พลเอก ประวิตร-ตำรวจ โต้ปวีณเรื่องคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา
2022.04.26
กรุงเทพฯ

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่าตำรวจทำคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ปี 2558 อย่างตรงไปตรงมา หลังจากที่ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ พนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว บอกสำนักข่าวอัลจาซีรา ว่า พลเอก ประวิตร แทรกแซงการทำหน้าที่ของตำรวจที่ดำเนินคดีกับผู้ต้องหารายใหญ่บางคน
เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว สำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) ได้เผยแพร่สารคดีข่าวชื่อ “Thailand’s Fearless Cop” ซึ่งได้นำเสนอเรื่องราวของ พล.ต.ต. ปวีณ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และหัวหน้าทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์ ที่ระบุว่าเขาจำเป็นต้องลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากการทำคดีค้ามนุษย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับตำรวจ-ทหารระดับสูง เช่น พล.ท. มนัส คงแป้น อดีด ผอ.กอ.รมน. ภาค 4 หนึ่งในจำเลยสำคัญในคดี จึงทำให้มีบุคคลในรัฐบาลล็อบบี้ขอให้ช่วยเหลือผู้ต้องหาบางคน โดยได้กล่าวพาดพิงถึง พล.อ. ประวิตร, พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร., พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม พล.ท. มนัส ได้เสียชีวิตขณะถูกจองจำในเรือนจำคลองเปรมด้วยอาการทางหัวใจ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2564
ในวันอังคารนี้ พล.ต.ต. ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าวว่า ข้อมูลในสารคดีเป็นข้อมูลเก่า ซึ่งคดีนี้มีคำพิพากษาไปแล้ว และมีผู้ต้องหาถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมถึง 123 รายจากทั้งหมด 153 ราย ดังนั้น ตำรวจจึงยืนยันได้ว่ามีการดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา ด้วยการใช้พนักงานสอบสวนกว่า 100 คน
“หากพนักงานสอบสวนคนใดคนหนึ่งถูกล็อบบี้ให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นไปไม่ได้ที่พนักงานสอบสวนคนอื่น ๆ จะต้องเชื่อตาม เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการมีความเห็นทางคดีร่วมกัน ที่มีการกล่าวหามีการได้รับคำสั่งในทางมิชอบ หรือสั่งการทิศทางคดีหันซ้ายหันขวา จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้” พล.ต.ต. ยิ่งยศ กล่าว
“ผู้ที่ถูกดำเนินคดีหรือถูกควบคุมตัวในคดีนี้ เราไม่ได้ให้ประกันตัว หากมีการสั่งการหรือล็อบบี้กันก็จะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เราจับกุมผู้ต้องหาได้เป็นจำนวนมาก ไม่มีให้สิทธิพิเศษ ไม่มีการให้ประกันตัวใครเลย จะเห็นว่าผู้ต้องหาหลายคนถูกจำคุกในเรือนจำเรียบร้อยแล้ว” พล.ต.ต. ยิ่งยศ กล่าวเพิ่มเติม
ในวันเดียวกันนี้ พล.อ. ประวิตร ซึ่ง พล.ต.ต. ปวีณ อ้างว่าพยายามล็อบบี้ให้ละเว้นการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาบางราย ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ตนเองไม่เคยเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว
“เป็นเรื่องของศาล ไม่ใช่เรื่องของผม ผมไม่ได้ไปโทรเทออะไร ไม่เกี่ยวไรเลย มนัส (พล.ท. มนัส คงแป้น) เองก็เสียชีวิต แล้วไม่ได้ประกันด้วย แล้วก็เสียชีวิตในเรือนจำ เพราะฉะนั้นก็ชัดเจนอยู่แล้ว” พล.อ. ประวิตร กล่าว
ด้าน พล.อ. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงว่ากระทรวงกลาโหมมีนโยบายชัดเจนว่าห้ามกำลังพลเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ หรือสิ่งผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด
“การพาดพิงดังกล่าวดูจะไม่ให้ความยุติธรรมกับกำลังทหารและกองทัพในภาพรวม… ซึ่งผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นต้องกำกับดูแลกำลังพล หากปรากฏพบการกระทำผิดของกำลังพล ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ต้องสอบสวนเอาผิดทั้งทางวินัยและอาญาให้ถึงที่สุด โดยให้สืบเชื่อมโยงกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด” พล.อ. คงชีพ กล่าว
