กระทรวงศึกษาธิการพร้อมเปิดโรงเรียนที่เข้าเงื่อนไข 1 พ.ย. นี้
2021.10.28
กรุงเทพฯ และปัตตานี

น.ส. ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว. ศธ.) เปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ว่า ศธ. พร้อมให้โรงเรียนกลับมาทำการสอนในโรงเรียน วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขสาธารณสุข ด้าน นักเรียน ผู้ปกครอง และครู เห็นด้วย เพราะเชื่อว่าการเรียนออนไลน์ไม่มีประสิทธิภาพเท่าเรียนที่โรงเรียน
น.ส. ตรีนุช กล่าวในการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า เป็นเวลา 18 เดือนที่รัฐบาลให้โรงเรียนทำการสอนแบบออนไลน์ แต่มีโรงเรียนถึงกว่า 1 หมื่นแห่งจาก 376,000 โรงเรียนที่ขอให้ ศธ. อนุญาตให้ทำการสอนที่โรงเรียน
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราพบว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือการที่เด็กได้กลับเข้าไปสู่ห้องเรียน ซึ่งเด็กจะได้มีการเรียนรู้ทุกด้าน ได้ปฏิสัมพันธ์ทั้งครู และเพื่อน การเรียนรู้ออนไลน์ ในช่วงสถานการณ์โควิดก็ยังเป็นกระบวนการที่สร้างความเครียดให้กับเด็ก ๆ ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงศึกษาธิการตระหนักดี” น.ส. ตรีนุช กล่าว
ทั้งนี้ ศธ. กำหนดเงื่อนไขสำหรับการเรียนที่โรงเรียน โดยแบ่งความเข้มข้นตามการแพร่ระบาด และคณะกรรมการควบคุมโรค ประจำจังหวัดจะเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งเงื่อนไขสำคัญคือ โรงเรียนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด บุคลากรของโรงเรียนนั้น ๆ ต้องฉีดวัคซีนครบสองเข็มอย่างน้อย 85 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ 85 เปอร์เซ็นต์ของบุคลากรต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็ม จึงจะเปิดเรียนได้
การจัดการเรียนในห้องต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1.5 เมตร ต้องมีนักเรียนไม่เกิน 25 คนต่อห้อง หลีกเลี่ยงกิจกรรมรวมตัว มีพื้นที่แยกกักโรคในโรงเรียน และต้องมีการสุ่มตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นระยะและรายงานผลให้ ศธ. และ สธ. ทราบ ทั้งนี้ ในระหว่างภาคเรียน แต่ละโรงเรียนอาจปรับรูปแบบการสอน เช่น สลับไปเรียนออนไลน์บางส่วน โดยพิจารณาปัจจัยสุขภาพของผู้เรียนเป็นหลัก
ต่อแผนการเปิดเรียนดังกล่าว นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า เห็นด้วยกับการเปิดเรียน และ สธ. จะเร่งสนับสนุนวัคซีนโควิด-19 ให้แก่นักเรียนที่มีความประสงค์จะฉีด เพื่อให้พร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนนี้
“ไม่มีประโยชน์เลยถ้าเราเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยว นักธุรกิจ คนไทยเดินทางไปมาได้ แต่เราไม่เปิดโรงเรียน ผมเชื่อว่า โรงเรียนเป็นหัวใจสำคัญ ครอบครัว ชุมชน จะต้องมีความปลอดภัย ถ้าประเทศไทยเราสามารถเปิดโรงเรียนได้ จะมีนัยสำคัญยิ่งกว่าการเปิดประเทศอีก ตอนนี้แนวนโยบายก็คือ ทำยังไงให้เด็ก ๆ สามารถในการป้องกันตัวได้” นพ. โอภาส
ต่อการเปิดให้เรียนที่โรงเรียน นายบือราเฮง เงาะตาลี ผู้ปกครองนักเรียนในจังหวัดยะลา ระบุว่า “โควิดต้องไม่สร้างผลกระทบกับการเรียนของเด็ก ๆ ทุกวันนี้เด็กก็แย่มากกับการเรียนออนไลน์และสถานการณ์ การจะให้โควิดหายไปมันยาก แต่มันจะง่ายกว่า ถ้าทุกคนเตรียมพร้อมที่จะรับมือและอยู่ร่วมกับมัน”
