จีนแจ้งประเทศตอนล่างลุ่มน้ำโขงช้า หลังเริ่มลดการระบายน้ำไปแล้วหลายวัน

จีนแจ้งประเทศเพื่อนบ้านตอนล่างแม่น้ำโขง ถึงการปรับเพื่อลดการระบายน้ำเป็นเวลา 20 วัน ของเขื่อนทางใต้สุดของจีนบนแม่น้ำโขง แต่แจ้ง หกวันหลังจากเริ่มลดการระบายน้ำแล้ว เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. โดยได้ทั้งคำชมเชยที่จีนให้ข้อมูลแก่รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านตอนล่างลุ่มน้ำโขง และถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่แจ้งให้ไทย กัมพูชา และประเทศอื่น ๆ ทราบล่วงหน้า
แถลงการณ์ที่ออกเมื่อวันพุธ โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือ MRC) ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างรัฐบาลที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลลาว เวียดนาม ไทย และกัมพูชา ในการจัดการทรัพยากรของแม่น้ำยาว 4,350 กม. สายนี้ กล่าวว่า จีนสัญญาว่า การลดการระบายน้ำที่เขื่อนจิ่งหงนี้ “จะค่อย ๆ กลับคืนสู่สภาวะปกติในวันที่ 25 มกราคม"
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ของไทยกล่าวว่า ได้รับแจ้งจากจีนเมื่อวันอังคารว่า ปริมาณการระบายน้ำจะลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง
“กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนได้แจ้งแก่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ…ว่า ได้ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง ที่อยู่บนชายแดนจีน จากเดิมระบายน้ำวันละ 1,904 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เหลือวันละ 1,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ตั้งแต่วันที่ 5-24 ม.ค. หลังจากนั้น จะปรับเพิ่มการระบายน้ำจนกลับเข้าสู่สถานะการทำงานปกติ” นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการ สทนช. กล่าวในแถลงการณ์
การแจ้งดังกล่าวมีขึ้นไม่นาน หลังจากที่ระบบเฝ้าสังเกตระบบใหม่ ที่สหรัฐฯ ให้เงินทุนสนับสนุน เปิดเผยให้เห็นว่า จีนไม่ได้บอกประเทศตอนล่างของแม่น้ำโขงว่า ได้มีการเริ่มลดการระบายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.
โครงการเฝ้าสังเกตเขื่อนบนแม่น้ำโขง ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์สติมสัน ในวอชิงตัน และใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อคอยดูระดับน้ำในแม่น้ำโขง กล่าวในรายงานล่าสุดของโครงการสำหรับสัปดาห์วันที่ 28 ธ.ค. พ.ศ. 2563 ถึง 3 ม.ค. 2564 ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่จุดตรวจหลายแห่งในสามประเทศตอนล่างแม่น้ำโขง อยู่ในระดับต่ำ
“การปรับลดการระบายน้ำอย่างกะทันหันของเขื่อนจิ่งหง ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสน ท้ายเขื่อนดังกล่าวเป็นระยะ 380 กิโลเมตร ลดลงกะทันหัน 1 เมตร ในวันที่ 3-4 ม.ค. ข้อมูลจาก LMC และ MRC ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ แต่ ณ วันที่ 4 ม.ค. จีนไม่ได้แจ้งให้ทราบเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงกะทันหัน และผิดปกตินี้ ซึ่งจะกระทบต่อการประมงและการเพาะปลูกของประเทศตอนล่างแม่น้ำโขง” รายงานนั้นกล่าว
“นอกจากนี้ ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำสำหรับเขื่อนน้ำอู 5 ในลาว และเขื่อนดอนสะโฮง ที่อยู่บนลำน้ำโขงสายหลัก ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา และมาตรวัดระดับน้ำของโตนเลสาบ แสดงให้เห็นว่า ระดับน้ำในทะเลสาบลดลง หลังจากฤดูน้ำหลากที่มาช้ามากและสั้นกว่าปกติมาก” รายงานดังกล่าวระบุ
โตนเลสาบ ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ของกัมพูชา ที่มีวัฏจักรการไหลและขึ้นลงของน้ำในแต่ละปีเชื่อมโยงขึ้นกับกับน้ำโขง ได้แห้งลงในอัตราที่รวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปลา ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนหลักของชาวกัมพูชาหลายล้านคน ในทะเลสาบแห่งนี้ มีปริมาณลดลง
ไบรอัน อายเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์สติมสัน และหัวหน้าโครงการนี้ บอกแก่เรดิโอ ฟรี เอเชีย ภาคภาษาลาว ว่า การตัดสินใจของจีนในการลดการระบายน้ำ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขง
“การลดการระบายน้ำมายังตอนล่างของแม่น้ำโขงนั้น ไม่เป็นที่น่ายินดี ถือเป็นสิ่งผิดปกติในห้วงนี้ของปี และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรธรรมชาติของแม่น้ำโขง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ายินดีคือ มีการแจ้งเตือนของจีน ถึงการเปลี่ยนแปลง และการทำงานของเขื่อน อันเป็นสาเหตุให้มีการลดการระบายน้ำ” ไบรอัน อายเลอร์ กล่าว
“จีนกำลังทำตามสัญญาที่ให้ไว้ว่า จะแจ้งประเทศตอนล่างแม่น้ำโขง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของเขื่อนในจีน แต่การแจ้งดังกล่าวขาดความคงเส้นคงวา” นายอายเลอร์ กล่าว
ไบรอัน อายเลอร์ กล่าวว่า จีนไม่ได้แจ้งให้ประเทศตอนล่างแม่น้ำโขงรับรู้ ก่อนทำการลดการระบายน้ำ หลังได้รับการบอกเล่าจากผู้ที่เห็นด้วยตาว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างลดลง โครงการฯ จึงสามารถระบุในข้อมูลให้เห็นถึงการลดการระบายน้ำเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ได้
“ดังนั้น เราจึงเริ่มบอกให้ทราบกัน เราแจ้งแก่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เราแจ้งเตือนบนโซเชียลมีเดีย และยังบอกด้วยว่า จีนไม่ได้แจ้ง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงยังได้สังเกตเห็นการลดลงนั้น ที่หน้าเว็บไซต์ข้อมูล และยืนยันว่าจีนไม่ได้แจ้งเลย” ไบรอัน อายเลอร์ กล่าว
“ภายใน 12 ชั่วโมง หลังจากที่เราบอกให้ทราบกัน จีนถึงได้แจ้งให้ทราบ ดังนั้น การแจ้งของจีนจึงล่าช้า ดูเหมือนว่าถูกบีบจากสถานการณ์ภายนอกมากกว่าที่จะต้องการและตั้งใจบอกเอง” นายอายเลอร์กล่าว
จีนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ถึง 11 แห่ง ไล่เรียงกันบนแม่น้ำโขง ลุ่มน้ำโขงตอนล่างประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงในช่วงปีที่ผ่านมา บางช่วงของแม่น้ำถึงกับเหือดแห้งไปเลย สาเหตุบางส่วนก็เป็นเพราะเขื่อนบนแม่น้ำโขงในจีน
เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 จีนได้ตกลงที่จะให้ข้อมูลแก่ MRC เนื่องจากคนประมาณ 60 ล้านคนในไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ใช้แม่น้ำสายนี้เพื่อการเกษตรและการประมง
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน