ศาลออกหมายจับ “กัสตูรี มาห์โกตา” แกนนำพูโล
2022.08.05
ปัตตานี

ศาลจังหวัดยะลา ออกหมายจับนายกัสตูรี มาห์โกตา ประธานขบวนการพูโล ในข้อหาอั้งยี่ซ่องโจร หลังจากที่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ และขบวนการบีอาร์เอ็น เจรจาเสร็จสิ้นลงเพียงสามวัน
นายกัสตูรี เคยกล่าวกับเบนาร์นิวส์เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า PULO G5 (พูโล เจนเนอเรชั่น 5) เป็นผู้ลอบวางระเบิดในพื้นที่บ้านละหาร หมู่ที่ 8 ตำบลแป้น อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย แล้วยังได้จุดระเบิดอีกหนึ่งลูก ทำให้ทีมตำรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดได้รับบาดเจ็บ 3 นาย ซึ่งฝ่ายตนทำไปเพื่อกดดันให้คณะพูดคุยฯ บรรจุพูโลเป็นคู่จเรจาด้วย นอกเหนือจากขบวนการบีอาร์เอ็น
หมายจับลงวันที่ 4 สิงหาคม 2565 นี้ ระบุว่า นายกัสตูรี มาห์โกตา (Kasturi Mahkota) หรือมีอีกนามหนึ่งว่า นายวาบาโตปาตัน เชื้อชาติไทย สัญชาติสวีดิช ได้ทำความผิด “ร่วมกันสะสมกำลังพลและอาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย หรือกระทำความผิดใด ๆ อันเป็นส่วนของแผนการเพื่อก่อการร้าย, เป็นอั้งยี่, เป็นซ่องโจร ...) ซึ่งมีโทษอย่างสูงเกินสามปี
นายกัสตูรี กล่าวว่า ทราบเรื่องหมายจับเช้านี้ จากเพื่อนที่ประเทศไทยส่งมาให้
“ตอนนี้ยังใช้ชีวิตปกติ สำหรับเรื่องหมายจับก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นเรื่องปกติของนักรบ แต่ก็ยืนยันว่าไม่กระทบต่อความพยายามที่กำลังทำ และไม่กระทบต่อการพูดคุยสันติสุขกับกับรัฐบาลไทย ซึ่งตอนนี้ มีความคืบหน้า เบื้องต้นยังไม่ได้คุยอะไรกับคณะพูดคุยไทย ก็คงต้องรอดูก่อน ยืนยันว่าไม่กระทบ แต่ทำให้การเคลื่อนไหวแคบลง” นายกัสตูรี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันศุกร์นี้
“ส่วนตัวกลับมองว่ารัฐไทยได้ยกระดับพูโล ก็ดีเหมือนกันทำให้คนสนใจพูโล ซึ่งเป็นไปตามที่เรากำลังพยายามมาตลอด เพราะปกติแล้วแม้ผมไม่ได้มีหมายจับ ผมก็กลับบ้านที่ไทยไม่ได้อยู่แล้ว กลับไปเขาก็จับ วันนี้มีหมายจับก็เหมือนกับช่วยยกระดับให้ ตลอดที่ผ่านมาพูโลมีความพยายามที่จะทำงานเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา พอมาเจอเรื่องนี้ก็ทำให้เห็นชัดว่ารัฐเองก็มีความแตกแยก กลุ่มหนึ่งพยายามคุยอีกกลุ่มใช้มาตรการเด็ดขาด” นายกัสตูรี กล่าวเพิ่มเติม
ด้านเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่ง กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า เคสนี้สืบเนื่องมาจากกรณีเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวสมาชิกผู้ก่อการร้ายระดับหัวหน้าชุดปฏิบัติการ กลุ่ม PULO G5 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 และนำตัวมาดำเนินการซักถาม จนทราบรายชื่อสมาชิกในเครือข่าย และแหล่งซุกซ่อนวัตถุระเบิดในพื้นที่
ขบวนการพูโล ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2511 โดย ตือ ตนกูบีรอ กอตอนีรอ เป็นทายาทของราชวงศ์ปาตานี แต่พูโลได้อ่อนแอลงในประมาณช่วงปี 2530 และแกนนำคนสำคัญ เช่น หะยี สะมะแอ ท่าน้ำ และหะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ ถูกตัดสินจำคุกในปี 2541
นายกัสตูรี ได้นำกลุ่ม PULO-MKP ร่วมมือกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้อื่น ๆ เช่น บีอาร์เอ็น จีเอ็มไอพี และ บีไอพีพี เพื่อจัดตั้งองค์กรร่มมาราปาตานี เพื่อเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทย โดยเปิดตัวเป็นทางการตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2558 ในการพบปะแบบตัวต่อตัวของทั้งสองฝ่ายในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ก่อนที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ยึดการเจรจาไว้เป็นของตนกับฝ่ายไทย ในต้นปี 2563
คณะพูดคุยฯ-บีอาร์เอ็น ยังไม่ได้พูดถึงพูโล
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้บาดเจ็บกว่า 13,500 ราย
รัฐบาลไทย และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ได้เริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบร่วมกันกับกลุ่มต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2556 กระทั่งมีการพูดคุยโดยตรงกับบีอาร์เอ็นเพียงกลุ่มเดียว เมื่อปี 2562 และในเดือนเมษายน 2565 ได้มีข้อตกลงร่วมกันในการลดความรุนแรงช่วงถือศีลอด หรือการริเริ่มรอมฎอนสันติสุข 40 วัน
ล่าสุดการพูดคุยของคณะพูดคุยฯ กับบีอาร์เอ็นในสัปดาห์นี้ ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้มีการระบุถึงขบวนการพูโลแต่อย่างใด
“ประชุมในครั้งนี้ ยังไม่ได้หยิบยกเรื่องของพูโลขึ้นมาหารือกัน ในพื้นที่มีการปฏิบัติการของพูโล เราก็ห่วงใยเช่นเดียวกัน ความมีส่วนร่วมในนโยบายเราต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม” พลเอก วัลลภ กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันอังคารนี้
“ซึ่งการเข้ามาสู่กระบวนการพูดคุย อย่างที่ผมเคยได้เรียนมาแล้วว่า มาได้สองรูปแบบคือ หนึ่ง ก็ไปร่วมกับกลุ่มขบวนการจัดตั้งเป็นกลุ่มที่จะมาพูดกับเราทั้งขบวนการ สอง ถ้าขบวนการเขาไม่สามารถที่จะมาร่วมกันได้ ในขั้นของการหารือในพื้นที่ พูโลก็จะสามารถเข้ามาดำเนินการในตรงนี้ได้ครับ” พลเอก วัลลภ ระบุ
ในวันถัดมา อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน หรือนายฮีพนี มะเร๊ะ หัวหน้าทีมเจรจาสันติสุขของบีอาร์เอ็น แถลงข่าวในกรุงกัวลาลัมเปอร์ว่า ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นได้เสนอเรื่องนี้ให้ทางคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทย ให้ความคุ้มครองทางการทูตต่อผู้แทนของผู้เห็นต่างที่จะเข้าร่วมในเรื่องกลไกการปรึกษาหารือในพื้นที่