นางอภิญญา ชูสกุล ผู้ปกครองนักเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “เรื่องโรคก็เป็นห่วงลูกนะ แต่ปีที่ผ่านมาลูกการเรียนแย่ลง พลังชีวิตหายไป เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะให้ไปเรียนที่โรงเรียน เพราะที่ผ่านมาปีกว่า ๆ ผลักภาระให้ผู้ปกครองพอแล้ว อยากให้เด็กได้อยู่ในบรรยากาศโรงเรียน”
ขณะที่ ด.ญ. อตินุช มงคลรัตน์ นักเรียนชั้นประถมศึกษา ในจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “เรียนที่โรงเรียนดีกว่าที่บ้าน เพราะได้เจอเพื่อน ได้เล่นกับเพื่อน ถ้าเรียนไม่เข้าใจก็ถามเพื่อน ถามครูได้ง่าย ๆ เรียนที่บ้านต้องให้คุณยายสอน คุณยายดุ ก็ทำให้เครียด แต่ก็นอนตื่นสายได้”
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ ศธ. ระบุว่า นักเรียนทั่วประเทศ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา (อายุ 3.5 ปี-18 ปี) มีประมาณ 14 ล้านคน ในนั้นมี 5 ล้านคน ที่อายุถึงวัยสามารถฉีดวัคซีนได้ (12-18 ปี) ซึ่งมี 3.8 ล้านคนที่ประสงค์ โดย ศธ. ร่วมกับ สธ. ได้ฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียน ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2564 ถึงปัจจุบันสามารถฉีดได้แล้ว 2.5 ล้านคน ขณะที่ ครูและบุคลากรการศึกษามีทั้งสิ้น 8.9 แสนคน ได้ฉีดเข็มแรกแล้ว 7.8 แสนคน และฉีดเข็มที่สอง 5.2 แสนคน ยังไม่ได้ฉีดอีก 1.1 แสนคน ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งฉีดเพื่อรองรับการเปิดเรียน
ขณะที่นายอภินันท์ (สงวนนามสกุล) ครูในเขตกรุงเทพฯ ชี้ว่า โรงเรียนเอกชนจะพร้อมดำเนินตามมาตรการของ ศธ. มากกว่าโรงเรียนรัฐ แต่เชื่อว่าสุดท้ายสิ้นภาคการศึกษานี้ทุกอย่างจะกลับสู่ภาวะปกติ
“จำเป็นมากที่ต้องกลับมาเรียนที่โรงเรียน เพราะการเรียนออนไลน์มีข้อจำกัดเยอะ.. แต่ปัญหาที่ตามมาอาจเป็นโรงเรียนที่แต่ละห้องมีนักเรียนจำนวนมาก อาจเกิดปัญหาเรื่องพื้นที่ และการจัดสรรบุคลากรดูแลนักเรียน” นายอภินันท์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
เช่นเดียวกับ ดร. ยุพเทพ บุณยฤทธิ์รักษา ผู้อำนวยการ โรงเรียนมณีอนุสรณ์ศึกษา ในจังหวัดขอนแก่น ระบุว่า ยังกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่โรงเรียนจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันโรคอย่างดีที่สุด
“ตั้งแต่มีโควิดผู้ปกครองเอานักเรียนออกไปแล้วเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะเขาเห็นว่าเรียนออนไลน์ไม่สำคัญเท่าเรียนที่โรงเรียน ทำให้โรงเรียนรายได้น้อยลง ครูและบุคลากรถูกตัดเงินเดือน 20 เปอร์เซ็นต์... บุคลากรทุกคนฉีดวัคซีนครบแล้ว นักเรียนมัธยมฉีดวัคซีนทุกคนแล้ว เด็กประถมเราให้เงื่อนไขคือ ผู้ปกครองของเด็กจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ครบ ซึ่งตอนนี้ถือว่าทำได้ 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว” ดร. ยุพเทพ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ในวันพฤหัสบดีนี้ ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,658 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 84 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 1.88 ล้านราย และเสียชีวิตสะสม 1.9 หมื่นราย โดยสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนแล้ว 72.8 ล้านโดส เป็นผู้ที่ฉีดครอบสองเข็ม 29.4 ล้านราย
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน