อนุบาลปัตตานีห้ามนักเรียนที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากศาลแต่งชุดมุสลิม

มารียัม อัฮหมัด
2022.05.17
ปัตตานี
อนุบาลปัตตานีห้ามนักเรียนที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากศาลแต่งชุดมุสลิม นักเรียนหญิงมุสลิมแต่งกายตามหลักศาสนาของตนมาเรียนในวันแรกของการเปิดเทอมของโรงเรียนอนุบาลปัตตานี วันที่ 17 พฤษภาคม 2565
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ วันแรกของการเปิดภาคเรียนใหม่ของโรงเรียนอนุบาลปัตตานี หรือโรงเรียนวัดนพวงศาราม โดยโรงเรียนได้ประกาศห้ามนักเรียนมุสลิมสวมฮิญาบไปจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งว่าการประกาศของโรงเรียนไม่ถูกต้อง ยกเว้นกรณีของนักเรียน 20 ราย ที่ศาลปกครองจังหวัดยะลาให้การคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งโรงเรียนกำลังจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป

ข้อขัดแย้งเรื่องการแต่งกายดังกล่าว มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากที่เมื่อปี 2510 เจ้าอาวาสวัดนพวงศารามรูปก่อนได้มอบที่ดินให้กับทางโรงเรียน และทางโรงเรียนอ้างว่าเจ้าอาวาสมีเจตนารมณ์ให้นักเรียนแต่งกายด้วยเครื่องแบบของโรงเรียน และห้ามมิให้นักเรียนต่างศาสนาแต่งกายตามหลักศาสนาของตน จึงออกประกาศห้าม ผู้ปกครองชาวมุสลิมของนักเรียน 20 คน จึงได้ร้องต่อศาลปกครอง ในปี 2561

เมื่อสี่ปีต่อมา ล่าสุดวันที่ 21 เมษายน 2565 นายสมมาศ รัฐพิทักษ์สันติ ตุลาการศาลปกครองยะลา อ่านคำพิพากษาว่า ศาลได้พิพากษาเพิกถอนระเบียบโรงเรียนอนุบาลปัตตานี วัดนพวงศาราม ว่าด้วยการควบคุมและดูแลความประพฤติ การลงโทษ และการตัดคะแนนความประพฤติของนักเรียน พ.ศ. 2561 หมวดที่ 3 ว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายของนักเรียนในส่วนที่มิได้กำหนดลักษณะเครื่องแบบและการแต่งกายของนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลามให้สามารถแต่งเครื่องแบบและการแต่งกายตามข้อกำหนดของศาสนาอิสลามได้

อย่างไรก็ตาม นายธำรงค์ศักดิ์ ตันนิยม ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ได้ออกประกาศโรงเรียนฉบับลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ที่มีการส่งต่อกันในกลุ่มไลน์ของผู้ปกครองว่า “คำพิพากษาข้างต้นมีผลเพียงผู้ฟ้องคดี 20 รายเท่านั้น มิได้รวมถึงนักเรียนโรงเรียนอนุบาลปัตตานีรายอื่นที่จะสามารถแต่งกายตามข้อกำหนดของหลักศาสนาได้ ขอให้ผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานแต่งกายตามหลักศาสนาให้รอจนกว่าคดีถึงที่สุด”

นายธำรงค์ศักดิ์ ระบุว่า ขณะนี้ทางโรงเรียนกำลังอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองจังหวัดยะลา ซึ่งทางผู้ปกครอง 20 รายเป็นผู้ร้อง และมีกระทรวงศึกษาธิการ กับพวก 2 ราย เป็นผู้ถูกร้อง โดยมีการพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565

ในวันนี้ ผู้สื่อข่าวไม่สามารถติดต่อนายธำรงค์ศักดิ์ เพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้

ทั้งนี้ปกครองจังหวัดยะลา ได้พิจารณาว่าการออกคำสั่งของผู้อำนวยการว่า เมื่อพิจารณาจากหนังสือที่เจ้าอาวาสวัดนพวงศารามอนุญาตให้สร้างโรงเรียนอนุบาลปัตตานี เมื่อปี 2510 “ไม่ปรากฏข้อความหรือถ้อยคำใดที่กำหนดว่าเจ้าอาวาสมีอำนาจออกระเบียบห้ามนักเรียนแต่งเครื่องแบบตามศาสนาที่ตนนับถือ” ตามที่ผู้อำนวยการได้ใช้อ้างเป็นเหตุผลในการออกคำสั่งห้ามคลุมฮิญาบตามเจตนารมณ์ของเจ้าอาวาส

