ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์เติบโตเศรษฐกิจไทยปี 64 เหลือ 2.2 เปอร์เซ็นต์
2021.07.15
กรุงเทพฯ

ธนาคารโลกปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปี 2564 เหลือเพียงร้อยละ 2.2 จากที่เคยคาดไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.4 ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนมีนาคม จากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ช้า แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในจำนวนที่ต่ำมากจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2564 รวมทั้งแผนการกระจายวัคซีนที่ล่าช้า
ในการแถลงเปิดตัว “รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย : เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” ของธนาคารโลก ในวันพฤหัสบดีนี้ (15 ก.ค. 2564) ธนาคารโลก ระบุเหตุผลของการปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ก็คือ ความล่าช้าของแผนการฉีดวัคซีน ทั้งในด้านการจัดหา และการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนซึ่งส่งผลลบต่อการเคลื่อนย้าย การบริโภค และการท่องเที่ยวของประเทศ และผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ได้ส่งผลต่อการจ้างงาน รายได้ และความยากจน
“คาดการณ์เติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ถูกปรับลดลงจาก 3.4 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนมีนาคมเหลือ 2.2 เปอร์เซ็นต์ เป็นการสะท้อนผลกระทบต่อการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามที่มีต่อการบริโภคของประชาชน และแนวโน้มที่ยังมีปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะยังคงมีน้อยอยู่ไปจนถึงสิ้นปี 2564 นี้” รายงานดังกล่าวระบุ
นอกจากนี้ ในรายงานของธนาคารโลกยังได้ระบุอีกด้วยว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยนั้นจะเป็นไปอย่างช้า ๆ และจะไปเร่งตัวขึ้นในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัว 5.1% โดยการฟื้นตัวจะไม่เท่าเทียมกัน มีบางภาคส่วนที่ฟื้นตัวเร็วกว่า โดยเฉพาะในภาคที่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ด้าน ดร. เบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ ธนาคารโลก กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวว่า ในปีนี้ เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยคาดว่าจะขยายตัวในราว 5.6% แต่อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็ไม่ได้เป็นไปโดยเท่าเทียมกัน
ดร. เบอร์กิต ระบุว่า การส่งออกของไทยจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างเด่นชัด เพราะเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามา ทำให้เริ่มขยายตัวออกไป แต่ขณะเดียวกันการบริโภคภายในประเทศยังไม่สามารถจะเร่งตัวขึ้นได้ และมาตรการกึ่งล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ก็จะทำให้การบริโภคชะลอตัวลงไปอีก
โครงการกู้เงินของรัฐบาลช่วยประคองเศรษฐกิจได้
อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารโลกก็เห็นว่ารัฐบาลไทยนั้นทำได้ค่อนข้างดี ในความพยายามที่จะประคองเศรษฐกิจไม่ให้ย่ำแย่ไปกว่านี้ โครงการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทของเมื่อปีที่แล้ว มีการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 70% ในรูปแบบของการช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ประชาชน ครัวเรือน และชดเชยรายได้ให้แก่ลูกจ้างที่ตกงาน รวมทั้งเงินกู้ 5 แสนล้านบาทในครั้งใหม่ ซึ่งจะนำมาใช้เป็นเงินชดเชยและความช่วยเหลือ สำหรับทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับกระทบจากคำสั่งล็อกดาวน์ในช่วงหนึ่งเดือน ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม เป็นต้นมา
ธนาคารโลกเห็นว่าแม้ระบบเศรษฐกิจไทยจะมีความเปราะบางอยู่ แต่ระบบการเงินนั้นยังมั่นคง ยังคงมีสภาพคล่องทางการเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทยก็เสริมสภาพคล่องเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นใจว่าภาคการเงินจะยังคงมีเสถียรภาพ
ในการสรุปรายงานของธนาคารโลกเห็นว่า ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของไทยขึ้นอยู่กับปัจจัยสามประการคือ ความรวดเร็วของโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนภายในประเทศ, สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดีขึ้นทั้งโลก เพียงพอที่จะทำให้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศสามารถฟื้นตัวบางส่วน ได้บ้างหรือไม่ รวมทั้งต้องดูความพร้อมของไทยในการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนได้มากน้อยเพียงไร และปัจจัยที่สาม ก็คือ ความสามารถในการเบิกจ่ายเงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่เพิ่งผ่านการอนุมัติว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด
ด้าน ดร. เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลก ชี้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย ยังเผชิญความไม่แน่นอนจากการระบาดของโควิดสูงมาก
“ปัจจัยเสี่ยงก็เช่น อาจมีการระบาดระลอกใหม่ และมีแวเรียนท์ใหม่ (สายพันธุ์ใหม่) ที่ทำให้การควบคุมยากขึ้น และทำให้จะต้องมีความจำเป็นในการล็อกดาวน์หรือจำกัดการเดินทางขึ้นอีก” ดร. เกียรติพงศ์ กล่าว
ดร. เกียรติพงศ์ยังได้แสดงความกังวล ว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐก็อาจจะล่าช้าไป ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องเพราะการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐถูกใช้เป็นหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงที่การบริโภคภายในอ่อนแรง
ข้อแนะนำจากธนาคารโลก
ในรายงานนี้ ทางธนาคารโลกเสนอแนะแก่รัฐบาลไทยว่า ควรจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เพียงพอและทั่วถึง เพราะวัคซีนเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการเปิดประเทศ และทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา ซึ่งรวมไปถึงการฟื้นตัวของภาคบริการ และการบริโภคภายในประเทศตามมาด้วย
รัฐบาลไทยควรดำเนินนโยบายการคลังในด้านการชดเชยหรือช่วยเหลือให้ตรงจุดกับกลุ่มเป้าหมาย แม้ว่าไทยมีเสถียรภาพทางด้านการเงินการคลัง แต่งบประมาณก็อาจจะจำกัดเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพจึงควรใช้ได้ประโยชน์สูงสุด
รัฐบาลไทยยังควรปฏิรูปโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศ ลดอุปสรรคทางการค้า ทั้งนี้เพื่อให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลอย่างเต็มที่จากการฟื้นตัวของการค้าและการลงทุนในระดับโลก
ดร. เกียรติพงศ์ มีความเห็นว่ามาตรการกึ่งล็อกดาวน์ครั้งใหม่นี้ ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมไม่มากเท่าปีก่อน เพราะไม่เข้มข้นเท่า และภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ ได้ปรับตัวไปแล้ว อย่างเช่น การทำงานจากที่บ้าน การสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน ซึ่งทำให้คาดว่าการบริโภคในปีนี้ ยังขยายตัวได้ 1.3% และขยายตัวได้ 3.9% ในปี 65
อย่างไรก็ตาม หากว่าสถานการณ์ของการระบาดระลอก 3 ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้อาจต้องมีมาตรการเข้มข้น อย่างเช่น ล็อกดาวน์ต่อไปจนไตรมาสสามของปีนี้ ก็อาจจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลดลงเหลือเพียง 1.2% จากที่คาดไว้ 2.2% ได้ รวมทั้งส่งผลให้การเติบโตของปีหน้าอาจจะเหลือ 2.1% จาก 5.1% ที่คาดไว้ในวันนี้
เทียบกับคาดการณ์ของหน่วยงานไทย
หน่วยงานสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของไทยทั้งหมดก็เห็นพ้องต้องกันว่า การระบาดระลอกสาม หากยืดเยื้อยาวนานจะทำให้อัตราการเติบโตของประเทศเป็นไปอย่างล่าช้า ในรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมิถุนายน 2564 ของธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8 สาเหตุจากการระบาดระลอกสามยืดเยื้อและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ดี และปี 2565 เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 หากว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประชาชนชาวไทยที่ทำให้สามารถเปิดประเทศได้
ในขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุในช่วงกลางเดือน พฤษภาคมว่าปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 อันเป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากอัตรา -6.1 ในปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก โน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 โดยที่ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวติดลบ -2.6%
ในส่วนของภาคธุรกิจนั้น น.ส. กานต์ กรองกุล เจ้าของธุรกิจตกแต่งภายใน อายุ 41 ปี ชาวกรุงเทพ กล่าวยกตัวอย่างหนทางลดผลกระทบว่า ตนอยากให้ทางการเพิ่มความสามารถในการตรวจเชื้อโควิด และออกใบรับรองให้กับผู้ปลอดเชื้อ ให้กับภาคประชาชนในวงกว้าง ซึ่งในธุรกิจของตนนั้น จำเป็นต้องมีใบรับรองเพื่อให้พนักงานเข้าทำงานในไซต์งานต่าง ๆ ได้
“ถ้าช่างและคนงานเราไปต่อคิวไม่ทัน ก็จะทำให้ไม่สามารถเข้าโครงการก่อสร้างได้ เสียงาน และเสียรายได้” น.ส. กานต์ กล่าว