ผู้เชี่ยวชาญชี้ไทยกำลังเข้าสู่จุดวิกฤต หากตัวเลขยังไม่ลดลง
2021.05.03
กรุงเทพฯ

ในวันจันทร์นี้ นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่จุดวิกฤตของโควิด-19 หากไม่สามารถลดตัวเลขต่าง ๆ ลงได้ หลังจากที่ในวันนี้ มีการประกาศจำนวนผู้เสียเสียชีวิต 31 ราย และอัตราเสียชีวิตในปัจจุบัน สูงถึง 0.36 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าเดือนที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 0.12 เปอร์เซ็นต์ ถึงสามเท่าตัว
ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ระบุว่า จากสถิติปัจจุบัน ประเทศกำลังเข้าสู่จุดวิกฤตของโควิด-19 อย่างแท้จริงแล้ว
“ขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นของวิกฤตโควิด-19 เรามีอัตราการเสียชีวิตเมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ ประมาณแค่ 0.12 เปอร์เซ็นต์ แต่ในวันนี้ตัวเลขของเมื่อวานขึ้นไปถึง 0.36 ถ้าตัวเลขต่าง ๆ ไม่ลดลง และเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า เรากำลังวิ่งเข้าไปหาจุดวิกฤตที่แท้จริง” ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ กล่าว
“การใส่หน้ากากอยู่ตลอดเวลาไม่เว้นแม้กระทั่งอยู่บ้าน ตัวเลขในสัปดาห์นี้ อัตราการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในบ้าน ในครอบครัว กับเพื่อนฝูง ตอนนี้ถึงแม้อยู่บ้านเราไม่รู้หรอกใครจะนำเชื้อเข้ามาหรือเปล่า รักษาระยะห่าง หมั่นทำความสะอาดมือ” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ ยังชักชวนประชาชนให้ยอมรับการฉีดวัคซีน
“ฉีดวัคซีน 1 ล้านคน มีโอกาสที่จะมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงประมาณ 4 คน ผลข้างเคียงหรือผลไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่ติดโควิด-19 ตัวเลขของโลกวันนี้ 100 คน เสียชีวิต 2.2 คน มันเป็นตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างมากมายเหลือเกิน ผมขอความกรุณานะวันนี้ การฉีดวัคซีนไม่ใช่เพื่อตัวท่านเองอย่างเดียว เพื่อคนที่ท่านรัก เพราะท่านจะได้ไม่แพร่เชื้อให้คนเหล่านั้น” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติม
ในวันนี้ ศบค. ระบุว่า มียอดผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่รวม 2,041 ราย มีผู้ป่วยโควิด-19 สะสม 71,025 คน และเสียชีวิตสะสม 276 ราย เป็นยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ 1 เมษายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 182 คน ยอดที่กำลังรักษาตัวอยู่ตอนนี้มี 29,765 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก 981 ราย จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 278 ราย
ด้าน นพ. เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยผ่านแฟนเพจ กรมควบคุมโรคว่า เหตุผลที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตช่วงนี้เพิ่มสูง มีความเชื่อมโยงกับโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษและการระบาดในครอบครัว
“การมีสายพันธุ์อังกฤษเข้ามา ตั้งแต่เราเจอการระบาดที่เกี่ยวข้องกับทองหล่อ สถานบันเทิง เราเห็นการเสียชีวิตหลังจากการวินิจฉัยสั้นลงกว่าเดิม ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีความสอดคล้องกับการศึกษาหลาย ๆ ชิ้นทางยุโรป ที่บอกว่าสายพันธุ์นี้อาจจะเกี่ยวข้องกับลักษณะที่มีความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น… เสียชีวิตมากขึ้นจากเชื้อที่รุนแรง ข้อมูลการระบาดระลอกเมษายน มีผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดคนในครอบครัว และเพื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 27 เป็นร้อยละ 54” นพ. เฉวตสรร กล่าว
นายกฯ สั่งเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 คลองเตยหลังพบแพร่ระบาดหนัก
น.ส. ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า หลังการประชุม ศบค. นัดพิเศษ ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้มีการสั่งการให้เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ในชุมชนคลองเตยแล้ว
“พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จะมีการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนชุมชนคลองเตย เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป โดยมีจุดบริการฉีดวัคซีค 2 จุด คือ บริเวณห้างเทสโก้โลตัสพระราม 4 และโรงเรียนคลองเตยวิทยา คาดว่าจนถึงวันที่ 19 พ.ค. จะสามารถฉีดได้ถึง 20,000 คน สำหรับคลองเตย ศบค.ได้รับรายงานว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อ 304 ราย พบการติดเชื้อมากสุด อยู่ที่ 3 ชุมชนหลัก ได้แก่ ชุมชนพัฒนาใหม่, ชุมชน 70 ไร่, ชุมชนริมคลองวัดสะพาน” น.ส. ไตรศุลี ระบุ
ขณะเดียวกัน นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า วัคซีนโควิด-19 ของบริษัท แอสตราเซเนกา สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้แม้ฉีดเพียงเข็มแรก
“ศูนย์ได้ศึกษาภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาในคนไทย หลังเข็มแรกเป็นระยะเวลา 1 เดือน จำนวน 61 คน เป็นการรายงานเบื้องต้น ภูมิต้านทานที่ตรวจพบ มีการตอบสนอง ตรวจวัดภูมิต้านทานได้ถึงร้อยละ 96.7 เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจวัดภูมิต้านทานในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อ เป็นระยะเวลา 4-8 สัปดาห์ตรวจพบได้ร้อยละ 92.4… พบว่าระดับภูมิต้านทานที่พบ เพศหญิงจะให้ระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่าเพศชาย อายุที่น้อยกว่า 60 ปีจะมีระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี” นพ.ยง กล่าว
“การปูพรมฉีดเข็มเดียวไปก่อนให้ได้ประชากรมากที่สุด ด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกาจะได้ประโยชน์สูงสุดแล้วตามด้วยกระตุ้นอีก 10 ถึง 12 สัปดาห์ต่อมา หรือนานกว่านั้น หมายความว่าในช่วง 3 เดือนแรก น่าจะปูพรมการฉีดวัคซีนไปเลย ถ้าฉีดได้เดือนละ 10 ล้านคน ก็สามารถปูพรมไปได้ถึง 30 ล้านคนทีเดียว แล้วหลังจากนั้นก็ตามกระตุ้นรวมทั้งฉีดรายใหม่เพิ่มขึ้นด้วย ก็จะได้เป้าหมายอย่างรวดเร็ว” นพ.ยง กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 1,486,907 โดส เป็นผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรก 1,099,460 ราย และวัคซีนเข็มที่สอง 387,447 ราย ขณะที่ มีผู้ลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 639,251 คน แบ่งเป็นทางไลน์หมอพร้อม 466,221 คน และแอปพลิเคชั่น 173,030 คน โดยกระทรวงสาธารณสุขให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ นพ. ยง ยังกล่าวว่าให้ระวังการแพร่ระบาดในมาเลเซีย โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้ โดยระบุว่า "สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งขณะนี้คือ การระบาดของโควิด-19 ในมาเลเซีย ที่ต้องระวังแพร่ระบาดอย่างมากคือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 สายพันธุ์นี้จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ไม่ควรให้สายพันธุ์นี้มาระบาดในประเทศไทยได้"
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน