ระนองส่งตัว 158 แรงงานเมียนมากลับประเทศ
2021.01.28
ระนอง

ในวันพฤหัสบดีนี้ นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ส่งตัวแรงงานชาวเมียนมาเข้าเมืองผิดกฎหมาย 158 คน ที่ถูกกักตัวโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดระนอง กลับคืนภูมิลำเนาในประเทศของตน หลังจากเกิดเหตุประท้วงและพยายามแหกห้องกัก เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้
ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง พล.ต.ต.สุเมธ เมฆขจร ผบก.ตม.6 พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 9 หน่วยงาน ได้ร่วมกันเปิดจุดผ่านแดนถาวรจังหวัดระนองเป็นการชั่วคราว และส่งมอบผู้ต้องกักกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา จำนวน 158 คน ให้กับ นายเทะเวเพียว ผู้ช่วยทูตแรงงานเมียนมา ประจำจังหวัดระนอง ซึ่งเดินทางมารับตัวชาวเมียนมา เพื่อส่งกลับไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองที่เกาะสอง ประเทศเมียนมา ก่อนเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาทางตอนใต้ เขตตะนาวศรี ประกอบด้วย เมืองเกาะสอง เมืองมะริด และเมืองทวาย
“ตามบัญชีมีผู้ต้องกัก จำนวน 166 คน แต่พบรายชื่อซ้ำซ้อน ยอดที่แท้จริงในการส่งตัวกลับครั้งนี้ คือ 158 คน และมีหน่วยงานสาธารณสุขมาร่วมตรวจคัดกรองโควิด-19 จนนาทีสุดท้าย ก่อนส่งกลับบ้าน เพื่อยืนยันว่าทางการไทยได้ดูแลคนของทุกชาติเป็นอย่างดี” นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
ซึ่งก่อนที่จะมีการขึ้นเรือ นายเทะเวเพียว ผู้ช่วยทูตแรงงานเมียนมา ได้เรียกชื่อผู้ถูกส่งตัวกลับทีละคน เพื่อลงเรือหางยาวรับจ้างข้ามประเทศ จำนวน 13 ลำ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง ได้เข้มงวดในการตรวจวัดอุณหภูมิ เพื่อยืนยันว่าไม่มีผู้ใดมีอาการป่วย จากนั้นทั้ง 9 หน่วยงาน ได้ร่วมปล่อยเรือหางยาวข้ามฟากปากแม่น้ำกระบุรี ซึ่งเป็นแนวชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเมียนมา ท่ามกลางความดีใจของชาวเมียนมา
“ส่วนผู้ต้องกักที่มีภูมิลำเนาอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเมียนมา ขอเวลาอีก 1-2 วัน คงจะได้รับความชัดเจน ส่วนการส่งกลับผู้ต้องกักชุดที่สอง มีจำนวนที่แน่นอนแล้ว 97 คน ส่วนอีก 200 คน อาจเป็นในวงรอบถัดไป ซึ่งสถานกักตัวด่าน ตม.ระนอง สามารถรองรับได้เพียง 300-400 คน และยังมีที่ตกค้างตามสถานีตำรวจ ในจังหวัดต่าง ๆ ที่รอส่งตัวมาเป็นระยะ ๆ เพื่อรอผลักดันผ่านออกทางด่าน ตม.ระนอง” นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผวจ. ระนองกล่าวเพิ่มเติม
ด้านนาย เซ เซ อ่าว หนึ่งในแรงงานที่ได้กลับบ้าน กล่าวแสดงความยินดี แต่ยังห่วงคนที่อยู่ข้างหลัง
“ผมดีใจมากที่จะได้กลับบ้านไปหาญาติพี่น้อง แต่ก็เป็นห่วงครอบครัวของตนเองที่ทำงานอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีอีก ถ้ามีโอกาสจะกลับเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย เพื่อมาหาครอบครัว ที่อยู่ในประเทศไทย และถ้ามีโอกาส จะขอกลับมาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย” นาย เซ เซ อ่าว กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
การส่งตัวแรงงานชาวเมียนมากลับประเทศครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบห้าเดือนที่ทางการเมียนมาเปิดรับคนของตนกลับประเทศ หลังจากหยุดรับตัวชาวเมียนมา ตั้งแต่ประมาณเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19
ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ แรงงานชาวเมียนมาประมาณสี่ร้อยคนที่ถูกกักตัวภายในอาคารผู้ต้องกักชั่วคราว สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนองซึ่งมีพื้นที่คับแคบ ได้ร่วมกันก่อเหตุสร้างความวุ่นวาย ภายในอาคารผู้กักตัว 5 ชั้น ของด่าน ตม.ระนอง เพื่อเรียกร้องให้ทางการเมียนมารับตัวกลับประเทศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้ติดต่อนายเทะเวเพียว ผู้ช่วยทูตแรงงานเมียนมา ประจำจังหวัดระนอง ให้มาช่วยเจรจาและเปิดรับตัวแรงงานกลับบ้าน
จากนั้น ถัดไปในวันอังคาร พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ลงพื้นที่และได้ผลสรุปว่า จะส่งแรงงานกลับในวันพฤหัสบดีนี้
