คณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด
2022.01.25
กรุงเทพฯ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในวันอังคารนี้ว่า คณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติ มีมติให้ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว เป็นการปูทางไปสู่การอนุญาตให้ใช้กัญชาและกัญชงในขอบเขตที่ถูกกฎหมาย
นายอนุทิน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กเพจ ระบุว่า การถอดกัญชา-กัญชงออกจากบัญชียาเสพติดครั้งนี้ เพื่อการแพทย์ การวิจัย และการศึกษา โดยขั้นตอนต่อไป นายอนุทินจะเป็นผู้ลงนามบังคับใช้กฎหมาย และหากกฎหมายประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาก็จะมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วัน
นอกจากนั้น พรรคภูมิใจไทยจะยื่นให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา พ.ร.บ. กัญชา-กัญชง เพื่อออกข้อกำหนดการใช้กัญชา-กัญชง ในวันพุธอีกนี้
“วันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมของคณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติเพื่อพิจารณาประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่สุดแล้ว ทางคณะกรรมการ ท่านพิจารณามีมติให้ผ่านร่างที่สำคัญนี้ ซึ่งระบุชื่อยาเสพติดเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 คือพืชฝิ่น 2 เห็ดขี้ควาย และ 3 สารสกัดจากกัญชา กัญชง ที่มีค่า THC กว่า 0.2% ซึ่งเป็นไปตามที่ WHO ให้การยอมรับ เท่ากับอะไรที่นอกเหนือจากนั้น ปลดออกมาแล้ว” นายอนุทิน กล่าว
“ขั้นตอนต่อไป ทาง ป.ป.ส. จะนำผลการประชุมไปยืนยัน แล้วส่งมาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเซ็นอีกครั้ง ก่อนประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา ตามกระบวนการกฎหมาย… เรากำลังจะเสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชาและกัญชง เข้ามากำกับการใช้กัญชาและกัญชง อันนี้ก็สำคัญครับ พรุ่งนี้ พรรคภูมิใจไทยจะเสนอเข้าสภา ผมลงชื่อแล้ว” นายอนุทิน ระบุ
ในปี พ.ศ. 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้แก้ไข พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ เพื่อเปิดทางให้แพทย์ และสถาบันการศึกษาสามารถศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน พรรคภูมิใจไทย ได้เสนอนโยบายสำหรับการเลือกตั้งปี 2562 โดยระบุว่า ประชาชนจะสามารถปลูกกัญชาที่บ้านได้ เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมทางการแพทย์
ต่อมาราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ได้แก้ไข พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ โดยถอด “กัญชา” ออกจากยาเสพติดประเภท 5 และล่าสุด คณะกรรมการยาเสพติดแห่งชาติ มีมติให้ถอดกัญชา-กัญชงออกจากบัญชียาเสพติดโดยสิ้นเชิง โดยบัญชียาเสพติดประเภท 5 จะเหลือเพียง ฝิ่น, เห็ดขี้ควาย และหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน สารสกัดจากกัญชา-กัญชง ซึ่งมีศาล THC มากกว่า 0.2% จะเป็นยาเสพติดในประเภทที่ 5 ด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับรูปแบบการใช้ หรือข้อบังคับต่างๆ ของกัญชา-กัญชง จะถูกบรรจุอยู่ใน พ.ร.บ. กัญชา-กัญชง ซึ่งพรรคภูมิใจไทย จะได้เสนอให้รัฐสภาพิจารณาตามขั้นตอน
ต่อการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด นพ. สมนึก ศิริพานทอง กรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การปลูกกัญชาจำเป็นต้องมีการควบคุม ขณะที่การใช้ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์
“ผมไม่สนับสนุนการปลูกเพื่อสันทนาการ สหประชาชาติก็ไม่แนะนำให้ปลูกเพื่อสันทนาการ การปลูกเองอาจจะได้สารยาไม่ครบ ถ้าไม่มีมาตรฐานอาจจะถึงเสียชีวิต การปลูกจะต้องมีความแม่นยำ การปลูกกันเองใช้เองจึงคิดว่าไม่เหมาะสม… การใช้เพื่อการแพทย์ ถ้าใช้อย่างเหมาะสม แก้ภาวะการนอนไม่หลับได้ ลดอาการโรคซึมเศร้า และโรคอื่น ๆ ได้ แต่สำหรับผู้ป่วยจิตเภท อาจไม่เหมาะหรือต้องอยู่ในการควบคุมของจิตแพทย์” นพ.สมนึก กล่าว
กัญชามีสารที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้คือ 1. สาร CBD (Cannabidiol) ซึ่งมีฤทธิ์ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน และการบวมอักเสบของแผล และ 2. สาร THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ความรู้สึกผ่อนคลาย และลดอาการปวด
ทั้งนี้ สำหรับกัญชา พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ระบุว่า ประเทศไทยมีประวัติการใช้กัญชาในตำรับยา ตั้งแต่สมัยอยุธยา ปี 2175-2231 กระทั่ง ประเทศไทยต้องยุติการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย ตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ปี 2504 โดยกัญชากลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายมาโดยตลอด กระทั่งมีการแก้ไขกฎหมายในปี 2564
“หลังจากประกาศในราชกิจจาฯ 120 วัน เราจะมีการกำหนดทิศทางการใช้กัญชา การปลูกตามบ้าน จะทำได้ด้วยการจดแจ้ง เป็นการแจ้งเพื่อทราบ ไม่ใช่การอนุญาต จะไม่มีการขัดขวาง ขอเพียงอย่านำไปใช้ในทางที่ผิดครับ อีกอึดใจเดียวเท่านั้นครับ เราทำเต็มที่ให้ต้นกัญชา เป็นพืชสมุนไพร ปลูกได้หลังบ้านครับ” นายอนุทินกล่าว