แกนนำพูโลลั่นไม่เจรจา ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย
2022.04.18
ปัตตานี และกัวลาลัมเปอร์

ประธานขบวนการแบ่งแยกดินแดนพูโล กล่าวในวันจันทร์นี้ว่า ทางขบวนการจะไม่ร่วมเจรจากับผู้แทนรัฐบาลไทย หากว่ายังดำเนินการเจรจาสันติสุขตามกรอบรัฐธรรมนูญไทย เพราะฝ่ายขบวนการต้องการ “อิสระจากประเทศไทย”
หลังจากไม่กี่วันที่ผ่านมา นายกัสตูรี มาห์โกตา ประธานองค์การปลดปล่อยสหปาตานี หรือ ขบวนการพูโล ได้กล่าวว่า พูโลเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดสองลูกในพื้นที่บ้านละหาร ต.แป้น อ.สายบุรี จังหวัดปัตตานี ชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย และยังทำให้ทีมตำรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดได้รับบาดเจ็บ 3 นาย เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว เพื่อกดดันให้รัฐบาลเปิดเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างอื่น ๆ นอกเหนือขบวนการบีอาร์เอ็น
อย่างไรก็ตาม นายกัสตูรี กล่าวว่า ทางพูโลยังยินดีที่จะพูดคุย หากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข
"ขอยืนยันว่าพูโลไม่ร่วมพูดคุยหรือเจรจาภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย ก็เพราะพูโลต้องการอิสระจากประเทศไทย... พูโลพร้อมคุย เเต่ไม่ใช่ใต้รัฐธรรมนูญไทย" นายกัสตูรี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันนี้
“ในส่วนของหลังจากนี้ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีการก่อเหตุอีกไหม เพราะเรื่อง strategy จะบอกไม่ได้” นายกัสตูรี กล่าว
นายกัสตูรี ได้นำกลุ่ม PULO-MKP ร่วมมือกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้อื่น ๆ เช่น บีอาร์เอ็น จีเอ็มไอพี และ บีไอพีพี เพื่อจัดตั้งองค์กรร่มมาราปาตานี เพื่อเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทย โดยเปิดตัวเป็นทางการตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2558 ในการพบปะแบบตัวต่อตัวของทั้งสองฝ่ายในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ก่อนที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ยึดการเจรจาไว้เป็นของตนโดยตรงกับฝ่ายไทย ในต้นปี พ.ศ. 2563
ในคืนวันจันทร์ เบนาร์นิวส์ ได้ขอความเห็นจากแหล่งข่าวของบีอาร์เอ็น เกี่ยวกับคำยืนยันของกัสตูรี ที่ว่าพูโลจะไม่เจรจากับประเทศไทยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของไทย
“สำหรับขบวนการปาตานีอื่น ๆ ที่ต้องการเจรจากับไทย เขาสามารถนำเสนอข้อกำหนดและเงื่อนไขให้กับประเทศไทยเองได้” แหล่งข่าวไม่เปิดเผยนาม เพราะไม่ได้รับอนุญาต บอกกับเบนาร์นิวส์ผ่านการส่งข้อความ
“บีอาร์เอ็นไม่เคยห้ามขบวนการปาตานีอื่น ๆ ในการเจรจากับไทย”
และเมื่อถูกถามว่า เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ อาจทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างบีอาร์เอ็นและขบวนการอื่น ๆ หรือไม่ เขาตอบว่า “ในระหว่างการเจรจามาราปาตานีกับไทยในปี 2558 ได้ดำเนินการตามฉันทามติทั่วไป พ.ศ. 2556 ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของไทยด้วย
"ถ้าจำไม่ผิด กัสตูรี แกนนำพูโล ก็อยู่ที่นั่นร่วมกับ มาราปาตานี ด้วย”
ตลอดเวลาที่ผ่านมา พูโลได้มีการแตกแยกเป็นกลุ่ยย่อย เช่น PULO-MKP, PULO-DSPP และ PULO-P4 เป็นต้น จนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายกัสตูรี ได้ระบุว่า ทางขบวนการมีกองกำลังที่เรียกว่า G5 ที่เป็นปีกทหารของขบวนการเป็นผู้ปฏิบัติการวางระเบิด
"G5 เป็นปีกทางทหารขององค์กรพูโลซึ่งมีหลายปีก ในส่วนของพูโล-เอ็มพีเค กับพูโล-ดีเอสพีพีนั้น รวมกันเป็นหนึ่งมาหลายปีแล้ว” นายกัสตูรี กล่าว
แหล่งข่าวในขบวนการในพื้นที่ กล่าวว่า กองกำลังพูโลทั้ง 5 ปีก มีไม่ต่ำกว่า 2,000 คน โดยได้รับการฝึกในการโจมตีด้วยจรวดมาเป็นอย่างดี ขณะที่ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยรายหนึ่งเชื่อว่า พูโลมีกองกำลังเพียงไม่กี่สิบคน
ไทยเปิดกว้าง จะพูดคุยแบบไม่เป็นทางการกับทุกกลุ่ม
ด้าน พล.ท. ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะเลขานุการคณะประสานงานระดับพื้นที่ ในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า คณะพูดคุยมีนโยบายต่อเนื่องกันมาในการเปิดกว้างในการเจรจาอยู่แล้ว
“เน้นว่าจะพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ กับตามความสมัครใจกับทุกกลุ่ม ทุกสถานที่ และทุกเรื่อง... มีคำถามว่าทีมพูโลพร้อมสมัครใจจะมาคุยหรือยัง ถ้ายังไม่พร้อมก็ต้องใช้มาตรการควบคุมไม่ให้ก่อเหตุ ซึ่งก็เน้นไปแล้วอำนาจรัฐต้องเข้มแข็ง เป็นธรรม ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน บนความมีส่วนร่วมของทุกคน” พล.ท. ธิรา กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ขณะที่ พล.ท. เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า จะมีการอาจพิจารณาคุยกับพูโลในอนาคตด้วยไม่นั้น เป็นเรื่องของคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่โดยภาพรวมพร้อมคุยกับทุกกลุ่ม
ฝ่าย ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า ฝ่ายรัฐบาลควรจะรับฟังสิ่งที่พูโลพูด แต่ไม่ควรที่จะด่วนสรุปหรือตัดสินใจใด ๆ
“ในเมื่อเขาอยากคุยก็ควรให้โอกาสเขาคุย ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่าย” ผศ.ดร. ศรีสมภพ กล่าว
ส่วนชาวบ้านในปัตตานีรายหนึ่งกล่าวว่า การที่พูโลกล่าวพาดพิงถึงบีอาร์เอ็น เป็นการย้ำรอยร้าวของสององค์กร
“วันนี้ เหมือนกองกำลังของชาวบ้าน สร้างกองกำลังมาตีกันเองเลย ไม่ดีเลยแบบนี้ มันเห็นชัดว่า กองกำลังในพื้นที่มันแตกมานานแล้ว เรื่องนี้ถ้ารัฐเองอยากจะทำให้มันสงบจริงก็ควรจะคุยกับพูโลด้วย ไม่ใช่เอาแต่คุยกับบีอาร์เอ็นฝ่ายเดียว” นายฮิสบูลเลาะ มูซอ กล่าวกับเบนาร์นิวส์