“ผมได้รับรายงานว่า สาเหตุเกิดจากความเครียด ที่ผู้ต้องกักอยู่กันจนแออัด เนื่องจากไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ เพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงรวมตัวกันเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่ทางการไทย เพื่อสะท้อนปัญหาไปยังประเทศเมียนมาเข้าช่วยเหลือ” พล.ต.ท.สมพงษ์ บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคารนี้
นายซาไล บาวี นักวิชาการชาวเมียนมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทางการไทยควรจัดพื้นที่กักขังที่มีมาตรฐาน เพื่อทั้งแรงงานและเจ้าหน้าที่เอง
“แรงงานพม่าเป็นกลุ่มคนที่สำคัญมากในระบบเศรษฐกิจของไทย การสร้างมาตรฐานการกักกัน ไม่ว่าจะที่ ตม. หรือที่ไหน ๆ ก็ควรจะมีมาตรฐานความปลอดภัยรองรับต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ไช่เฉพาะเพื่อแรงงานเองเท่านั้น แต่ก็เพื่อเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วย มาตรฐานเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องจริงจังกว่านี้” นายซาไล กล่าว
รัฐทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
เมื่อวันอังคารนี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มีแรงงานชาวเมียนมาทำงานหรือตกค้างอยู่ในประเทศไทยโดยถูกกฎหมายกว่าสองล้านคน และรัฐบาลคาดว่า ในจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบ ราว 500,000 คน ซึ่งนายอนุชา ได้เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยยืดระยะเวลาการขอต่อวีซ่า และขอขึ้นทะเบียนสำหรับแรงงานนอกระบบ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ถือบัตรสีชมพู จำนวน 1,400,387 คน ประกอบด้วย (1.1) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 20 สิงหาคม 2562 จำนวน 1,162,443 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และขอต่อวีซ่า ออกไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 และ (1.2) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 4 สิงหาคม 2563 จำนวน 237,944 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และขอต่อวีซ่าออกไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564
กลุ่มที่ 2 กลุ่มแรงงานต่างด้าวตาม MoU จำนวน 434,784 คน ได้แก่ (2.1) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 10 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 119,094 คน และ (2.2) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตาม MoU วาระการจ้างงานครบ 2 ปี จำนวน 315,690 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และขอต่อวีซ่าออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งจะทยอยครบกำหนด โดยสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565
กลุ่มที่ 3 กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 29 ธันวาคม 2563 ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นลงทะเบียนคาดว่ามีจำนวนประมาณ 500,000 คน ให้จัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (Biometics) เพื่อการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าวและความมั่นคงของประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ตรวจโควิด-19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะส่งข้อมูลคนต่างด้าวที่ได้จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแล้ว ให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน
ทั้งนี้ ยังให้สถานพยาบาลเอกชนที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถร่วมตรวจโควิด-19 ได้ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เร่งด่วน และสถานพยาบาลของรัฐอาจมีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับการตรวจตามกำหนด ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 โดยอัตราค่าตรวจ โควิด-19 ต้องไม่เกิน 2,300 บาท ตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด
นอกจากนั้น ในกลุ่มผู้ต้องกักที่เป็นคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่มีประมาณ 500 คน อยู่ระหว่างรอการส่งกลับ ให้สามารถทำงานกรรมกรและงานบ้านได้ จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อลดภาระค่าใช้ในการดูแล เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว ต้องส่งกลับประเทศต่อไป