ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนลงประชามติ ก่อนการแก้ไข รธน.

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2021.03.11
กรุงเทพฯ
ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนลงประชามติ ก่อนการแก้ไข รธน. สมาชิกวุฒิสภาเข้าประชุมร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา กรุงเทพฯ วันที่ 17 พ.ย. 2563
เอพี

ในวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยด้วยมติเสียงข้างมาก ให้รัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องมีการทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สองให้มีการจัดทำประชามติอีกครั้งว่าประชาชนจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน และ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกรัฐสภา ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

“ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน ว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง” คำวินิจฉัยส่วนหนึ่งระบุ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว มาจากมติเสียงข้างมาก จากการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ขอให้รัฐสภาพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหา เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลได้รับคำร้องไว้วินิจฉัยเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ และได้มีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์, นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ, นายสมคิด เลิศไพฑูรย์, นายอุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นเป็นหนังสือส่งมายังศาลรัฐธรรมนูญ

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำพิพากษา นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้ร้อง ได้โพสต์เอกสารเผยแพร่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญพร้อมข้อความลงบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า “น้อมรับคำวินิจฉัย ขอบพระคุณตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต่อจากนี้ทำหน้าที่เดินหน้าเพื่อชาติบ้านเมืองกันครับ”

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวระบุว่า ตนคิดว่าการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ในวันที่ 17 มีนาคมนี้ จะไม่สามารถลงมติได้ ต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการใหม่

“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กร และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญระบุให้ทำประชามติก่อน ในวันที่ 17 มีนาคมนี้ คงต้องมีการคุยกันในรัฐสภา เพื่อถามว่าจะตีความอย่างไร ดีไม่ดีอาจจะโหวตตกก่อน” นายไพบูลย์ กล่าว

ขณะที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวระบุว่า กระบวนการจะไม่ล่าช้า เพราะสิ่งที่รัฐสภาดำเนินการอยู่ในปัจจุบันก็สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว รัฐสภาแค่ต้องเดินหน้าลงมติวาระสาม

“เมื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ ผ่านวาระสาม ก็ยังไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย ต้องให้ประชาชนลงประชามติเสียก่อนว่า จะเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เมื่อประชาชนเห็นชอบก็นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หลังจากนั้นก็มีการเลือก ส.ส.ร. ตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แล้ว ส.ส.ร. ก็ไปยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ไปทำประชามติอีกครั้ง ถ้าประชาชนเห็นชอบ ก็เข้าสู่กระบวนการประกาศใช้ ทั้งหมดก็เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จากนี้ก็ต้องเดินหน้าลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระสาม ต่อไป และเชื่อว่ากระบวนการจะไม่ล่าช้ากว่าเดิม”

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า รัฐสภาควรเดินหน้าประชุม เพื่อลงมติในวาระสาม เพื่อให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แล้วจัดให้มีการทำประชามติ ภายใน 90-120 วัน หากประชามติผ่าน จึงจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จ ก็ไปทำประชามติอีกครั้ง ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทุกประการ

“การลงประชามติประกอบด้วย 2 คำถาม คำถามแรก เห็นชอบกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่กำหนดให้เปลี่ยนเงื่อนไขที่ต้องมี ส.ว. หนึ่งในสาม เห็นชอบในวาระที่หนึ่งและสาม เป็นการใช้เสียงสามในห้าของสมาชิกรัฐสภาหรือไม่ คำถามที่สอง เห็นชอบที่จะให้มีการเริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (โดยไม่เปลี่ยนแปลงหมวด 1 และ หมวด 2) โดยให้มี ส.ส.ร. 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเพื่อทำหน้าร่างรัฐธรรมนูญ หรือไม่” ข้อความของนายสมชัย ระบุ

ปลายปีที่แล้ว ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 256 ให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน หลังจากนั้นที่ประชุมสภาได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสอง โดยในวันที่ 17-18 มีนาคม ที่จะถึงนี้ จะเป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อลงมติในวาระที่สาม ว่าจะรับรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง