เจ้าหน้าที่ยึดการ์ดเกม Patani Colonial Territory หวั่นปลุกระดม

มารียัม อัฮหมัด และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.11.29
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
เจ้าหน้าที่ยึดการ์ดเกม Patani Colonial Territory หวั่นปลุกระดม เยาวชนในอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เล่นการ์ดเกม Patani Colonial Territory วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565
ภาพ อารีฟีน โสะ

ในวันอังคารนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า แสดงความกังวลต่อการโปรโมตการ์ดเกม Patani​ Colonial​ Territory ที่อ้างอิงถึงข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกต้อง หลังจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยึดเกมจากร้านกาแฟแห่งหนึ่งในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวานนี้

ด้าน Chachiluk Board game ผู้ผลิตเกม ได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ผ่านทางเฟซบุ๊ก ในวันนี้ว่าการยึดเกมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

เกม Patani​ Colonial​ Territory เป็นเกมลักษณะคล้ายไพ่มี 52 ใบในหนึ่งสำรับ แต่ละใบจะเล่าเหตุการณ์ย้อนยุคไปจนถึงครั้งที่ราชอาณาจักรสยามผนวกปาตานี เข้าไว้เป็นดินแดนของเรื่องเกี่ยวกับราชวงศ์ของปาตานี รวมทั้งการกล่าวหาว่ามีการใช้เชลยชาวมลายูขุดคลองแสนแสบ โดยมีการเจาะเอ็นร้อยหวาย

“เมื่อเราย้อนกลับไปดูเรื่องของประวัติศาสตร์เชิงบาดแผลในแต่ละตอน พบว่าเป็นสิ่งที่ได้รับการปั้นแต่งขึ้นมา ผมยกตัวอย่างเช่น เรื่องการจับคนมลายูเจาะเอ็นร้อยหวายไปขุดคลองแสนแสบ ถือว่าเป็นเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยาวนาน เป็นการเล่าแบบรุ่นต่อรุ่น” พล.ต. ปราโมทย์ พรหมอินทร์  รองผู้อำนวยการ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าว

“ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดทั้งในเชิงการแพทย์ และในเชิงประวัติศาสตร์ในการขุดคลองแสนแสบ พบว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนมลายูที่ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยในตอนนั้นแต่อย่างใด อันนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เชิงบาดแผลที่เขาปั้นแต่งขึ้นมา เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกระดมให้กับพี่น้องประชาชน” พล.ต. ปราโมทย์ ระบุ

พล.ต. ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า องค์กรที่อยู่เบื้องหลังในการเป็นสปอนเซอร์หรือให้เงินสนับสนุนในการผลิตการ์ดเกม คือ คณะก้าวหน้า ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง

เมื่อวันจันทร์นี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ยึดการ์ดเกมไปจากร้านกาแฟ Life Coffee Slow Bar ในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เพจ Chachiluk Board game ในฐานะผู้จัดทำเกมดังกล่าว ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจว่าเจ้าหน้าที่รัฐควรเคารพสิทธิของประชาชน

“ขอยืนยันว่านี่เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก พูด ร้อง หรือเล่นเกม ตราบใดที่ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น เจ้าหน้าที่ตำรวจควรตระหนักและปกป้องคุ้มครองสิทธิดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เป็นผู้ละเมิดเสียเอง ผู้คนในสังคมนี้ควรมีสิทธิที่จะจำเหตุการณ์ เรื่องเล่า ที่ไม่ใช่ความทรงจำเดียวกับศูนย์กลางอำนาจรัฐ เราจะขอยืนยันว่าการการละเมิดเสรีภาพครั้งนี้ เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี” ตอนหนึ่งของข้อความในเพจ Chachiluk Board game ระบุในวันอังคารนี้

เพจดังกล่าวระบุว่า การ์ดเกม "Patani​ Colonial​ Territory​" จัดทำและออกแบบโดยกลุ่ม​ Chachiluk​ Boardgame​ เป็นโครงการ​ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก Common School มูลนิธิคณะก้าวหน้า การจัดทำการ์ดเกมชุดนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งต่อประวัติศาสตร์ช่วงการผนวก​ "ราชอาณาจักร​ปา​ตานี" ​เข้ากับ "ราชอาณาจักร​สยาม" 

นอกจากนั้น ทางกลุ่มกำลังโปรโมตการเปิดตัว-แข่ง-เล่นเกมนี้ ในวันเสาร์​ที่​ 3 ธันวาคม​ นี้ ที่ร้านกาแฟ​ The​ Hooman​ ในตัวเมืองยะลา โดยในเดือนพฤศจิกายนนี้ ได้แจกจ่ายการ์ดเกมให้กับคนทั่วไป และองค์กรประชาสังคม ที่จะเข้าร่วมในวันเปิดตัวเกมนี้ไปจำนวนหนึ่ง

ยึดการ์ดเกมจากร้านกาแฟ

ในตอนเย็นเมื่อวานนี้ พ.ต.ท. สถาพร เหล่ามูล รอง ผกก. สภ.บันนังสตา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ได้เข้าตรวจยึดการ์ดเกม Patani​ Colonial​ Territory​ จากร้านกาแฟของนายฟุรกอน มะลี ซึ่งเจ้าตัวกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงหมายค้น

ตอนหนึ่งของบันทึกตรวจยึดระบุว่า “ข้อความและรูปภาพ ซึ่งปรากฏอยู่ที่การ์ดเกมแต่ละใบนั้นอาจหมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย จึงขอทำการตรวจยึดเพื่อนำไปส่งมอบให้กับพนักงานสืบสวน สภ.บันนังสตา ดำเนินการตรวจสอบต่อไป”

“ร้านของผมน่าจะเป็นร้านแรกที่ถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจยึดการ์ดเกมดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ถามย้ำถึงการได้มาของเกมและวิธีเล่น ผมก็บอกให้เปิดดูในเพจ จะบอกวิธีเล่นและมีชื่อร้านค้าที่ได้รับเกมนี้กว่า 60 ร้าน ก็ถามว่าผมมีความผิดด้วยหรือ เจ้าหน้าที่บอกว่า ถ้าผิดก็คงจะเป็นคนออกเกม เหตุการณ์นี้ทำให้ผมรู้สึกถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่อยู่บ้าง” นายฟุรกอน กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ด้าน นายซูกริฟฟี ลาเตะ อดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนปาตานี (PerMAS) และสมาชิกกลุ่มเดอะ ปาตานี (The Patani) เขียนข้อความถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า “ประวัติศาสตร์เอ็นร้อยหวายไม่สำคัญเท่าความจริงว่าถูกล่าอาณานิคม และความจริงคือเจ้าอาณานิคมไม่ให้พูดความจริง และความจริงคือความจริงที่ถูุกต้องเพียงหนึ่งเดียว นอกนั้นคือความจริงที่เป็นภัยความมั่นคงของรัฐ และความจริงอีกด้านคือ ประเทศนี้ไม่มีเสรีภาพใด ๆ ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นและแสดงออกอย่างปลอดภัย”

ทั้นี้ เมื่อสัปดาห์ก่อน รศ.ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตรวจสอบเกมดังกล่าว

“เห็นการประชาสัมพันธ์การ์ดเกมส์ Patani Colonial Territory ที่ได้รับการสนับสนุนจาก #คณะก้าวหน้า แล้วค่อนข้างห่วงกังวล โดยเฉพาะประเด็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อาทิ ภาพการ์ดในเกมส์ที่นำมาประชาสัมพันธ์ยังมีการทำซ้ำในประเด็นอ่อนไหว เรื่องเอ็นร้อยหวายที่ปัจจุบันในวงวิชาการยอมรับว่าเป็นเรื่องเสริมแต่งเพิ่มในภายหลัง” รศ.ดร. ปิติ กล่าว

“ผมไม่เห็นด้วยในการใช้ข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ outdate (ล้าสมัย) มาสร้างความสุ่มเสี่ยงประเด็น Misinformation/Disinformation (ข้อมูลผิด) ในพื้นที่อ่อนไหวทางความมั่นคง”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง