ครม. ยังไม่เคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาท
2023.12.12
กรุงเทพฯ

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอนำอัตราค่าจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้างสามฝ่ายเสนอให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพียง 2-16 บาทต่อวัน กลับไปทบทวนใหม่ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีติติงว่าการเพิ่มค่าแรงดังกล่าวน้อยเกินไป
โดยหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้นลง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ข้อเสนอเรื่องค่าแรงขั้นต่ำประจำปี 2567 ถูกถอนออกไปจากการประชุมเนื่องจากมองว่าต่ำเกินไป โดยเชื่อว่าจะถูกเสนอเข้ามาใหม่ภายในสองสัปดาห์
“เรื่องของแรงงานท่านรัฐมนตรีแรงงานก็นำเข้ามาเสนอ แล้วท่านเองก็สรุปเองว่าต้องกลับไปตั้งข้อสังเกตแล้วก็พิจารณาเรื่องของสูตรในการคิดค่าแรงใหม่ ท่านก็เอามาเสนอแล้วก็ดึงกลับไป” นายเศรษฐา กล่าว
ต่อประเด็นเดียวกัน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละปี คือ คณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากนายจ้าง ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่รัฐ โดยพิจารณาจากปัจจัย ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ GDP และอื่น ๆ
กระทั่งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้สรุปอัตราค่าแรงขั้นต่ำประจำปี 2567 แล้ว และเสนอให้ ครม. รับทราบในวันอังคารนี้ อย่างไรก็ตาม นายพิพัฒน์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า อัตราดังกล่าวอาจไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงได้ขอถอนข้อเสนอออกไปก่อน อาจมีการพิจารณาใหม่ และเสนอในอนาคต
“ท่านรัฐมนตรีพิพัฒน์ รัชกิจประการ ท่านตั้งข้อสังเกตว่าการเอาตัวเลขของปี 2563-2564 มาร่วมพิจารณา (คิดอัตราค่าแรง) ด้วยเนี่ย 2 ปีนั้นมันเป็นปีที่เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ติดลบมาก ๆ เพราะมันเป็นกรณีที่มันเกิดโควิด ขออนุญาตขอถอนไปก่อน” นายชัยกล่าว
“คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้พิจารณาตามเกณฑ์ดังกล่าวแล้วได้ลงมติให้เพิ่มค่าจ้างระหว่าง 2-16 บาทต่อวัน จะมีผล 1 มกราคม 2567 ต่ำสุดก็ 330 บาท สูงสุดก็ 370 บาท สูงสุดจังหวัดเดียว ภูเก็ต รองลงมา 363 บาท กรุงเทพมหานคร จังหวัดในปริมณฑล ส่วนที่ต่ำที่สุด อยู่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” นายชัย ระบุ
เบนาร์นิวส์ ไม่สามารถติดต่อกระทรวงแรงงานเพื่อขอรายละเอียดว่า จะพูดคุยกับคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ต่อไปอย่างไร
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กล่าวในก่อนนี้ว่า ตนเองในฐานะผู้ดูแลคณะกรรมการค่าจ้าง แต่โดยกฎหมายแล้วไม่ได้มีอำนาจแทรกแซงมติของคณะกรรมการฯ
สำหรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในปี 2554 รัฐบาลของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยประกาศขึ้นค่าแรงจาก 215 บาท เป็น 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ ตามแนวทางการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ต่อมาเมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารยึดอำนาจ และได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำเฉลี่ยปีละ 2.54-4.90 บาท
ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมามีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพียง 28-54 บาทเท่านั้น โดยขึ้นค่าแรงครั้งสุดท้ายในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 กระทั่งในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยได้นำเสนอนโยบายว่าจะขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำทันทีเป็น 400 บาท และทยอยขึ้นจนถึง 600 บาทภายในปี 2570
“ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว ทุกวันนี้ได้ 370 บาท ก็อยู่ได้แต่ก็ลำบาก ต้องทำโอที หรือยืมคนอื่นบ้าง แต่ถ้ารัฐบาลขึ้นให้อีกชีวิตก็น่าจะดีขึ้น เลี้ยงครอบครัวได้ กินเบียร์คลายเครียดได้ มีเงินเหลือผ่อนมอเตอร์ไซค์ ผมอยากเห็นเพื่อไทยขึ้นเป็น 600 บาทเหมือนที่หาเสียงไว้ แต่ก็ขอให้ค่าข้าว ค่าของอย่าแพงตาม” นายณัฐ ลิขิตปรัชญา อาชีพรับจ้างทั่วไป ชาวกรุงเทพ อายุ 27 ปี กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ด้านผู้ประกอบการ นายสมจิต สมใจ เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร และสถานบันเทิง ชาวขอนแก่น อายุ 38 ปี เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า พร้อมจะขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท หากลูกจ้างทำงานอย่างคุ้มค่า
“ตอนนี้ ค่าแรงขั้นต่ำขอนแก่นอยู่ที่ 338 บาท ถ้าขึ้นเป็น 400 บาท ก็เป็นตัวเลขที่เหมาะสม สำหรับคนที่ทำงาน 8 ชั่วโมงเต็ม มีความรับผิดชอบสูง ขยันทำตลอดเวลา แต่ก่อนผมจ้างอยู่ 270 ตอนนี้ขึ้นมาเป็น 360 อยู่แล้ว ถ้า 400 บาทก็คิดว่าน่าจะยังไหว และเป็นค่าแรงที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตในขอนแก่นด้วย คิดว่านายจ้างถ้าจ่ายเขาไม่ถึง 400 บาท ก็ควรมีสวัสดิการอาหาร หรือที่พัก ถึงจะเหมาะสม” นายสมจิต กล่าว
ด้าน น.ส. สุธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network - MWRN) ชี้ว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมควรเป็น 712 บาทต่อวัน ขณะที่แรงงานต้องการให้รัฐบาลปรับค่าแรงเป็น 600 บาทต่อวัน ตามที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียง
“เราเคยทำการศึกษาตั้งแต่ปี 2560 พบว่าค่าแรงที่เหมาะสมและสอดคล้องกับอนุสัญญาของ ILO คือ 712 บาทต่อวัน เพราะจะทำให้แรงงานสามารถเลี้ยงครอบครัว 3 คนได้ แต่ถ้ายังขึ้นได้ไม่ถึงขนาดนั้นก็ควรเป็น 492 บาท สำหรับประทังคนเดียว ไม่ใช่แค่ 2-16 บาท” น.ส. สุธาสินี กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“จากที่เราทำสำรวจโรงงาน 20 กว่าโรงงาน แรงงานได้อยู่ 353 บาทต่อวัน สุดท้ายเขาอยู่ไม่ได้จริง ติดลบกันหมด พอติดลบ สิ่งที่เขาต้องตัดก็คือ ไม่ซื้อเสื้อผ้า ต้องส่งกลับบ้านน้อยลง ไม่ไปงานบุญ หรืองานวัด งานแต่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาศรัทธา เพื่อให้เขาอยู่ได้ ไม่งั้นก็ต้องเป็นหนี้ รัฐควรปรับค่าแรงงานให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่จริงของพวกเขา” น.ส. สุธาสินี ระบุ