ในระหว่างการอฏิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั่วไปโดยไม่ลงมติ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้กล่าวอภิปรายถึงปัญหาการคอร์รัปชันของรัฐบาล และระบุถึงเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดกับชาวโรฮิงญา จนทำให้ไทยต้องตกไปอยู่ในบัญชีอันดับ 2 เฝ้าระวัง หรือ Tier 2 Watch List เพียงหนึ่งอันดับสูงกว่า อันดับต่ำสุดเท่านั้น ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอีกครั้ง
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า พล.ต.ต. ปวีณ ถูกคุกคามและกลั่นแกล้งทั้งโดยทหารและตำรวจ ขณะที่ พล.อ. ประวิตร ผู้มีอำนาจกำกับดูแล สตช. และ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ได้มีคำสั่งให้ย้ายไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเสี่ยงภัย ทำให้มีข้อสงสัยว่าจะหมายให้ พล.ต.ต. ปวีณ เสียชีวิตหรือไม่
“ตำรวจผู้กล้า”
สารคดี “Thailand’s Fearless Cop” ถูกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 ได้เล่าเรื่องราวที่ พล.ต.ต. ปวีณ ได้ดำเนินการในคดีการค้ามนุษย์ที่เชื่อมโยงกับการพบหลุมศพชาวโรฮิงญากว่า 30 ศพ ในปี 2558 ซึ่งต่อมามีการสืบสวนและพบความเชื่อมโยงกับ พล.ท. มนัส คงแป้น เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ และนักการเมืองในท้องถิ่น จนทำให้ พล.ต.ต. ปวีณ ถูกสั่งย้ายไปทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ต้องตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย เพื่อความปลอดภัยของชีวิต
“จักรทิพย์ (ชัยจินดา) อยากจะเป็น ผบ.ตร. จึงต้องการให้ทหารช่วยจักรทิพย์ สิ่งใดก็แล้วแต่ที่จักรทิพย์ช่วยทหารได้จักรทิพย์ก็จะทำ แม้กระทั่งการทำลายพยานหลักฐานกับผู้กระทำความผิดคดีค้ามนุษย์… บอกว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณเนี่ย ให้โทรศัพท์มาถาม ขอให้ช่วยเหลือให้อนุญาตประกันตัวพลโท มนัส คงแป้น” พล.ต.ต. ปวีณ กล่าวในสารคดี
หลุมศพเทือกเขาแก้ว อำเภอสะเดา
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 เจ้าหน้าที่ได้พบหลุมศพของผู้อพยพชาวโรฮิงญา ซึ่งถูกลักลอบพาเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายบนเทือกเขาแก้ว ในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา กลายเป็นข่าวดังทั่วโลก และนำไปสู่การออกหมายจับ พล.ท. มนัส และผู้เกี่ยวข้องรายอื่น ๆ โดย พล.ท. มนัส เข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในวันที่ 3 มิถุนายน 2558
พล.ต.ต. ปวีณ ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าฝ่ายสอบสวน และในเดือนกรกฎาคม 2558 พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องคดีดังกล่าวรวม 16 ข้อหา เช่น พ.ร.บ. การป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556, พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และข้อหาอื่น ๆ
เดิมมีผู้ต้องหาในคดีนี้มี 103 ราย ในนั้นมีจำเลยคนสำคัญ คือ พล.ท. มนัส, นายบรรณจง ปองผล หรือโกจง อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์, นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือโกโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล และนายซอเนียง อานู หัวหน้าขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา ซึ่งทั้งหมดถูกพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลาหลายปีเช่นเดียวกับ พล.ท. มนัส
ต่อมาในวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ศาลอาญาชั้นต้นได้พิพากษาจำคุก พล.ท. มนัส เป็นเวลา 27 ปี โดยมีจำเลยถูกตัดสินให้ถูกลงโทษ 61 ราย ยกฟ้อง 40 ราย และเสียชีวิตระหว่างการพิจารณา 1 ราย และวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิ่มโทษ พล.ท. มนัส เป็นเวลา 82 ปี และมีจำเลยถูกตัดสินโทษรวม 88 ราย
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน