รพ. ชายแดนติดลบเพราะผลพวงของสงครามในเมียนมา
2023.09.14

เมื่อตอนที่พ่อของทัตตู่ลินเริ่มรู้สึกไม่สบาย เขารู้ดีว่าคลินิกเล็ก ๆ ในเมืองพะอัน รัฐกะเหรี่ยง คงไม่สามารถรักษาอาการให้หายได้
นับเป็นครั้งที่สองในรอบสัปดาห์แล้วที่เขาต้องเดินทางเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อข้ามพรมแดนมายังโรงพยาบาลท่าสองยาง ชาวกะเหรี่ยงในเมียนมาจำนวนมากต้องเดินทางมายังฝั่งไทยเพื่อมาขอรับการรักษาพยาบาล แม้ว่าพวกเขาไม่มีพาสปอร์ตหรือวีซ่า
“เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมมาที่นี่ จ่ายค่าพยาบาล 6,000 บาท แน่นอนว่าเรากังวลเรื่องเงิน ทุกคนกังวลเรื่องเงิน” ทัตตู่ลิน กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย ซึ่งเป็นองค์กรร่วมเครือข่ายกับเบนาร์นิวส์
ครอบครัวของทัตตู่ลิน เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ครอบครัวที่ต้องมาใช้บริการในประเทศไทย เพราะว่าโรงพยาบาลหรือคลินิกที่บ้านเมืองของตนเองไม่มีขีดความสามารถในการรับมือกับโรค หรืออาการที่มีความรุนแรง เช่น โรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก การเหยียบกับระเบิด เพราะว่าไม่มีเครื่องมือหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่พร้อมมูล
นอกจากนั้น กองกำลังรัฐบาลทหารเมียนมายังได้ยึดโรงพยาบาลใหญ่ ๆ อยู่บ่อยครั้ง ทำให้ชาวบ้านกลัวว่าจะถูกจับไปสอบปากคำ ถ้าหากว่าไปรับการรักษาที่นั่น
ดังนั้น เมื่อสงครามในเมียนมายังดำเนินต่อไป โรงพยาบาลตามแนวชายแดนของไทยก็ยังต้องเผชิญกับปัญหามนุษยธรรม อันเป็นผลพวงของสงครามหนักหน่วงยิ่งขึ้น
ติดลบ
หลังจากที่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยหลาย ๆ คน ไม่มีความสามารถที่จะจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลได้ ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งต้องพลอยเกิดปัญหาทางการเงินไปด้วย
แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย และคำประกาศสิทธิของผู้ป่วย ผู้ป่วยทุกคน รวมทั้งคนที่ไม่ได้เป็นพลเมืองไทย ที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย มีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่มีการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและภาษา ซึ่งโรงพยาบาลตามแนวชายแดนไทยทุกแห่งทั่วประเทศ ต่างปฏิบัติตามคำปฏิญญาด้านสิทธิมนุษยชนนั้น ด้วยการรักษาทุกคนที่มีความจำเป็นต้องได้รับการพยาบาล
ผู้ป่วยรออยู่ในห้องโถง โรงพยาบาลท่าสองยาง จังหวัดตาก (เรดิโอฟรีเอเชีย)
แต่ว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้โรงพยาบาลเหล่านั้นติดลบ
นายแพทย์ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง กล่าวว่า ปีนี้โรงพยาบาลฯ ติดลบราว 10 ล้านบาท ส่วนในปีที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลได้รับงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อการรับมือกับโควิด-19 ซึ่งเป็นการช่วยลดการขาดทุนจากการที่เก็บเงินจากผู้ป่วยไม่ได้ ส่วนปีหน้านั้น ไม่มีงบประมาณนั้นให้อีกแล้ว
ด้านแรงงานต่างด้าวนั้น ได้เข้าระบบประกันสังคมเมื่อผ่านกระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงาน แต่สำหรับคนเมียนมาที่เข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมาย 1.7 ล้านคนแล้ว ซึ่งในจำนวนนั้นมีอยู่ห้าแสนคนไม่มีสถานะทางสัญชาติ เช่นเดียวกับของทัตตู่ลินที่เข้าออกโดยผิดกฎหมายอยู่บ่อยครั้งแล้ว พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องมาขอรับการรักษาที่เขาไม่มีเงินจ่าย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางโรงพยาบาลท่าสองยางได้ก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งที่เป็นคนไทยและชาวเมียนมาที่ข้ามพรมแดนเข้ามา
แต่เมื่อในขณะนี้ ไม่มีงบประมาณพิเศษสำหรับการบริหารโรงพยาบาลในปีต่อ ๆ ไป มันทำให้นายแพทย์ธวัชชัยกังวลใจ เพราะว่ามีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคาร รวมทั้งค่าตรวจรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากโรคมาลาเรีย และไข้เลือดออก ที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผู้ป่วยรายหนึ่งเดินอยู่ในระเบียงโรงพยาบาลท่าสองยาง ซึ่งมีชาวเมียนมาเดินทางข้ามฝั่งมารักษาตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ (เรดิโอฟรีเอเชีย)
“ถ้าเขาไม่ได้เป็นคนไทยแล้วเราเรียกค่ารักษาพยาบาล ส่วนใหญ่แล้วจะมีเงินจ่าย หากเขาจ่ายได้ แล้วเขาจะจ่ายได้เท่าไหร่? แต่สำหรับผม โอเคนะ” นพ. ธวัชชัยกล่าว และระบุว่าผู้ป่วยหนึ่งในสามไม่ใช่คนไทย และผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีประกันสุขภาพ
“ผมไม่แน่ใจว่า (ปีหน้าจะขาดทุนเท่าไหร่) เพราะการสร้างอาคารหลังใหม่ เราจะเปิดอาคารนี้ปีหน้า เราจะมีสิ่งอัศจรรย์” นพ. ธวัชชัย กล่าวอย่างมีความหวัง
การช่วยเหลือทางมนุษยธรม
ถัดจากอำเภอท่าสองยางลงไปทางทิศใต้ของจังหวัดตาก 300 กิโลเมตรเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลอำเภออุ้มผาง ซึ่งขาดทุนไปแล้ว 40 ล้านบาท เพราะเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ ซึ่งนายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลอุ้มผาง กล่าวว่า เป็นยอดขาดทุนที่มากที่สุดในรอบสามทศวรรษ
ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจำนวน 87,000 คน ไม่ใช่คนไทยและไม่ได้อยู่ในระบบการรักษาพยาบาลของรัฐ หนึ่งในสี่ของผู้ป่วยใน และครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยนอก ไม่มาสารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้
“เราต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เราสามารถจ่ายค่ายา เวชภัณฑ์ให้กับบริษัทที่เราซื้อมา สำหรับค่ายาเราผัดผ่อนกำหนด เราจ่ายช้าทุกปี” นพ. วรวิทย์ กล่าว
ผู้ป่วยชำระค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลท่าสองยาง โดย นพ. แพทย์ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผอ.รพ. กล่าวว่าทางโรงพยาบาล ติดลบอยู่ 10 ล้านบาท (เรดิโอฟรีเอเชีย)
ไนอีลอยิง ผู้จัดการโครงการประกันสุขภาพสำหรับประชาชนระดับรากหญ้า M-Fund กล่าวว่า โรงพยาบาลตามแนวชายแดนหลาย ๆ แห่ง ต้องดำเนินงานในสภาวะขาดทุน และต้องหาหนทางที่จะบริหารค่าใช้จ่ายให้อยู่ได้
“เขาเห็นว่ามีองค์การที่ช่วยลดยอดติดลบได้ เขาเลยมาขอให้ M-Fund ช่วยลดตัวติดลบ เขาทราบว่า M-Fund เราเก็บเงินจากสมาชิกและจ่ายให้กับโรงพยาบาล” ไนอีลอยิง กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย
ตามแผนการประกันสุขภาพของ M-Fund จะเก็บค่าสมาชิกขั้นพื้นฐานจากผู้เข้าเมืองทั่วประเทศไทยเป็นรายเดือน ๆ ละ 100 บาท โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมาย กองทุน M-Fund มีสมาชิก 60,000 คน ใน 6 จังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลและคลินิก 108 แห่ง
แต่ว่าค่าใช้จ่ายที่สูงสร้างผลกระทบให้กับกองทุนด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยเฉลี่ยกองทุนมีเงินไหลออกเพื่อการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเดือนละ 700,000 บาท ไนอีลอยิง กล่าวว่า เขากำลังพยายามทำให้โครงการนี้ดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน
เราหวังว่าถ้ามีสมาชิกสมัครร่วมโครงการ M-Fund มากขึ้นในอนาคต ก็จะทำให้เราสามารถลดช่วงช่องว่างรายรับรายจ่ายลงไปได้ด้วย” ไนอีลอยิง กล่าว
ในขณะรายงานเรื่องนี้ เรดิโอฟรีเอเชีย ไม่สามารถขอความคิดเห็นจากกระทรวงสาธารณสุขได้
มาตรการแก้ไขปัญหา
ในขณะที่โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่ง รับบริจาค และปรับเปลี่ยนงบประมาณเพื่อให้เพียงพอนั้น ทั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และระบบประกันสุขภาพระดับรากหญ้า ต่างมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับทั้งผู้ป่วย และโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลลง
“ทางโรงพยาบาลรับบริจาค ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือยารักษาโรคจากภาคเอกชนมานานราว 15 ปีแล้ว เรารับทุกอย่างจากประชาชนที่สามารถนำมาใช้ในโรงพยาบาลได้ อาจจะเป็นของใช้แล้วหรือของใหม่ เรารับของทุกอย่าง ทุกปี” นพ. วรวิทย์ ผอ. รพ. อุ้มผาง กล่าว
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแม่สอด เข็นรถเข็นสำหรับผู้ป่วย อยู่ที่หน้าอาคารโรงพยาบาล (เรดิโอฟรีเอเชีย)
นพ. วรวิทย์ กล่าวว่า ตนได้กระตุ้นให้ทางกระทรวงสาธารณสุขหาทางออกระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีมานานหลายสิบปีนี้ โดยการจัดงบประมาณเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นกรณีพิเศษ เพื่อช่วยให้โรงพยาบาลต่าง ๆ จ่ายบิลได้ตรงเวลา
“สำหรับโรงพยาบาลอุ้มผาง มีชาวเมียนมาจำนวนมากข้ามแดนมาที่นี่ เพราะว่าโรงพยาบาลอุ้มผางอยู่ใกล้ที่สุดสำหรับพวกที่จะเดินทางมาได้ เราต้องเป็นสถานที่ที่เขาพึ่งพาอาศัยได้” นพ. วรวิทย์ กล่าว
“เราต้องหารายได้ให้กับโรงพยาบาล แต่ไม่ใช่จากการเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล จากคนที่ไม่มีจะจ่ายให้กับทางโรงพยาบาล”