ไทยเตรียมฉีดวัคซีนจีน 2 แสนโดส เดือนกุมภาพันธ์นี้
2021.01.05
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ประเทศไทยคาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวน 2 แสนโดสแรก ที่ซื้อจากประเทศจีน ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้ ขณะที่นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้มีการสั่งวัคซีนจากบริษัท แอสตราเซเนกา เพิ่มจากเดิมอีก 35 ล้านโดส
ด้าน ครม. มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ออกไปถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และยกระดับการควบคุมจังหวัดสมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด ห้ามเข้าออกพื้นที่หากไม่จำเป็น ให้ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดทันที
นายอนุชา เปิดเผยว่า วัคซีนชุดแรกที่จะเข้ามาในประเทศไทย จะถูกฉีดให้กับบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมถึงกลุ่มที่มีการติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อนสูง โดยประชาชน 1 คน จะต้องได้รับการฉีด 2 โดส
“ตอนนี้ ได้มีการพูดคุยกันกับบริษัท ซิโนแวคไบโอเทค ที่จะจัดหาวัคซีนจำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งวัคซีนที่จะได้รับการอนุญาตเข้ามาใช้ให้กับประชาชนคนไทย จะต้องขึ้นทะเบียนจาก อย. ของทางประเทศจีน และเมื่อผ่านของประเทศจีนแล้วต้องนำมาเพื่อให้ทาง อย. ของประเทศไทยเป็นผู้อนุมัติด้วยเพิ่มเติม องค์กรเภสัชกรรมเป็นผู้นำเข้ามา และกรมควบคุมโรคเป็นผู้จัดซื้อกระจายไปสู่ประชาชน ซึ่ง ณ ตอนนี้ ได้มีวงเงินจัดสรร 1,228 ล้านบาท ในการที่จัดหาจำนวน 2 ล้านโดส เข้ามาโดยเร็ว จำนวน 2 แสนโดสแรกจะนำเข้ามาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564”
นายอนุชา ระบุว่า วัคซีน 2 แสนโดสแรก จะถูกฉีดให้กับผู้ที่ทำงานภาคสนาม ในพื้นที่ที่มีการควบคุมสูงสุด เช่น จ.สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง ประมาณ 2 หมื่นคน และกลุ่มเสี่ยงที่มีการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนสูง รวมถึงกลุ่มจำเป็นอื่น 1.8 แสนคน
เดือนมีนาคม 2564 จะถูกนำเข้าอีกประมาณ 8 แสนโดส เพื่อฉีดเข็มที่ 2 ให้กับกลุ่มที่ 1 จำนวน 2 แสนโดส ส่วนอีก 6 แสนโดสจะฉีดในกลุ่มจังหวัดควบคุมสูงสุด และชายแดนภาคตะวันตก ภาคใต้ บุคคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) และกลุ่มที่ติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง รวมถึงกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ รวม 6 แสนคน
ในวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า ในเดือนเมษายน 2564 วัคซีน 1 ล้านโดสจากประเทศจีนจะถูกนำเข้าประเทศไทย และในปลายเดือนพฤษภาคม 2564 จะมีการนำเข้า 26 ล้านโดส ของบริษัท แอสตราเซเนกา ประเทศอังกฤษ และปัจจุบันได้มีการสั่งเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส เพื่อให้เพียงพอสำหรับประชาชนอย่างน้อย 60 คนแล้ว
“วันนี้ ได้มีการสั่งจองเพิ่ม ของแอสตราเซเนกาไปอีก 35 ล้าน รวมทั้งหมดแล้วจะมีทั้งหมดเกือบ 60 ล้านคน ที่ได้รับการฉีดตามระยะเวลาที่วัคซีนเข้ามา ผมคิดว่าเพียงพอตามข้อมูลสาธารณสุข มันต้องฉีดคนละ 2 โดส ห่างกัน 4 สัปดาห์ทยอยฉีด การให้กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค ที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ที่อยู่หน้างาน ผู้ที่ตรวจสอบคัดกรอง ผู้ที่ป่วยเจ็บเรื่องของโควิด ต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ก่อน กลุุ่มแพทย์ด่านหน้า ประชาชนผู้สูงอายุ ประชาชนกลุ่มโรคเรื้อรัง และอื่น ๆ ที่มีความจำเป็น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
“ระยะต่อ ๆ ไปเราก็จะมีการติดต่อหารือ แสวงหาจากประเทศอื่น ๆ อีกด้วย เพื่อให้รวดเร็วตามความต้องการของเรา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัคซีนแอสตราเซเนกา ก็เตรียมความพร้อมของ สยามไบโอไซเอนซ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งไว้ตั้งแต่รัชกาลที่ผ่านมา ได้ทรงพระราชานุญาติให้ใช้ในการผลิตวัคซีนได้ ก็คาดว่าจะผลิตได้ปีละ 200 ล้านโดส ในระยะต่อไป เพราะฉะนั้นเราก็น่าจะเพียงพอในการแจกจ่ายวัคซีนทั่วประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ในการจัดหาวัคซีนรัฐบาลอนุญาตให้บริษัท หรือโรงพยาบาลเอกชนสามารถจัดหาได้ด้วยตัวเอง แต่วัคซีนที่จะจัดหานั้นจำเป็นต้องผ่านมาตรฐานขององค์การอาหารและยา (อย.) ของไทยก่อนเท่านั้น จึงจะสามารถนำมาใช้จริงได้
ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน ครม. มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ออกไปถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จากเดิมที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะหมดอายุในวันที่ 15 มกราคม 2563 โดยล่าสุดได้มีการยกระดับการควบคุม จังหวัดสมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด โดยเรียกกลุ่มจังหวัดนี้ว่า จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มข้น โดยใช้การออกคำสั่งของ กระทรวงมหาดไทย มท.0230/ว.27 ซึ่งมีมาตรการดังนี้
1. ปิดสถานที่เสี่ยง 2. ห้ามนั่งบริโภคอาหารในร้าน ตั้งแต่ 21.00 - 06.00 น. โดยห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านเด็ดขาด 3. ตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด กับรอยต่อพื้นที่ควบคุมให้มีการบันทึกข้อมูล และดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุด ต้องมีด่าน ก่อนข้ามไปยังพื้นที่ควบคุมปกติ 4. งดการเดินทางข้ามพื้นที่ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น หรือเป็นการขนส่งสินค้า และ 5. ให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม
“พื้นที่ 5 จังหวัด ยืนยันไม่ใช่การล็อกดาวน์ ซึ่งที่ผ่านมา การล็อกดาวน์คือ การห้ามเดินทางให้อยู่เฉพาะในบ้าน ซึ่งหากยังควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่ได้ อาจมีคำสั่ง” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
ผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่ม 527 ราย วันอังคารนี้
ในวันเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า ในวันนี้มีผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่ม 527 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 82 คน ติดเชื้อในแรงงานข้ามชาติ 439 ราย ติดเชื้อในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 6 ราย ทำให้ ปัจจุบันมี ผู้ติดเชื้อสะสม 8,966 ราย รักษาหายแล้ว 4,397 ราย และเสียชีวิตคงที่ 65 ราย
“ผู้ติดเชื้อก้อนใหญ่มาจากแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน 439 คน… มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรวม 56 จังหวัด มีรายงานเพิ่มที่ สิงห์บุรี และน่าน แต่ไม่ได้ทำให้แผนที่ของมาตรการเปลี่ยนไป และจะทำเป็นพื้นที่สีแดงเลือดหมู สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดอย่างเข้มงวดในพื้นที่ 5 จังหวัดคือ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า การติดเชื้อจากจังหวัดสมุทรสาคร นำไปสู่การติดเชื้อใน 45 จังหวัด 2,536 ราย นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2563 ในนั้น 71 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวเมียนมา ไทย 24 เปอร์เซ็นต์ และอื่น ๆ 5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ การติดเชื้อจากจังหวัดระยอง ระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม 2563 - 3 มกราคม 2564 นำไปสู่การติดเชื้อ 426 ราย พบการกระจายไปไกลไปถึงจังหวัดอำนาจเจริญ และเชียงใหม่
ขณะเดียวกัน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ในการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ มีข้อสังเกตว่า คนไข้อาการหนัก 17 คน ที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช พบเป็นการติดเชื้อ และอัตราการเสียชีวิตในคนอายุน้อย เฉลี่ย 20-40 ปี จากเดิมที่คนอายุน้อยจะไม่พบการติดเชื้อ และอัตราการเสียชีวิตต่ำ
อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ประสิทธิ์ ระบุว่า ปัจจัยอาจไม่ใช่จากไวรัสโดยตรง แต่อาจมาจากสาเหตุเพราะมาพบแพทย์ช้า บางรายไม่มาพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ เมื่อมาในช่วงอาการหนัก จึงให้ยาฟาวิฟิราเวียร์ไม่ทัน ซึ่งยาดังกล่าวต้องได้รับตั้งแต่ต้น ๆ ย้ำว่า อย่ารอจนอาการหนัก คนที่มีความเสี่ยงหรือเริ่มมีอาการขอให้รีบมาพบแพทย์