าให้สามารถทำได้ โดยเฉพาะสุราพื้นบ้าน เนื่องจากเป็นการรักษาภูมิปัญญาชาวบ้าน กฎกระทรวงที่ทำเนี่ยไม่ทำให้รายได้ของรัฐบาลลดน้อยลง ทำให้ผู้ที่จะประสงค์จะผลิตสุราขึ้นมาเนี่ยสามารถทำได้โดยไม่ต้องไปขออนุญาตอะไรกันเป็นที่วุ่นวาย”​ นายวิษณุ กล่าว

แต่เดิม พ.ร.บ.สรรพสามิตฯ ซึ่งใช้ควบคุมการผลิตสุราชนิดต่าง ๆ ถูกวิพากษ์-วิจารณ์ว่าเป็นกฎหมายที่เอื้อประโยชน์-ผูกขาด ธุรกิจสุราไว้กับผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้น เนื่องจากมีเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ผลิตสุรารายย่อยไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เช่น ข้อกำหนดที่ระบุว่าผู้ผลิตเบียร์ต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท หรือข้อกำหนดว่าโรงงานผลิตเบียร์ต้องสามารถผลิตขั้นต่ำสุด 1 แสนลิตรต่อปี เป็นต้น

รายย่อยผิดหวัง

หลังการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร นายจอห์นสัน (สงวนนามสกุล) ผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ยี่ห้อ It’s time to bear ชี้ว่า เป็นผลการลงคะแนนที่น่าผิดหวัง และร่างกฎกระทรวงการคลังที่ ครม. อ้างว่า เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสุรารายย่อย ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้รายย่อยจริง ๆ

“สุดท้าย การทำเบียร์กินเองก็ยังทำไม่ได้ ผลิตน้อย ๆ เพื่อขายก็ทำไม่ได้ คนที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้เป็นบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ ตลาดเบียร์มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท รายใหญ่มันจะไม่ยอมเสียแม้แต่ 1 เปอร์เซ็นต์ กฎกระทรวงฯที่ออกใหม่ก็ไม่ได้เอื้อรายเล็ก ตลกดี กัญชาที่เคยเป็นยาเสพติด ตอนนี้ใช้กัญชากันได้เสรี ไม่มีกฎหมายควบคุม แต่เหล้าเบียร์ดันมีกติกาห้ามโน่นนี่ เสรีน้อยกว่ากัญชา” นายจอห์นสัน กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ด้าน ผศ.ดร. เจริญ เจริญชัย จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และเว็บไซต์สุราไทย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ผลการลงมติไม่เหนือความคาดหมาย

“พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า มันมีกฎที่ห้ามระบุกำลังผลิตขั้นต่ำ ซึ่งข้อกำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำเป็นอุปสรรคที่สุดสำหรับรายเล็ก กติกาแบบนี้คิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้คือ รัฐบาลต้องการรักษาผลประโยชน์ให้กับใครบางคน เพราะกฎกระทรวงฯที่ออกมา กำหนดให้ผลิตสุราสีขั้นต่ำ 3 หมื่นลิตร สุราขาว 9 หมื่นลิตรต่อวัน หมายความว่าใครจะผลิตต้องมีโรงงานขนาดใหญ่ จะทำเบียร์กินเอง ต้องส่งเบียร์ให้สรรพสามิตตรวจ” ผศ.ดร. เจริญ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง