กลุ่มไทยพุทธเรียกร้องขบวนการเลิกทำร้ายผู้บริสุทธิ์ในทันที
2022.11.01
ปัตตานี

กลุ่มชาวพุทธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันอังคารนี้ว่า ได้พบปะกับผู้แทนฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบแบบตัวต่อตัวเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยได้เรียกร้องให้ฝ่ายขบวนการยุติการทำร้ายเป้าหมายผู้บริสุทธิ์ไม่ว่าจะเป็นผู้นับถือศาสนาใด ๆ ก็ตาม โดยทันที
นายพงศักดิ์ พรหมสังข์ ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธ, นางธิดา วรรณลักษณ์ ประธานชมรมพุทธรักษานราธิวาส และนางละม้าย มานะการ เลขานุการสมาคมลุ่มน้ำสายบุรี ได้เดินทางเพื่อพบปะหารือกับกลุ่มขบวนการที่อาศัยอยู่ในเมืองต่าง ๆ ในประเทศมาเลเซีย ในระหว่างวันที่ 25-28 ก.ย. 2565 ได้มีการพูดคุยกับ นายอาบูอาฟิส อัลฮากิม (หรือหมอดิง) จากกลุ่ม BIPP ในฐานะโฆษกกลุ่มมาราปาตานี, นายกัสตูรี มาห์โกตา ประธานกลุ่มพูโล, ทีมอุสตาซอารง และพูดคุยกับ ดร. นิมะ สือรี นักวิชาการและผู้แทนในคณะพูดคุยฯ ของบีอาร์เอ็น
“สิ่งที่เราเรียกร้องและบอกเขา ข้อแรก ทางขบวนการผู้เห็นต่างจะต้องหยุดทำร้ายผู้บริสุทธิ์ ไม่ใช่เฉพาะพี่น้องไทยพุทธ แต่ทุกศาสนิกที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องหยุดโดยทันที"
"เรายังมีการพูดคุยถึงแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างศาสนิกกับกลุ่มผู้เห็นต่าง โดยจะเป็นแกนนำของพี่น้องพุทธเป็นหลักในการทำงานร่วมกัน เพราะเรามองว่าการที่ขบวนการพูดคุยกับรัฐไทยอย่างเดียวมันไม่เพียงพอ คิดว่าพี่น้องในพื้นที่อื่น ๆ จำเป็นจะต้องมีส่วนร่วมด้วย” นายพงศักดิ์ กล่าว
“เรารู้สึกว่า เราคือคนพุทธในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เพราะเราคือส่วนหนึ่งของคนในพื้นที่ และในวันนี้ 10 กว่าปี ที่ผ่านมาเรา ไม่เคยได้สื่อสารกับผู้เห็นต่างที่อยู่ในพื้นที่มาเลเซียเลย ณ วันนี้ เราคิดว่าสมควรหรือถึงเวลาแล้วที่คนพุทธจะต้องเป็นคนหนึ่งในการพูดคุยในมาเลเซีย” นายพงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม
“เรารู้สึกว่าเราถูกทำร้ายมาตลอดตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ทำให้เราต้องไป เราไม่เคยมีการสื่อสารกับกลุ่มขบวนการเลย เพราะไม่มีวิธีไหนดีที่สุดเท่ากับการพูดคุย บางครั้งคนเราทะเลาะกันแต่เราไม่เคยได้คุยกันเลย ทีนี้การคุยผ่านคนอื่น ผ่านการเล่าต่อผ่านการบอกต่อมันไม่เหมือนกับเราไปเอง พอเราไปเองมันได้พูดคุย” นางธิดา วรรณลักษณ์ กล่าวเสริม และระบุว่า เธอได้เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่ามุสลิมและคนพุทธ
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพุทธ ก็จะเป็นครูกับพระ ที่จะถูกทำร้ายอยู่ตลอดเวลา เราจึงได้นำเสนอตรงนี้ไป สมมุติต่อไปการพูดคุยจบลง สามารถเลือกตั้งปกครองพิเศษได้ แต่ถ้าไม่มีคนพุทธอยู่ตรงนี้ มีแต่คนตานีอย่างเดียว มันก็ไม่เกิดความสมบูรณ์แบบของพื้นที่ ต้องอาศัยคนหลาย ๆ กลุ่มเข้ามา แล้วก็หลาย ๆ ศาสนาหลายมิติความเชื่อถือ เพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน จึงได้นำเสนอเรื่องของการยุติความรุนแรง”
ด้าน นายกัสตูรี มาห์โกตา ประธานกลุ่มพูโล กล่าวว่า ตนยินดีที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวพุทธ
“เราคุยกันเพราะเราคือคนปาตานี ต้องช่วยกันในการแก้ไขปัญหา ทางคณะได้มีข้อเสนอการแบ่งอำนาจในการอยู่ร่วมกัน มีความรุนแรงน้อยลงระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยใช้แบบจำลองเดือนรอมฎอนและแนวโน้มอาจต้องมาทำงานหรือขับเคลื่อนร่วมกัน และถ้ามีโอกาสเราจะพบกันอีก ผมอยากเห็นตัวเเทนองค์กรพุทธมาอยูบนโต๊ะเจรจาด้วย” นายกัสตูรี สมาชิกองค์กรมาราปาตานี ที่เคยเจรจากับฝ่ายไทยเมื่อปี 2558 กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันอังคารนี้
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า นับตั้งแต่การปะทุของการต่อสู้แบ่งแยกดินแดนครั้งใหม่ เมื่อเดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมาจนถึงเดือนมีนาคม 2565 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงกว่า 7,344 คน และบาดเจ็บ 13,641 คน มีทั้งผู้นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม
การเจรจาระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทย เริ่มการเจรจากับบีอาร์เอ็นเมื่อ พ.ศ. 2556 ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเจรจากับมาราปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรร่มที่รวมกลุ่มบีอาร์เอ็น, พูโล, GMIP และ BIPP ไว้ด้วยกัน
จากนั้น เมื่อสองปีก่อนฝ่ายบีอาร์เอ็นนำโดยอุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือนายฮีพนี มะเร๊ะ) หัวหน้าทีมเจรจาสันติสุขของบีอาร์เอ็น
ได้เรียกร้องขอเจรจากับรัฐบาลไทยโดยตรง และมาราปาตานีมีอันต้องหลุดจากโต๊ะเจรจาออกไป แต่ยังคงติดต่อฝ่ายไทยเพื่อขอคืนโต๊ะเจรจา
การเจรจาครั้งที่ 6 เลื่อน เพราะมาเลเซียมีเลือกตั้ง
บีอาร์เอ็น ได้เจรจากับฝ่ายไทยเป็นครั้งที่ 5 เมื่อเดือนสิงหาคม แต่ต้องเลื่อนการเจรจาครั้งที่ 6 ที่เดิมกำหนดไว้ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ เพราะมาเลเซียประกาศการเลือกตั้งในวันที่ 19 พฤศจิกายน ปีนี้
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข พร้อมด้วยกองเลขานุการคณะพูดคุย ได้เดินทางมายังปัตตานีเพื่อหารือกับ พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาค 4 ตัวแทนของ กอ.รมน.ภาค 4 เพื่อปรับนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ในปีงบประมาณใหม่
“เราเดินทางมานี้ก็เรียกว่าต้นปีงบประมาณ ก็มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในหลายตำแหน่งหน้าที่ในพื้นที่ หรือว่ามวลชนต่าง ๆ ก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เราก็มาประสานงานกับทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในเรื่องการทำงานของการพูดคุย ขณะเดียวกัน ก็ลงมารับฟังความเห็นของกลุ่มมวลชนต่าง ๆ ทั้งกลุ่มของ สล.3 ทั้งกลุ่มของจังหวัดยะลา ปัตตานี แล้วก็มาประสานงานกับทางฝ่ายเลขาของ สล.3 ในภาพรวม” พล.อ. วัลลภ กล่าวโดยระบุถึงคณะทำงานการพูดคุยในระดับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
สำหรับในประเด็นของสามสารัตถะในกระบวนการพูดคุยฯ ข้อเสนอโดยย่อนั้น ประกอบด้วย การลดและยุติความรุนแรง ควรปลดป้ายผู้ต้องหาทุกจุด ที่บริเวณด่านตรวจและบริเวณที่ทำการของรัฐ
สอง ไม่ควรปิดล้อมหรือตรวจค้นในพื้นที่ชุมชน เว้นแต่ฐานที่มั่นของฝ่ายตรงข้าม สาม ห้ามเจ้าหน้าที่ตรวจดีเอ็นเอ ในเด็กโดยเด็ดขาด (เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก) การตรวจดีเอ็นเอของผู้ต้องสงสัยและญาติผู้ต้องสงสัย ต้องมีผู้นำชุมชนร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง
พล.อ. วัลลภ กล่าวอีกว่า ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ขอเลื่อนการเจรจาไปก่อน เพราะมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย มีการเลือกตั้ง
“เราก็คิดว่าเราจะพูดคุยให้เร็วที่สุด ก็เป็นการพูดคุยต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 5 ที่เราได้เสนอในเรื่องของการลดความรุนแรงไปว่าคงจะนำมาหารือกันอีกครั้งหนึ่ง และอาจจะมีข้อหารืออื่น ๆ เพิ่มเติม เช่นในเรื่องของการปรึกษาหารือในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นต้น” พล.อ. วัลลภ กล่าว