ส่วนกรณีที่กระทรวงศึกษาออกระเบียบว่าด้วยการแต่งเครื่องแบบนักเรียน ให้ทำตามคำสั่งโรงเรียน และประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 นั้น ทางผู้ปกครองไม่ได้ยื่นคำร้องให้เพิกถอนภายใน 90 วันหลังจากมีการประกาศ ศาลปกครองจึงไม่ได้นำมาพิจารณา

เบนาร์นิวส์ได้สอบถามไปยังผู้ปกครองนักเรียนรายหนึ่ง ซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้ฟ้องคดี 20 ราย ได้ความว่า ในวันเปิดเทอมนี้ได้ให้ลูกแต่งกายตามหลักศาสนาไปเหมือนเดิม แต่นักเรียน 20 คน ที่เป็นผู้ฟ้องคดี ปัจจุบันเหลือศึกษาอยู่เพียง 3 คนเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่ได้เรียนจบออกไปแล้ว

“โรงเรียนได้ยื่นอุทธรณ์คดี ฉะนั้นคดีจึงยังไม่ถึงที่สุด ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วและเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองยะลา ก็ขอให้โรงเรียนแก้ไขระเบียบเรื่องการแต่งกายโดยเร็วที่สุด” ผู้ปกครองรายเดียวกันกล่าวโดยขอสงวนชื่อ-นามสกุลเพื่อความเป็นส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวในพื้นที่กล่าวว่า ไม่ปรากฏว่ามีนักเรียนมุสลิมรายใดถูกตำหนิโดยคณะครูโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ในวันอังคารนี้

ย้อนหลังการเรียกร้อง

กรณีที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ครูในโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ได้ตำหนินักเรียนมุสลิมบางคนเรื่องการแต่งกาย และห้ามการคลุมผ้าคลุมผม หรือฮิญาบมาเข้าเรียน โดยอ้างว่าที่ดินของโรงเรียนเป็นที่ดินของวัดนพวงศาราม โรงเรียนมีนักเรียนร่วม 2,000 คน และร้อยละ 40 เป็นนักเรียนมุสลิม โดยมีการหักคะแนนความประพฤติของผู้ที่ฝ่าฝืน

ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 นายประจักษ์ ชูศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานี (ในขณะนั้น) ได้ชี้แจงกับผู้ปกครองนักเรียนว่า โรงเรียนห้ามไม่ให้นักเรียนคลุมฮิญาบมาเข้าเรียน โดยแนะนำให้นักเรียนที่ต้องการคลุมฮิญาบไปเรียนให้ไปเรียนที่โรงเรียนอื่น

ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2561 ศึกษาธิการจังหวัด และนายประจักษ์ ได้มีการหารือ และแถลงร่วมกันว่า โรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนมุสลิมสามารถสวมชุดนักเรียนตามหลักศาสนาอิสลามได้ โดยนักเรียนชายให้ใส่กางเกงขายาว และนักเรียนหญิงให้คลุมฮิญาบได้ ทำให้สามวันหลังจากนั้น มีผู้ปกครองและชาวพุทธรวมกว่า 300 คน ชุมนุมประท้วงการแถลงดังกล่าวที่หน้าโรงเรียน

วันที่ 5 มิถุนายน 2561 นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ในขณะนั้น) ได้ลงนามในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งมีใจความสำคัญระบุว่า สำหรับโรงเรียนที่เป็นพื้นที่ธรณีสงฆ์ นักเรียนจำเป็นต้องแต่งกายตามระเบียบที่วัดและโรงเรียนได้ตกลงกัน ซึ่งทางโรงเรียนอนุบาลปัตตานีไม่อนุญาตให้นักเรียนมุสลิมคลุมฮิญาบเข้าเรียน ทำให้ผู้ปกครองนักเรียนจำนวนหนึ่งยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสงขลาในเดือนตุลาคม 2561 เพื่อให้โรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนมุสลิมสามารถแต่งกายตามศาสนาได้ และในวันที่ 29 ตุลาคม 2561 ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีดังกล่าว

ต่อมาคดีดังกล่าวได้ย้ายมาอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองยะลา และวันที่ 24 มีนาคม 2565 ศาลได้พิจารณาคดีดังกล่าวเป็นครั้งแรกก่อนที่จะนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 21 เมษายน 2565 โดยให้โรงเรียนเพิกถอนระเบียบการแต่งกายเดิม ซึ่งห้ามนักเรียนมุสลิมสวมชุดนักเรียนตามหลักศาสนา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง