ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 พันธุ์โอไมครอนรายแรก

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และมารียัม อัฮหมัด
2021.12.06
กรุงเทพฯ และปัตตานี
ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 พันธุ์โอไมครอนรายแรก ผู้คนเดินผ่านตลาดริมถนน ในกรุงเทพฯ วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2564 วันที่ประเทศไทยได้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเป็นรายแรก
เอเอฟพี

กระทรวงสาธารณสุข แถลงในวันจันทร์นี้ว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนรายแรกแล้ว โดยเป็นผู้เดินทางชาวสหรัฐที่เดินทางมาจากสเปน ขณะที่เจ้าหน้าที่ในภาคใต้เฝ้าระวังแนวชายแดนเข้ม หลังประเทศมาเลเซียประกาศพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วเช่นกัน

นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงที่กระทรวงสาธาราณสุขว่า ผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบรายแรกเป็นนักธุรกิจชาย สัญชาติอเมริกัน อายุ 35 ปี ซึ่งเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อหลังเที่ยงคืนวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้

เป็นโอไมครอนคนแรกที่ตรวจพบในประเทศไทย โดยเป็นคนที่เดินทางมาจากสเปน เกิดจาก Test and Go... ทางภาคใต้ก็ขอให้ตรวจให้มากขึ้น เพราะมีชายแดนติดกับมาเลเซีย และทุกท่านก็คงทราบข่าวว่า มาเลเซียก็เจอ (ไอไมครอน) แล้ว” นพ. ศุภกิจ กล่าว

นพ. ศุภกิจ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่พบเชื้อโอไมครอนรายแรกของไทย ไม่แสดงอาการ และได้รับวัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 1 เข็ม ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายนนี้ ได้ตรวจเชื้อแบบ RT-PCR เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา แต่ไม่พบเชื้อ แล้วเดินทางถึงประเทศไทยในคืนวันที่ 29 พฤศจิกายน และรับการตรวจอีกครั้งจนทราบผลยืนยันว่าติดเชื้อในวันที่ 1 ธันวาคม นี้ จากนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงได้มีการส่งตัวอย่างเชื้อไปตรวจเพื่อจำแนกสายพันธุ์ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบแล้วเชื่อว่าน่าจะเป็นโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน แต่จะให้ห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ตรวจซ้ำเพื่อยืนยันความถูกต้องอีกครั้งด้วย

ด้าน ​​นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจเชื้อผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อรายดังกล่าวแล้ว และยังไม่พบการแพร่ระบาดเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ได้ตรวจสอบบุคคลที่มีประวัติเจอผู้ป่วยยืนยันรายนี้จำนวน 19 คน เป็นพนักงานโรงแรม 17 คน และพนักงานสนามบิน 2 คน ซึ่งจะต้องตรวจสอบจนพ้นระยะฟักตัวของโรค กรณีที่ติดเชื้อ

สายพันธุ์ โอไมครอนดูจะแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นประมาณ 2-5 เท่า ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยคล้าย ๆ ไข้หวัดใหญ่ แยกยากจากสายพันธุ์อื่น ทั้งอัลฟา เบตา เดลตา และแกมมา แยกได้ยาก ที่มีรายงานในต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และยังไม่มีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนเสียชีวิตนพ. โอภาส กล่าวในวันจันทร์นี้

สำหรับ โควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 หรือ Omicron นั้นถูกค้นพบที่ประเทศแอฟริกาใต้ และแจ้งยืนยันให้องค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 และกลายเป็นหนึ่งในห้าสายพันธุ์ที่หน้ากังวลต่อจาก อัลฟา, เบตา, แกมมา และเดลตา ต่อมามีการพบเชื้อชนิดเดียวกันในประเทศต่าง ๆ ทั้งในแอฟริกาเอง และทวีปอื่น ๆ โดยก่อนหน้าประเทศไทย ได้พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนแล้วใน 46 ประเทศ

ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข ห้ามไม่ให้ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศบอตสวานา, อีสวาตินี, เลโซโท, มาลาวี, โมซัมบิก, นามิเบีย, แอฟริกาใต้ และซิมบับเว เข้าประเทศ แต่หากเดินทางมาจากประเทศอื่นในทวีปแอฟริกาต้องกักตัว 14 วันก่อนเข้าประเทศไทย

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า โควิด-19 ที่พบในไทยเป็น สายพันธุ์เดลตา 65.97 เปอร์เซ็นต์ อัลฟา 32.48 เปอร์เซ็นต์ และสายพันธุ์เบตา 1.54 เปอร์เซ็นต์ 

ในวันจันทร์ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มอีก 4,000 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 2.14 ล้านราย และเสียชีวิตเพิ่ม 22 ราย รวมเป็นยอด 20,966 ราย

คุมเข้มชายแดนใต้

หลังตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอนรายแรก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาคสี่ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ได้เพิ่มกำลังคุมเข้มแนวชายแดนเขตรอยต่อเชื่อมโยง 2 จังหวัด ทั้ง จ.สตูล และ จ.สงขลา ซึ่งติดกับรัฐเปอร์ลิส และรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย โดยออกลาดตระเวนคุมเข้มครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ ใน 2 จังหวัด ระยะทางรวม 206 กิโลเมตร ครอบคลุมทั้งทางบก และทางทะเล ทั้งกลางวัน และกลางคืน และการตั้งด่านสกัดแบบด่านซ้อนด่าน เพื่อป้องกันการลักลอบเดินทางเข้าออกชายแดนไทย-มาลเซีย ของกลุ่มแรงงานต่างด้าว เนื่องจากในมาเลเซียก็พบผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอนแล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 64 - 5 ธ.ค. 64 สามารถจับกุมแรงงานไทยที่ลักลอบออกมา 16 ครั้ง ผู้ต้องหา 32 คน ส่วนแรงงานต่างด้าวลักลอบ จำนวน 20 ครั้ง ผู้ต้องหา 114 คน แยกเป็น ผู้นำพา จำนวน 8 คน สัญชาติไทย 7 คน, สัญชาติเมียนมา 1 คน สัญชาติเมียนมา จำนวน 102 คน สัญชาติกัมพูชา จำนวน 1 คน สัญชาติมาเลเซีย จำนวน 3 คน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีการจับกุมแล้วมีผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธ์ุใหม่แต่อย่างใด

ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งโทรสารด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส และสตูล ให้เข้มงวดมาตรการป้องกันโควิด-19 หลังมีข่าวว่า มาเลเซีย พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง